การลงทุนปีงู
ที่มา http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=39522&p=290956
ปี 2555 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ถือได้ว่า เป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งสำหรับนักลงทุน เพราะการลงทุนในสินทรัพย์แทบทุกประเภท ได้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ซึ่งถือเป็น Benchmark ของการลงทุนทั้งนั้น

อย่างการลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว ให้ผลตอบแทนประมาณ 4%

ขณะที่ทองคำ สร้างผลตอบแทน 5-10% เมื่อคิดเป็นเงินบาท (กรณีไม่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน) จะให้ผลตอบแทนราว 5% แต่หากคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ (กรณีมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน) ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10%

ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (คิดรวมทั้งราคาหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น และเงินปันผล)

และหุ้น จะได้ผลตอบแทนสูงเกิน 20%

อย่างไรก็ตาม การที่บรรยากาศการลงทุนช่วง 1-2 เดือนล่าสุด ไม่ค่อยสดใส เพราะมีปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลายเรื่อง ทั้งผลกระทบที่อาจเกิดจากการลดการก่อหนี้ (Deleverage) ภาคครัวเรือน ภาคการเงิน และภาครัฐ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) และความไม่แน่นอนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) ที่จะประคับประคองเศรษฐกิจ โดยอาศัยการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ รวมถึงผลักดันการค้าขายระหว่างกันมากขึ้นทำให้เกิดคำถามตามมาว่าปี 2556 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุนอีกหรือไม่


อะไรคือปัจจัยเสี่ยงต่อการลงทุนปีงู


หากสรุปปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน บรรดานักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์หุ้น รวมถึงผู้จัดการกองทุน จะให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

ความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ
ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป
ความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจไทยเอง


โดยความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ที่ปัญหา Fiscal Cliff ที่ กำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องลดการขาดดุลการคลังจากระดับ 7% ของ GDP ในปีนี้ให้เหลือเพียง 4% ของ GDP ในปีหน้า สร้างข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจจนอาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจสะดุดตัว และยิ่งความคิดเห็นของผู้นำสหรัฐฯ กับ ส.ส.เสียงข้างมาก ที่มาจากพรรครีพับลิกัน มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยฝ่ายหนึ่งต้องการเพิ่มภาษีโดยเฉพาะภาษีคนรวย แต่อีกฝ่ายต้องการลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม ทำให้เกิดความกังวลกันว่า บทสรุปของการเจรจาจะออกมาอย่างไร

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการขยายเพดานหนี้สาธารณะในช่วงต้นปี และท่าทีของสถาบันจัดอันดับเครดิต ทั้ง Moody’s และ Fitch ด้วยว่า จะมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ให้หลุดจากระดับ “AAA” ไปทั้งหมดหรือไม่ หลังจากที่ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้

ส่วน ความเสี่ยงของเศรษฐกิจยุโรป อยู่ที่แนวโน้มเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอย หรือติดลบอีกอย่างน้อย 1-2 ปี สร้างความกังวลใจเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ตามมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้ครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี สเปนในปีหน้า ขณะที่กรีซ ยังคงมีภาระหนี้ที่ทยอยครบกำหนดแทบทุกไตรมาสเป็นจำนวนไม่น้อย

สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน อยู่ที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนยังไม่มีความชัดเจนมาก พอที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า เศรษฐกิจชะลอตัวแบบ Soft Landing ซึ่งก็ต้องรอดูความชัดเจนหลังการส่งต่อการเปลี่ยนผู้นำแล้วเสร็จลงไปในเดือน มีนาคม

ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย อยู่ที่การอุปโภคและบริโภค รวมถึงการลงทุนในประเทศ และการใช้จ่ายของภาครัฐ จะมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ดีเพียงไร และจะมีปัญหาการเมืองบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนเหมือนที่เกิดขึ้นใน ช่วงหลายปีที่ผ่านมาหรือไม่


มั่นใจการลงทุนปีงู ยังสดใส

แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า แต่ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน นักวิเคราะห์หุ้น รวมถึงผู้จัดการกองทุนหลายสำนัก กลับลงเอยว่าปี 2556 น่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุนอีกปีหนึ่ง

โดยปัญหา Fiscal Cliff มีการคาดหมายกันว่า ทั้ง 2 พรรคการเมืองน่าจะประนีประนอมกันได้ ทำ ให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องลดงบประมาณอย่างเร่งด่วนเกินไป จนกดดันให้เศรษฐกิจถดถอย และยิ่ง FED ได้ประกาศ QEIII ซึ่งเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างไม่มีกำหนดอายุ เพื่อเข้าซื้อตราสารหนี้ประเภทที่มีสินเชื่อบ้านค้ำ (Mortgage Backed Securities) เดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปีหน้าจะขยายตัวได้ในระดับ 1.5-2.0%

