ads head

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นักลงทุนมืออาชีพ กลยุทธในการสร้างความมั่งคั่งของคนยุค GENY

ที่มาhttp://chulakorn.blogspot.com/2012/06/geny.html
มนุษย์ในแต่ละยุคสมัย ย่อมมีวิธีการแสวงหาความมั่งคั่งและเสพสุขกับชีวิตไม่เหมือนกัน
ศตวรรษที่ 21 มนุษย์หลุดพ้นจากขีดจำกัดของการสื่อสารและคมนาคมที่เป็นเครื่องจำกัดการแสวง หาความก้าวหน้าในยุคบรรพบุรุษ ที่เคยทำให้อาชีพข้าราชการและนักการเมืองเป็นที่นิยมยกย่องกัน หากทว่าโลกใบนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวโน้มใหม่ในการสร้างสรรค์ธุรกิจด้วย ตนเอง ทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงและในภาคการลงทุน

แม้บางครั้งอาจจะมีความเสี่ยงและได้รับผลตอบแทนไม่เท่ากับเป็นผู้บริหารใน บริษัทขนาดใหญ่ก็ตาม หากสิ่งที่ได้รับคือ อิสรภาพและความภาคภูมิใจ

คนรุ่นใหม่ในยุค GenY ระหว่างอายุ 20-35 ปี กำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจและเป็นนายตัวเองกันอย่างถ้วนหน้า และเครื่องมือหนึ่งในการแสวงหาความมั่งคั่งก็คือ การลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนทางการเงินให้มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ

มนุษย์ในยุค GenY จึงมีแนวโน้มที่จะเป็น “นักลงทุนอาชีพ” โดยศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจส่วนตัว โดยหากสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นเหนือตลาดได้ ก็อาจพัฒนาเป็นธุรกิจการเงินขึ้นมาอีกด้วย

1. ลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะตลาด ทั้งสั้น กลาง ยาว ไม่เน้นการซื้อขายรายวัน

การเสพติดความเร็ว เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของคนยุค GenY ในด้านดีก็คือ การทำงานเกิดประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวตามความผันผวนของโลกได้อย่างทันท่วงที หากทว่าในทางร้ายก็คือ เวลาและความละเมียดในการไตร่ตรองครุ่นคิดสร้างสรรค์สูญหายไป

การลงทุนที่อยู่ในยุคออนไลน์ ก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องเคลื่อนไหวไปอย่างฉับไวช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกและมีอิทธิพลต่อราคาซื้อขายหลักทรัพย์ใน ประเทศไทย ไม่ได้มียุทธศาสตร์การลงทุนแบบซื้อขายรายวัน หากทว่ามีการกำหนดช่วงเวลาซื้อขายที่ยาวนานพอสมควร อย่างน้อยก็เป็นรายเดือน

มื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเข้ามากระทบ ก็อาจมีการซื้อหรือขายเป็นรายวันที่ผันผวนมาก หากทว่า ปัจจัยพื้นฐานของประเทศย่อมไม่เคยเปลี่ยนไปเพราะเหตุอุบัติเฉพาะหน้า ส่วนใหญ่แล้วความรุ่งเรืองเสื่อมโทรมของประเทศ ย่อมมีสัญญาณบอกเหตุล่วงหน้าก่อนหลายสิบปี ทะยอยสะสมกันจนกระทั่งกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป หรือแม้กระทั่งวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ก็ได้มีสัญญาณบอกเหตุหลายก่อนหน้ามาหลายปี ไม่ใช่พึ่งมาเกิดเพียงเพราะมีข่าวร้ายขึ้นมาฉับพลัน ที่สำคัญข่าวร้ายรุนแรง ก็เป็นผลสะสมของข่าวร้ายก่อนหน้านี้เท่านั้น

นักลงทุนที่ดี จึงมักเลือกลงทุนในประเทศที่กำลังจะมีแนวโน้มที่สดใส แม้ว่าในระยะสั้นจะมีปัญหาอุปสรรคบ้าง แต่ก็ไม่มีอะไรฉุดรั้งได้ ขณะที่ประเทศซึ่งกำลังเป็นขาลงหรือยังใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะเป็นขาขึ้น ก็ย่อมไม่อาจพุ่งทะยานขึ้นมาได้ เพียงเพราะมีข่าวดีมากระทบติดต่อกัน

