ads head

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

นโยบายด้านราคา กับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย

 นโยบายด้านราคา กับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย


ภาคการเกษตรนับได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจชนบทไทย เพราะครัวเรือนในชนบทจำนวนมากมีอาชีพทำการเกษตร

นอก จากนี้การเกษตรยังเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือน เป็นแหล่งของการจ้างงาน และการเป็นแหล่งรายได้ของประเทศจากการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งกลับพบว่าภาคการเกษตรเป็นภาคที่สร้างแรงกดดันในทางการเมืองได้ อย่างมีนัยสำคัญ  ทั้งนี้เพราะภาคการเกษตรประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรขนาดเล็กจำนวนมาก มีขนาดพื้นที่ถือครองจำกัด ระบบการผลิตต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงภัยจากธรรมชาติและราคาที่ผันผวน ซึ่งส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้ต่ำตกอยู่ในภาวะยากจน และมีจำนวนไม่น้อยต้องสูญเสียที่ดินทำกินจากการเป็นหนี้สิน อย่างไรก็ตามทุกรัฐบาลได้ถือนโยบายสนับสนุนเกษตรกรเป็นพันธกิจสำคัญ

การสนองตอบสนองเชิงนโยบายของภาครัฐในอดีต ได้ให้ความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งในด้านของการลงทุนเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทาน การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการจัดหาที่ดินทำกินให้กับผู้ไม่มีที่ดินทำกินและการจัดหาแหล่งสิน เชื่อเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการใช้ปัจจัยการผลิตสมัยใหม่ได้มากขึ้น นโยบายดังกล่าวนับว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งในด้านการผลิตให้กับเกษตรกร เพราะการมีผลิตภาพการผลิตที่สูงขึ้นย่อมจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ให้ลดต่ำลง นอกจากนี้หากรวมเข้ากับการสนองตอบในด้านการปรับปรุงระบบการขนส่งและการเก็บ รักษา การปรับปรุงโครงสร้างทางการตลาดทั้งตลาดภายในและตลาดส่งออก นับได้ว่าเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทั้งในด้านการผลิตและการตลาด ให้เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่องมา

การให้ความช่วยเหลือเชิงนโยบายด้านราคาสินค้าเกษตร เป็นอีกกลไกหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อรักษาระดับรายได้ของชาวนาไม่ให้ตกต่ำลง เช่น การใช้นโยบายแทรกแซงราคาหรือการพยุงราคา ซึ่งรัฐจะเข้าไปรับซื้อสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำเพื่อเพิ่มอุปสงค์ในระยะ เวลาสั้นๆ เช่นในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว หรือการใช้นโยบายจำนำเพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ต้องการใช้เงินสดได้นำผลิตผลมา จำนำกับหน่วยงานของรัฐ ในระดับราคาที่ต่ำกว่าระดับราคาตลาดแล้วนำเงินไปใช้จ่ายก่อน อีกทั้งยังเป็นกลไกที่ช่วยชะลออุปทานสินค้าในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวให้เข้าสู่ ตลาดลดลง และเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไปและสินค้าเกษตรนั้นๆ ปรับตัวในระดับราคาที่สูงขึ้น เกษตรกรก็สามารถไถ่ถอนและนำผลผลิตไปขายในระดับราคาที่สูงขึ้น ซึ่งก็จะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามมา

การใช้นโยบายด้านราคาต้องคำนึงถึงภาพรวมของนโยบายว่า จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดของสินค้านั้นๆ แต่จะเป็นการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรขนาดเล็กที่ได้รับความเดือดร้อนในระยะ สั้นๆ และเมื่อสถานการณ์อุปสงค์และอุปทานของสินค้านั้นเข้าสู่ภาวะปกติ รัฐก็ควรจะถอนตัวออกมา เพื่อให้กลไกตลาดปกติดำเนินการได้ต่อไปและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการใน โครงสร้างตลาด ในขณะเดียวกันรัฐก็ควรเข้าไปสนับสนุนในการเสริมสร้างศักยภาพทางการตลาดในแต่ ละจุดให้เข้มแข็ง และเสริมสร้างในส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพให้เกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

การดำเนินนโยบายยกระดับราคาพืชหลายชนิดให้สูงกว่าราคาตลาด โดยเฉพาะนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกในระดับราคาสูงและไม่จำกัดจำนวน ในระยะสั้นแม้จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหรือชาวนาโดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาส ได้เข้าโครงการรับจำนำซึ่งมีประมาณ 1 ใน 3 ของเกษตรกรทำนาทั้งหมด หรือ 3.7 ล้านครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากโครงการและได้รับรายได้สูงขึ้นเพราะนำข้าวไปขายราคาสูงใน จุดที่รัฐรับซื้อ  แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพราะมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีนโยบายในด้านการลดต้นทุนในการผลิต ก็จะเป็นผลให้เกิดการปรับตัวของต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามมาและ ท้ายที่สุดเกษตรกรก็จะมีกำไรลดลงหรือมีรายได้สุทธิลดลง การใช้นโยบายยกระดับราคาสูงและรัฐเป็นผู้ครอบครองสินค้ารายใหญ่ทั้งในตลาด ข้าวเปลือกและตลาดข้าวสารส่งออก จึงไม่ใช่กลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทย แต่จะเป็นการสร้างอำนาจผูกขาดทางการค้าโดยรัฐ ซึ่งมักจะขาดประสิทธิภาพในการจัดการ 

ผลจากการใช้นโยบายราคาดังกล่าวนอกจากจะทำให้สินค้าข้าวไทย ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกแล้ว ยังจะส่งผลเสียต่อคุณภาพของข้าวทั้งในระดับไร่นาซึ่งเกษตรกรจะเร่งปลูกและ เก็บเกี่ยวให้เร็ว โดยไม่ใส่ใจในเรื่องคุณภาพ เพราะอย่างไรเสียก็ขายได้ในราคาเดียวกัน อีกทั้งกลไกตลาดที่เคยเป็นกลไกที่สำคัญในการแยกเกรดและคุณภาพข้าวก็ถูกทำลาย นอกจากนี้นโยบายดังกล่าวยังทำให้ความเข้มแข็งและค่าพรีเมียมหรือค่าความ จำเพาะของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์และรวมถึงเกษตรปลอดภัยที่หายไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น