ads head

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ครบสิบปีวิกฤติฟองสบู่ มาเรียนรู้จากแนวทางเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ 1)

ครบสิบปีวิกฤติฟองสบู่ มาเรียนรู้จากแนวทางเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ 1)


      หมายเหตุผู้เขียน: ข้อเขียนที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมได้เรียบเรียงขึ้นเมื่อราวกลางปี 2542 คือราว 2 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ ด้วยวัตถุประสงค์หลักในการใช้เป็นต้นฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทางเศรษฐกิจ ต่อผู้อ่านชาวต่างประเทศ โดยมีสมมุติฐานว่าผู้อ่านไม่มีพื้นความรู้มากนัก เกี่ยวกับภูมิหลังทางสังคมและเศรษฐกิจของไทย 

      ต้นฉบับภาษาไทยตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “พระเจ้าแผ่นดิน” ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ ‘The Thai Monarchy” ทั้ง 2 เล่มจัดพิมพ์โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ในคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 และหลังจากนั้น ฉบับภาษาไทยได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในหนังสือ "คือความภูมิใจ" ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความทางวิชาการ เนื่องในโอกาสการเกษียณอายุราชการของ ศ.ดร ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

      เนื่องจากวันนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปี วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ ผมจึงเกิดความคิดที่จะนำข้อเขียนนี้มาเผยแพร่อีกครั้งตามต้นฉบับเดิม ด้วยความคาดหวังว่าท่านผู้อ่านแต่ละท่านจะได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ จากการเรียนรู้และใคร่ควรญถึงแนวพระราชดำริ และพระราชวิริยะอุตสาหะในด้านเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่เราได้ประจักษ์มาตลอดรัชสมัย

      เพื่อให้เหมาะสมกับความยาวของ เนื้อหา ผมจึงจะขอนำบทความนี้มาทยอยเผยแพร่ต่อกันเป็นรายวันทีละตอนๆ และเมื่อจบบทความทั้งหมดแล้ว ก็จะนำเชิงอรรถและบรรณานุกรมมาเผยแพร่ต่อท้ายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ใน การเรียบเรียงข้อเขียนเล็กๆ ชิ้นนี้ ผมขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับ ศ.ดร ฉัตรทิพย์ นาถสุภา แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้ข้อคิดและคำแนะนำในการวิเคราะห์และเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบต่อเนื้อหาและการตีความข้อมูลที่ใช้ในบทความทั้งหมดเป็นของผม แต่เพียงผู้เดียว

-------------------------------------------------------------------------
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเศรษฐกิจไทย (ตอนที่ 1)

      ในช่วงราว 5 ปีสุดท้ายของคริสตศตวรรษที่ 20  มีเหตุการณ์ที่ส่งผลคุกคามความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง นับตั้งแต่การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้น ทำให้การส่งออกอันเป็นรายได้หลักของไทยเริ่มชะลอตัวขณะที่การนำเข้ายังอยู่ ในปริมาณสูง ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งประสบปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจนขาด ความน่าเชื่อถือ จนรัฐบาลต้องสั่งพักการดำเนินงานของบริษัทเงินทุน 58 แห่ง ซึ่งมียอดรวมของธุรกิจไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท

      ตั้งแต่ต้นปี 2540 เป็นต้นมา เจ้าหนี้ต่างประเทศเริ่มขาดความเชื่อถือความสามารถในการชำระหนี้เงินกู้ของ ภาคธุรกิจเอกชนไทยและไม่ต้องการต่อสัญญาเงินกู้ที่ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะ สั้น  มีการเก็งกำไรโจมตีค่าเงินบาทซึ่งขณะนั้นผูกติดกับดอลลาร์ ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องใช้เงินทุนสำรอง 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐไปทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อปกป้องค่า เงินบาทให้คงที่ซึ่งส่งผลให้เงินทุนสำรองของประเทศร่อยหรอ และฐานะทางการเงินของประเทศอ่อนแอลง

      ในที่สุด เมื่อถึงต้นเดือนกรกฎาคม รัฐบาลต้องประกาศให้เงินบาทลอยตัว ทำให้ค่าเงินบาทลดลงร้อยละ 30-40 และรัฐบาลต้องขอกู้เงินฉุกเฉินอย่างมีเงื่อนไขจากกองทุนการเงินระหว่าง ประเทศ ( IMF ) ในเดือนสิงหาคม พร้อมกับดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามแนวทางที่เข้มงวดของ IMF