ตัวอย่างเช่น

ตลาดหุ้นไทยที่ระดับประมาณ 1200 จุด เริ่มมีนักวิเคราะห์ออกมาเชียร์ซื้อกันมากมาย นักลงทุน GenY ที่เคยหวาดกลัวว่าราคาหุ้นจะสูงเกินพื้นฐานก็เริ่มหวั่นไหวคล้อยตาม ยิ่งเห็นราคายกตัวสูงขึ้นตลอด ก็ย่อมรู้สึกปวดร้าวว่าตนเองหวาดระแวงเกินไป จึงทำให้พลาดกำไรไปหลายครั้ง

นักลงทุน GenY จึงเริ่มคิดอยากจะเสี่ยงเข้าไปซื้อขายบ้าง เพราะเชื่อว่าหากนักลงทุนฝรั่งขายออกมา ตนเองก็จะสามารถชิงขายก่อนได้เร็วกว่า ดังนั้น ถึงแม้จะขาดทุนก็คงไม่มากนัก ดีกว่าจะปล่อยให้โอกาสในการทำกำไรหลายรอบก่อนที่ตลาดจะปรับตัวลงต้องหลุดลอย ไป

สิ่งที่นักลงทุน GenY ลืมตัวไปก็คือ นักลงทุนฝรั่งเล่นหุ้นระยะยาว ดังนั้น ราคาต้นทุนของฝรั่งที่ไล่ซื้อขึ้นมาจึงอาจอยู่ที่ประมาณ 1100 จุด ดังนั้นที่ระดับราคานี้ นักลงทุนฝรั่งจะขายเมื่อใดก็ได้ ขายติดต่อกันหลายวันก็ตามแต่ใจของเธอ

การเทขายของรายใหญ่อาจทำให้ราคาตกลงมา เพราะรายย่อยหนีหายได้เร็วกว่า แต่เนื่องจากนักลงทุนฝรั่งได้โยกหุ้นขึ้นลงเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร แล้ว นักลงทุนรายย่อยจึงเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะตัวเองได้เสียโอกาสทำกำไรไปหลายครั้ง จากการที่หุ้นลงมาแล้วไม่กล้าซื้อ

นักลงทุนที่พลาดโอกาสกำไรเหล่านี้ จะเป็นลูกค้าชั้นดีให้ฝรั่งหลอกขายได้ โดยกว่าจะทันรู้ตัว ฝรั่งรายใหญ่ก็ออกจากตลาดไปเรียบร้อยแล้ว

นักลงทุน GenY ที่ยังไม่หยุดซื้อขาย เพราะห่วงกำไรเฉพาะหน้า โดยไม่เข้าใจว่าฝรั่งสามารถจะขายได้ทุกเมื่อ และขายต่อเนื่องกันยาวนาน ก็อาจจะติดหล่มทางจิตวิทยา เมื่อขาดทุนเล็กน้อยก็ไม่อาจตัดใจขายเพราะกลัวจะขึ้นต่อ สุดท้ายเมื่อราคาไหลรูดต่อเนื่อง ก็จะหวาดกลัวและขายไปที่ราคาขาดทุนมหาศาลได้อย่างน่าเสียดายเป็นที่สุด

การลงทุนแบบระยะสั้นของ GenY เป็นสิ่งที่กระทำได้ หากทว่าก็จะต้องมีการกำหนดเป็นช่วงเวลา (Time Period) อย่างต่ำที่สุดก็ 2-3 วัน เพื่อให้เกิดการไตร่ตรองใคร่ครวญถึงแนวโน้มการขึ้นลง ไม่ใช่เป็นการซื้อขายรายวันและหวั่นไหวไปตามกระแสข่าวร้ายดี