ส่วนยุโรป แม้ว่าจะแก้ไขหนี้ไม่ได้ทันทีและเศรษฐกิจจะถดถอย แต่คาดว่า เยอรมนี และฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศที่ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ จะหาทางช่วยเหลือประเทศอย่างกรีซ โปรตุเกส สเปน และอาจรวมถึงอิตาลี ให้สามารถออกพันธบัตรรัฐบาลมาต่ออายุพันธบัตรรุ่นเก่าที่ทยอยหมดอายุได้ โดยมีต้นทุนทางการเงินไม่สูงนัก ขณะเดียวกันธนาคารกลางยุโรปยังเตรียมพร้อมที่จะกำกับดูแลสถาบันการเงินใน ยุโรปให้มีสภาพคล่องเพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุนควบคู่กันไป

สำหรับการเปลี่ยนผู้นำของจีน น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเอเชีย เนื่องจากรัฐบาลใหม่จะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ทำให้ประเมินได้ว่า เศรษฐกิจจีนปีหน้า น่าจะเติบโตในระดับ 7.0-8.0%

ขณะที่เศรษฐกิจไทย หากไม่มีปัญหาการเมือง สามารถมั่นใจได้ว่า จะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ 4.0-5.0% เพราะ มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดแรงกดดันค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป หนุนด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 23% เหลือ 20% ผสมผสานไปกับการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อลงทุนระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ช่วยกระตุ้นบรรยากาศการค้าและการลงทุนอีกทางหนึ่ง

ที่สำคัญที่สุด การที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มยืนประคองตัวระดับต่ำต่อไป ประกอบกับธนาคารกลางทั่วโลก ยังต้องใช้มาตรการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจโลก ทำให้สภาพคล่องในระบบการเงินโลกยังคงมีปริมาณที่สูง และเป็นปัจจัยบวกต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์

แนวคิดจัดพอร์ตและกลยุทธ์ลงทุนรับปีงู


เพื่อช่วยให้การลงทุนสอดรับกับสถานการณ์ ซีอีโอจากหลายกองทุน เช่น โชติกา สวนานนท์ ค่ายไทยพาณิชย์ (SCBAM) สมชัย บุญนำศิริ ของกรุงไทย (KTAM) และธีรนาถ รุจิเมธาภาส จากทิสโก้ (TISCO-ASSET) แนะนำคล้ายๆ กันว่า

ควรกระจายเงินลงทุน 30% ออกไปในหุ้น ตราสารหนี้ และตลาดเงิน (Money Market) อย่างละเท่าๆ กัน แล้วแบ่งเงินที่เหลือ 10% ลงทุนในทองคำหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่หากนักลงทุนรายใดชอบความท้าทายในตลาดหุ้น อาจเพิ่มน้ำหนักหุ้นแล้วลดน้ำหนักตราสารหนี้แทนได้

ด้านสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล นักวิเคราะห์กองทุน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) บอกว่า ให้แบ่งเงินเป็น 4 ส่วน
ส่วนแรก 35% นำไปลงทุนตราสารหนี้ (ในจำนวนนี้อาจกระจายความเสี่ยงด้วยกองทุนในประเทศ 15% ที่เหลือลงทุนต่างประเทศ) ส่วนที่สองนำเงิน 30% ลงทุนหุ้น (ให้น้ำหนักหุ้นต่างประเทศไม่เกิน 10%) ส่วนที่สาม 10% ลงทุนทองคำ และส่วนสุดท้าย 25% ถือเป็นเงินสด หรือพักไว้ใน Money Market เพื่อรอจังหวะลงทุน


“เพราะเศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ ไม่ว่าจะมี Fiscal Cliff หรือไม่ก็ตาม ทำให้ upside ในการลงทุนมีค่อนข้างจำกัด ดังนั้น การจัดพอร์ตลงทุนควรให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้นมากกว่าการหาผลตอบแทน เราจึง Underweight สินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท ยกเว้นทองคำที่ยัง Overweight เช่นเดียวกับ Money Market แต่เนื่องจากการลงทุนในประเทศให้ผลตอบแทนไม่สูงเท่าที่ควร จึงต้องลงทุนต่างประเทศเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ไม่ชอบเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ให้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในประเทศแทน” หนุ่มกอล์ฟ ชี้แจง

เขายังยกตัวอย่างกองทุนรวมที่มีความโดดเด่นอีกด้วยว่า หากคัดเลือกกองทุนตลาดเงิน จะ พบว่ามี 3 กองทุนที่น่าสนใจคือ กองทุนเปิดฟินันซ่าเพิ่มทุนทรัพย์ (FAM VF) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารรัฐ ตลาดเงินพลัส (SCB TMFPLUS) และกองทุนเปิดฟิลลิปบริหารเงิน (PCASH) ของ บลจ.ฟิลลิปเอง

สำหรับกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ มี 2 ทางเลือก ได้แก่ กองทุนเปิดธนชาต โกลบอลบอนด์ ฟันด์ (T-Global bond) กับกองทุนเปิดทหารไทย โกลบอลบอนด์ ฟันด์ (TMB Global bond)

ส่วนกองทุนหุ้นในประเทศ จะมีกองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นปันผล (KFSDIV) กองทุนเปิดอเบอร์ดีนสมอลแค็พ (ABSM) และกองทุนเปิดธนชาติ โลว์เบต้า (T-Low Beta) เป็น กองต้นแบบ