      ภาวะทั้งหมดดังกล่าว ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างรุนแรง ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น การลงทุนชะงักงัน ภาคธุรกิจหลายแขนงประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ต้นทุนสูง รายได้ตก จนต้องปิดกิจการหรือลดขนาด มีการลดเงินเดือนหรือสวัสดิการ ไปจนถึงเลิกจ้างพนักงาน โดยเมื่อถึงเดือนมีนาคม 2542 มีคนตกงานไปแล้วกว่า 2 ล้านคน

      นอกจากการต้องรับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะการ ดำรงชีพแล้ว ประชาชนชาวไทยแทบทั้งประเทศยังรู้สึกสับสนและตื่นตระหนกต่อสภาวการณ์เช่นนี้ เพราะหากมองย้อนกลับไปพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในช่วงราว 1 ทศวรรษก่อนวิกฤติการณ์ ประเทศไทยยังได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูง อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจนเป็นที่คาดหมายกันว่ากำลังจะก้าวสู่ความเป็น ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญอีกแห่งในภูมิภาค แต่นอกเหนือไปจากความงุนงงต่อสิ่งเกิดขึ้นแล้ว ความรู้สึกอีกด้านที่อาจจะคุกคามจิตใจของประชาชนไทยในวิกฤติเศรษฐกิจได้มาก ยิ่งกว่าก็คือ ความรู้สึกอับจนหนทาง ความรู้สึกสิ้นหวังและไม่แน่ใจในหนทางที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต

      ท่ามกลางกระแสคลื่นของความท้อแท้และระส่ำระสายที่กำลังขยายวงกว้างออกไปทุกขณะ นี้เอง ชาวไทยทั้งมวลก็ได้รับทั้งแง่คิด ข้อเตือนใจและคำอธิบายถึงมูลเหตุกับหนทางแก้ไขสำหรับภาวะวิกฤตินี้อย่างเป็น รูปธรรม ชัดเจน และครบถ้วนบริบูรณ์  แง่คิดดังกล่าวนี้ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเสมือนแสงสว่างนำทางให้แก่ประชาชาติไทยท่ามกลางหนทางอัน มืดมิด เป็นต้นร่างของแนวปฏิบัติเพื่อเผชิญและก้าวข้ามวิกฤติการณ์อย่างองอาจและมี ความหวัง เป็นเข็มทิศชี้ทางให้แก่ทั้งภาครัฐ หน่วยราชการ และประชาชนคนทุกฐานะทุกภูมิภาคได้อย่างปราศจากผู้ตั้งข้อสงสัยนั่นคือแง่คิดและแนวทางเพื่อเอาชนะวิกฤติเศรษฐกิจ จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 

      ใจความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจในพระราช ดำรัสดังกล่าว คือให้เน้นการผลิตและส่งออกสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบและแรงงานในประเทศ ให้มีการลงทุนในขนาดและระดับเทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้มีการให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพผลผลิตโดยมีการวิจัยรวมทั้งให้การ สนับสนุนแก่เกษตรกร และประชาชนในประเทศ   ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำมาหากิน,การค้า, และการบริโภค  ให้มีส่วนหนึ่งเป็น “แบบพอเพียง” คือให้ “พอมีพอกิน...อุ้มชูตัวเองได้”


      สำหรับ ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงความเป็นไปในสังคมไทยมากนัก ก็อาจเป็นการง่ายที่จะมองว่า สังคมไทยแสดงอาการยอมรับแง่คิดดังกล่าวนี้อย่างกว้างขวาง ก็เพราะบุคคลอันเป็นเจ้าของแง่คิดนี้เป็นผู้ที่มีสถานะสำคัญอย่างยิ่ง คือเป็นองค์พระประมุขของชาติ การมองในแง่นี้อาจจะมีมูลความจริงอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เป็นความจริงยิ่งกว่านั้น ซึ่งประชาชนไทยและผู้ที่ได้รับรู้ถึงสภาวการณ์ของประเทศไทย ตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาต่างทราบเป็นอย่างดีก็คือ แง่คิดและแนวทางต่างๆในพระราชดำรัส ไม่ได้เป็นเพียงความคิดเห็นเพื่อเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติอย่างเฉพาะหน้า หรือเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน แต่เป็นผลสรุปรวมจากการค้นคว้าและทดลองในทางเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ที่ทรงดำเนินการผ่านพระราชกรณียกิจต่างๆ และประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์แจ้ง ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีในรัชสมัยของพระองค์

      การที่จะเข้าใจเรื่องราวดังที่กล่าวนี้ได้นั้น จำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาสภาพสังคมและเศรษฐกิจไทย กับแนวพระราชดำริและพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ตั้งแต่ต้นรัชกาล คือในปีพุทธศักราช 2489 เป็นต้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น