ปัญหาสำคัญคือ นักลงทุนย่อมไม่รู้ว่าจุดไหนจะเป็นช่วงเปลี่ยนจากขาขึ้นเป็นขาลง ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นขาขึ้น นักลงทุนจึงไม่ควรที่จะขายหุ้นทั้งหมดทิ้งและเล่นระยะสั้นอย่างเดียว หากควรจะเก็บหุ้นที่มีต้นทุนต่ำไว้เล่นในระยะกลางและระยะยาวด้วย

เมื่อหุ้นเริ่มสูงขึ้น จนกระทั่งเกินขอบเขตที่อยากจะซื้อแล้ว ก็อาจจะแบ่งหุ้นระยะกลางมาขายทิ้งไปบ้าง โดยเมื่อหุ้นลงมาน้อยกว่าระดับราคาที่ขายไปไม่ต่ำกว่า 10 % ก็อาจจะซื้อกลับมา เพื่อไปขายเล่นระยะสั้นในรอบต่อไปที่ระดับราคาสูงขึ้น

หากราคาขึ้นไปต่อเนื่องและยังรับหุ้นระยะกลางกลับคืนมาไม่ได้ ก็อาจนำหุ้นระยะยาวออกมาขายทิ้ง แล้วจึงใช้สูตรเดิมมารับกลับที่ 20% เพื่อจะเก็บไว้เล่นระยะสั้น ในช่วงสุดท้ายก่อนที่จะปรับเป็นขาลง

เมื่อกระทำแบบนี้ได้ นักลงทุนก็จะมีหุ้นที่ต้นทุนต่ำกว่าตลาดไว้เล่นระยะสั้น จึงทำให้เมื่อตลาดปรับตัวเป็นขาลงแล้ว นักลงทุนก็จะสามารถตัดใจขายทิ้งได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องติดหล่มจิตวิทยาของความเจ็บปวดจากการขาดทุนจนกระทั่งไม่กล้า Cut loss เพราะต้นทุนสูงกว่าคนอื่น

เคล็ดลับก็คือ การเว้นช่วงซื้อคืนไว้ที่ 10-20% ที่นอกจากทำให้นักลงทุนได้กำไรเป็นกอบเป็นกำมากขึ้นกว่าการรับคืนแค่ 5 % ยังทำให้นักลงทุนไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของข่าวดีร้ายรายวัน ที่ทำให้ไม่เห็นภาพรวมของการลงทุน

การเว้นช่วงราคาที่ยาวนาน แม้ว่าจะทำให้เสียรอบลงทุนไปบ้าง แต่ก็ช่วยเพิ่มเวลาไตร่ตรองให้มากขึ้น แถมยังได้กำไรจากส่วนต่างราคาที่มากกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยชดเชยรอบลงทุนที่เสียไป

10 % = 2% ของการลงทุน 5 รอบ

ใครที่ไม่เหลือหุ้นต้นทุนต่ำที่เก็บไว้ลงทุนแบบระยะกลางและยาวเลย ก็ไม่ควรที่จะเข้ามาซื้อที่ 1200 จุด เพื่อเล่นระยะสั้นแล้ว เพราะมีคนต้นทุนต่ำกว่าอยู่จำนวนมากที่สามารถขายได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวลขาด ทุน

หากว่า ทนรอไม่ไว้แล้ว ก็อาจนำเงินไปลงทุนฝากประจำ 3 เดือน เพื่อกินดอกเบี้ยเล็กน้อยก่อน แล้วค่อยรอเมื่อหุ้นเปลี่ยนเป็นขาลง

ถ้าเกิดว่าหุ้นยังคงทะยานต่อไป ก็อาจเปลี่ยนกลยุทธ์มาลงทุนในหุ้นเติบโตแล้วถือยาวไปเลยก็ได้ แม้ว่าในช่วงสั้นจะไม่ร้อนแรงเหมือนหุ้นใหญ่ แต่ก็มีผลตอบแทนในระยะยาวที่มหาศาลมากกว่าให้ชื่นใจ