ส่วนนักลงทุนที่ชื่นชอบการลงทุนหุ้นมากเป็นพิเศษ มีคำแนะนำจากนักวิเคราะห์มากฝีมือ คุณวราภรณ์ วิบูลคณารักษ์ ค่าย บล. เคทีซีมิโก้ (KTZ) ว่า ควรแบ่งพอร์ตลงทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในประเทศ กับหุ้นที่มีศักยภาพการทำกำไรตามวัฎจักรธุรกิจ ขณะที่ราคาหุ้นยังต่ำกว่าควรจะเป็น อย่างหุ้น BCP BTS INTUCH KBANK SIRI และ UEC

“KBANK เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มธนาคารและคาดว่าราคาหุ้นยังปรับตัวดีกว่ากลุ่มระยะยาว เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันระยะยาวที่ดีกว่า และแนวโน้มความสามารถในการทำกำไรและ ROE ที่สดใส คล้ายกับ SIRI ที่พิสูจน์ให้เห็นถึงผลของการลงทุนในตราสินค้าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพิ่มมูลค่าแฟรนไชส์ในปัจจุบัน และยิ่งบริษัททำสำเนาโมเดลความสำเร็จทางธุรกิจออกไปในตลาดต่างจังหวัด หลังประสบความสำเร็จในตลาดอาคารชุดระดับกลางถึงล่างในกรุงเทพฯ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า จะมีกำไรเติบโตอย่างโดดเด่น ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีนี้เป็นต้นไป” สาวจอย สรุปประเด็น

สำหรับ BCP แนวโน้มการเติบโตของกำไรที่มั่นคง และชัดเจน แม้กระทั่งในช่วงค่าการกลั่นเป็นขาลง นอกจากนั้น ยังจะได้ประโยชน์จากแนวคิดในการสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ต่อยอดธุรกิจในอนาคต หลังปี 2559 เพิ่มเข้ามาอีก ยิ่งกว่านั้น ราคาหุ้นยังแกว่งตัวในระดับต่ำ โดยมีส่วนลดจากหุ้นในภูมิภาคค่อนข้างมาก (BCP ซื้อขายที่ PER และ PBV 6.8 เท่า และ 1.0 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 9.7 เท่า และ 1.2 เท่าตามลำดับ) ดังนั้น BCP จึงเป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุนที่สุดในกลุ่มโรงกลั่น


ขณะที่ UEC น่าสนใจตรงโมเนตัมงานในมือเติบโตตามวงจรขาขึ้นทางธุรกิจ และแนวโน้มการได้งานในประเทศเพิ่ม รวมทั้ง ศักยภาพงานในเมียนมาร์ ทำให้เรามีความเชื่อมั่นยิ่งขึ้นต่อแนวโน้มกำไรของ UEC โดยคาดโตเฉลี่ย 28% ต่อปี ใน 3 ปีข้างหน้า (54-57) และให้ปันผลตอบแทนสูง 6% สำหรับปี 55 (คาดปันผล 0.13 บาท สำหรับ 2H55 ให้ปันผลตอบแทน 3.6%) และจะเพิ่มเป็น 8% สำหรับปี 56 ราคาหุ้นถูกในเชิงประเมินมูลค่า มี PER ปี 56 เพียง 8 เท่า (เทียบกับ PER ตลาด MAI 22 เท่า) รวมทั้งมี Upside ถึง 46% จากมูลค่าพื้นฐาน 5.34 บาท (PER 12.5 เท่าของกำไรปี 56)

“เราปรับประมาณการกำไรของ INTUCH ปีนี้ และปีหน้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้สะท้อนประมาณการกำไรใหม่ของ THCOM และ ADVANCE ได้มูลค่าพื้นฐานใหม่เป็น 81 บาท ซึ่งยังมีส่วนต่างจากราคาหุ้นในกระดาน 30% และหากคิดรวมผลตอบแทนจากเงินปันผลในอัตรา 8.5% จึงแนะนำซื้อ เช่นเดียวกับ BTS ซึ่งกำไรในครึ่งแรกปีนี้เติบโตอย่างโดดเด่น ทั้งจากธุรกิจหลัก การลงทุนในบริษัทย่อย นอกจากนี้การเดินหน้าจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายงานใน อนาคต จะช่วยให้สามารถรับรู้รายได้ในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยให้ราคาเหมาะสม 7.30 บาท” นักวิเคราะห์สาวจาก KTZ ทิ้งท้าย

ได้กรอบคิด และแนวทางปฏิบัติสำหรับการลงทุนปี 2556 กันแล้ว หวังว่า จะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ถูกใจนักลงทุนทุกสไตล์ และอย่าลืมซื้อกองทุน LTF-RMF ส่งท้ายปี 2555 เพื่อเอาสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาเพิ่มค่าเงินในกระเป๋ากันด้วยนะคะ

...เมอร์รี่ คริสต์มาส และแฮปปี้ นิวเยียร์ค่ะ..



ที่มา : วารสาร Money & Wealth ฉบับเดือน ธันวาคม 2555
ขอบคุณ : Maruey Knowledge and Resource Center