2. แบ่งเงินลงทุน 50% เพื่อซื้อหุ้นที่จะขึ้นไป 10 เท่า ภายในเวลา 5 ปี

การลงทุนไปตามกระแสตลาด ข้อดีคือ กำไรได้ทันที เล่นได้หลายรอบ ขาดทุนก็หนีทัน หากทว่าก็ไม่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ในแต่ละรอบ ซ้ำยังมีช่วงเวลาตลาดขาลงที่ไม่เป็นใจ จึงทำให้ผลตอบแทนการลงทุนต้องสะดุดหยุดลงเป็นระยะ

ดังนั้น นักลงทุน GenY จึงต้องมีการแบ่งเงิน 50 % เพื่อใช้ลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth Stock) ที่มีแนวโน้มจะขึ้นไปหลายเท่า ในอีกหลายปีข้างหน้า

การลงทุนแบบผสมผสาน 50 : 50 จึงน่าจะดีกว่าการเล่นเพียงแบบเดียว เพราะหากให้นักลงทุนต้องถือหุ้นเติบโตหลายปี คนยุค GenY ที่ชอบความรวดเร็ว ก็จะเหงาหัวใจ ทนไม่ได้ สุดท้าย สุขภาพจิตเสียก็จะต้องขายหุ้นเติบโตทิ้งไป และนำเงินมาเล่นหุ้นตัวใหญ่ (Blue Chip) ทำให้พลาดโอกาสได้กำไรหลายเท่าไปอย่างน่าเสียดาย

หากทว่า การแบ่งเงิน 50 % เป็นเพียงกลยุทธ์ระยะยาวเท่านั้น ในช่วงสั้นเมื่อตลาดหุ้นใหญ่กำลังขึ้น ก็อาจนำเงิน 100% เข้าไปลงทุนเพื่อเก็บกำไรก่อน รอจนกระทั่งเข้าสู่ขาลงแล้ว จึงค่อยทะยอยซื้อหุ้นเติบโต 100% ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้นักลงทุน GenY เผลอใจนำเงินไปเล่นในหุ้นใหญ่ช่วงขาลง ที่อาจทำให้ขาดทุนได้

เมื่อหุ้นกำลังทะยานขึ้นอีกรอบ จากขาลงที่ยาวนาน ก็อาจขายหุ้นเติบโตไป 50% และนำเงินไปซื้อหุ้นใหญ่ที่กำลังทะยาน โดยหากว่าหุ้นเติบโตขึ้นไปด้วย ก็ไม่ต้องไปเสียดาย เพราะหุ้นเติบโตก่อนที่จะขึ้นไปหลายเท่า จะมีการขึ้นลงแบบน่าอึดอัดหลายครั้ง ดังนั้น หากเรามัวแต่เฝ้ารอ ก็จะเซ็งจิต จึงควรนำเงิน 50% ไปทำกำไรก่อน แต่ก็ไม่ควรนำไปทั้งหมด เพราะเราไม่รู้ว่าหุ้นเติบโตจะขึ้นยาวเมื่อไร ซึ่งถ้าราคาขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว เราจะไม่กล้าซื้อตามเข้าไป เพราะกลัวว่าจะขึ้นหลอก สุดท้ายก็จะพลาดโอกาสกำไรครั้งใหญ่ไป

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ หุ้นเติบโตจะขึ้นแบบหลายเท่า หลังจากอั้นมานาน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากตลาดขาลงครั้งใหญ่ที่ยาวนาน เพราะเป็นโอกาสให้นักลงทุนรายใหญ่เก็บหุ้นเติบโตได้มากเพียงพอที่จะลากราคา ขึ้นไปหลายเท่า

ดังนั้น หากตลาดยังไม่เป็นขาลงแบบเลวร้าย ก็ยังวางใจนำเงิน 100% ไปลงในหุ้นตัวใหญ่ได้ก่อน หากทว่า เพื่อความไม่ประมาทบางคนจะแบ่งเงิน 50% แช่นิ่งถือหุ้นเติบโตไว้เลยกันผิดพลาดก็ไม่ว่ากัน เพราะอย่างน้อยก็มีอีก 50% ไว้เก็บเกี่ยวผลกำไรได้อย่างเพลิดเพลิน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth Stock) ยังไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะหุ้นที่มีภาพลักษณ์ดูดี ทำท่าว่าจะมีการขยายธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ มักจะสร้างความผิดหวังให้นักลงทุนอยู่เสมอ

หลักในการเลือกหุ้นเติบโต จึงต้องมองให้ลึกซึ้งกว่าคำพูดที่สวยงาม หากยังควรเจาะลึกไปถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงกว่า ในราคาถูกกว่าที่คิด ซึ่งแสดงถึงวินัยในการควบคุมต้นทุนและวัฒนธรรมองค์กรที่ล้ำเลิศของบริษัท

หุ้นเติบโตที่ยิ่งใหญ่ จะไม่รีบร้อนเผยแพร่นวัตกรรมเข้าสู่ตลาด หากจะมีช่วงเวลา “ทดลอง” เพื่อให้แน่ใจในคุณภาพ ประสิทธิภาพ และถูกอกถูกใจลูกค้า เมื่อทุกอย่างได้ถูกปรับปรุงให้เข้าที่เข้าทางแล้ว จึงถึงเวลาก้าวกระโดด ซึ่งนั่นคือ ห้วงยามที่นักลงทุนซึ่งอดทนจะได้เห็นผลตอบแทนมหาศาลสมกับที่ตั้งตารอ

3. เลือกการลงทุนที่เรามีความสุข เชื่อใจได้ และไม่ทำให้เจ็บปวดใจ

จุดอ่อนของวิชาจิตวิทยาการลงทุน (behavioral finance) ก็คือ วิเคราะห์ว่ามนุษย์ไม่มีเหตุผลในการลงทุนอย่างไรบ้าง โดยบอกให้มนุษย์แก้ไขด้วยการเป็นคนมีเหตุผล หรือมีสติตื่นตัวเพื่อมองเห็นเหตุผลให้ได้ท่ามกลางความไร้เหตุผล

หากทว่า วิวัฒนาการที่ยาวนานได้ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลใด ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาความไร้เหตุผลที่ดีกว่า คือ การเลือกลงทุนในหุ้นที่ไม่ทำให้นักลงทุนเจ็บปวด ในช่วงจังหวะตลาดที่นักลงทุนมีโอกาสได้มากกว่าเสีย

สำหรับนักลงทุน GenY ที่ชอบซื้อหุ้นเติบโต จึงไม่ควรเลือกหุ้นที่มีขนาดเล็กเกินไป เพราะหุ้นเหล่านี้ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ตัวเองมามากพอ แน่นอนว่า การซื้อหุ้นเหล่านี้อาจทำให้กำไรมากกว่าเพราะซื้อตั้งแต่ยังเล็ก แต่ก็มีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ หุ้นที่เล็กกว่า ไม่เป็นที่รู้จัก ก็จะกระตุ้นจิตวิทยาความกลัวในหัวใจของนักลงทุน จนกระทั่งต้องขายทิ้ง

ถ้าหุ้นตัวนี้ไม่ผ่านการทดสอบของช่วงเวลาเลวร้าย เราอาจจะรู้สึกดีใจว่าได้ขายทิ้งไปก่อน แต่ภาวะขาดทุนก็ย่อมทำให้เจ็บปวดใจอยู่ดี ซึ่งสุดท้ายอาจส่งผลย้อนกลับทำให้เลิกที่จะเล่นหุ้นเติบโตไปเลย ทำให้เสียโอกาสดีในชิวิตกับหุ้นเติบโตตัวที่ใช่อีกหลายตัวที่จะผ่านเข้ามา

ถ้าหุ้นตัวนี้ผ่านการทดสอบและขึ้นไปหลายเท่า เราก็จะยิ่งเจ็บใจที่ไม่อดทนถือไว้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและความเจ็บปวด ดังนั้น ทางแก้ทีดีกว่า คือ การเลือกหุ้นเติบโตขนาดกลาง ที่ผ่านการพิสูจน์ตัวเองมาระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจและถือต่อไปได้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายเพื่อไปสู่แสง สว่างเรืองรอง

ในส่วนของนักลงทุน GenY ที่ชอบซื้อหุ้นใหญ่ตามการเคลื่อนไหวของตลาด ก็ควรจะเล่นหุ้นในช่วงขาขึ้นมากกว่าขาลง เพราะแม้จะไม่ได้ซื้อหุ้นตั้งแต่ที่ราคาเกือบต่ำสุด และมาขายที่ราคาเกือบสูงสุด แต่ก็จะทำให้มีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากกว่า ไม่ต้องเข็ดขยาดกับการขาดทุนยาวนานก่อนจะกำไร เพราะบางทีอาจทนไม่ไหวและเลิกเล่นไปก่อน จึงทำให้พลาดโอกาสการทำกำไรในช่วงขาขึ้น

จุดที่นักลงทุน GenY จะต้องระวังก็คือ เมื่อใดช่วงขาขึ้นจะเปลี่ยนเป็นช่วงขาลง (Turning Point) เพราะการที่นักลงทุนเพลิดเพลินกับกำไรในช่วงขาขึ้น โดยคิดว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นขาลงแล้วจะสามารถ Cut Loss ได้ทันท่วงที นักลงทุนก็จะผิดพลาดเพราะลืมคิดไปว่ามนุษย์หลีกเลี่ยงความเจ็บปวด ดังนั้น ในช่วงที่ขาดทุนเล็กน้อย เราจะทนไม่ได้ที่ต้อง Cut Loss ต้องรั้งรอจนกระทั่งบานปลายกลายเป็นขาดทุนมาก เมื่อตลาดถล่มลงมาและผู้คนส่วนใหญ่พากันแห่ขายทิ้ง

วิธีแก้คือ เมื่อหุ้นขึ้นมาสูงแล้ว ก็อาจต้องหยุดพัก แม้ว่าจะมีแนวโน้มขึ้นไปต่อ แต่ก็ไม่ควรเข้าไปเสี่ยง เพื่อจะได้ไม่ต้องเจ็บปวด ไม่ต้องไปติดกับดักของการ Cut Loss โดยการตัดวงจรที่ต้อง Cut Loss ทิ้งไปเลย

แน่นอนว่า การไม่เข้าไปเล่นในบางช่วงเวลา อาจทำให้ได้กำไรน้อยกว่าการเข้าไปเล่นและมีกลไก Cut Loss สนับสนุน หากทว่า การยอมตัดใจจากกำไรในช่วงที่ไม่แน่ใจนี้ ก็จะเป็นการรักษากำไรที่เคยได้ส่วนใหญ่ในช่วงขาขึ้นไว้ ไม่ทำให้กำไรกลายเป็นขาดทุน

การลงทุนก็เช่นเดียวกับธุรกิจ ย่อมมีขีดจำกัดในการเติบโต ไม่ใช่ว่าในเวลาเพียง 1 ปีจะสามารถเติบโตได้ตลอด ย่อมต้องมีช่วงเวลาหยุดพักบ้าง

บางทีช่วงเวลาหยุดพักนี้ นักลงทุน GenY อาจแบ่งเวลาไปใส่ใจในการสร้างธุรกิจ เพื่อผลิตเม็ดเงินไว้ใช้ในการลงทุนครั้งต่อไป ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเป็นอิสระในทางการเงินได้เร็วขึ้นกว่าการหมกมุ่นในการลง ทุนเพียงอย่างเดียว

ปล. ความรู้ต่างๆที่ได้หา และที่ได้อ่านมา เรารู้ครับ แต่ยากมากในการเข้าถึงเพื่อปฎิบัติ ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกสิ่งครับ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ใจเป็นสำคัญด้วยครับ  หากเอาชนะใจตัวเองไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะชนะตลาดได้ แล้ววันนี้เป้าหมายหรือเงื่อนไขในการลงทุนของเราไซด์เวย์ไปตามตลาดหรือปล่าว แม้แต่นักเทคนิคก็เคยบ่นกราฟไม่โกหก แต่ไม่เชื่อกราฟเป็นต้น นั่นเพราะใจตัดสินบนอารมณ์ที่สายตามองเห็น...แต่เงื่อนไขและเส้นสายตัดสินมา แล้วบนพื้นฐานข้อมูล  แล้วเราจะแก้ไขกันอย่างไรดีครับ  



credit คุณทองเนื้อเก้า @sinthorn

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น