ads head

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

9 ยุทธวิธีลงทุนสู้เงินเฟ้อยุคข้าวยากหมากแพง

9 ยุทธวิธีลงทุนสู้เงินเฟ้อยุคข้าวยากหมากแพง


 ที่มา http://www.istyleproperty.com/b-
 วิกฤตการณ์ “เงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง”     จากราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ แบบหยุดไม่อยู่ ผนวกเข้ากับภาวะโลกร้อนที่ทำให้แหล่งผลิตพืชผล และอาหารต่าง ๆ ทั่วโลกผลิตได้น้อยลง กำลังเป็นประเด็นปัญหาที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

                ที่เป็นเช่นนี้เพราะเงินเฟ้อสูง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลร้านต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนเราโดยตรง เป็นตัวบั่นทอนกำลังซื้อและค่าเงินให้ลดน้อยถอยลง แถมยังเป็นตัวทำให้เงินออมและเงินลงทุนที่มีอยู่ได้รับผลตอบแทนลดน้อยถอยลง หรือเลวร้ายถึงขั้นติดลบได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เงินเฟ้อส่งผลให้คนจนลงเรื่อย ๆ นั่นเอง

                คนส่วนใหญ่มักเชื่อกันว่าเงินเฟ้อสูง ๆ เป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องที่จำต้องทนรับสภาพกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะในความเป็นจริงแล้ว คนเรามียุทธวิธีมากมายหลายอย่างที่สามารถใช้สู้รบปรบมือกับปัญหาเงินเฟ้อสูง ๆ ได้ ซึ่งยุทธวิธีเหล่านี้หากใช้ดี ๆ จะกลายมาเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยทำเงินและยกฐานะตัวเองให้มั่นคงขึ้นได้เป็น อย่างดี

                ก่อนอื่นคงต้องเริ่มด้วยการแนะนำให้รู้จักกับเงินเฟ้อกันก่อน เงินเฟ้อ (Inflation)คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วการเกิดเงินเฟ้อเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ ในระบบเศรษฐกิจทั่วไป ทั้งนี้ถ้าเกิดขึ้นในอัตราไม่สูงมากนัก ก็จะถือกันว่าเป็นภาวะปกติ

                เงินเฟ้อสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ตามสาเหตุการเกิด โดย ชนิดแรกเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการอุปโภคและบริโภคในระบบเศรษฐกิจมีมากเกินไป หรือเรียกกันว่า “Demand – pull Inflation”เงิน เฟ้อชนิดนี้ปกติจะเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลใช้จ่ายมากเกินตัว หรือมีการลงทุนมากเกินไป หรือในช่วงที่การส่งออกเพิ่มสูงขึ้น หรือเกิดจากปัจจัยหลายอย่างผสมกันก็ได้

                เงินเฟ้อชนิดนี้มักพบเห็นกันในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว (Booming Economy)เป็นเงินเฟ้อที่จัดว่าไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ เพราะรัฐบาลสามารถแก้ไขเงินเฟ้อแบบนี้ได้ง่าย โดยอาศัยการลดกำลังซื้อของประชาชน ขึ้นดอกเบี้ย เก็บภาษีเพิ่ม หรือลดการลงทุนลง หรือบางครั้งรัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลยก็ได้ เพราะเงินเฟ้อชนิดนี้จะหายไปได้เองเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว (Recession)

                เงินเฟ้อชนิดที่สอง คือเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเนื่องจากแรงผลักของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรือเรียกกันว่า “Cost – Push Inflation” มักเกิดขึ้นมาจากการที่ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น การที่ผู้ผลิตในระบบเศรษฐกิจมีอำนาจผูกขาด การที่ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันและวัตถุดิบต่าง ๆ หรือมีการปรับอัตราภาษีสูงขึ้น ตัวอย่างของเงินเฟ้อชนิดนี้ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นกับบ้านเราในปัจจุบันนั่นเอง

                เงินเฟ้อชนิดที่สองนี้น่ากลัวกว่าเงินเฟ้อชนิดแรกมาก เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ยากมาก เพราะหากเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หรือลดกำลังซื้อประชาชนลง ก็จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการชะงักงัน อาจกลายสภาพไปเป็น “ภาวะชะงักงันที่มีเงินเฟ้อ (Stagflation)”ขึ้นได้ ซึ่งเป็นภาวะที่คนไม่อยากพบเจอ

                วิธีการเดียวที่รัฐบาลแทบทุกประเทศมักนิยมนำมาใช้แก้ปัญหาเงินเฟ้อชนิดนี้ กัน ก็คือการเร่งเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนให้ทันกับเงินเฟ้อ ด้วยการลดหรือทรงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ การขึ้นค่าจ้างแรงงานพร้อม ๆ กับการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมาก ๆ ซึ่งวิธีนี้แม้ช่วยสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนให้กับรัฐบาลได้ดี แต่ยิ่งทำมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น เรื่อย ๆ

                เป็นที่น่าสังเกตว่าในอดีตนั้น ช่วงที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูง ๆ จนกระทั่งกลายเป็นเลขสองหลัก มีอยู่ 3 ช่วงด้วยกัน คือช่วงระหว่างปี 2460-2463 ช่วงปี 2483 และช่วงปี 2517-2524 ซึ่งสภาพเงินเฟ้อในช่วงเหล่านั้นล้วนสืบเนื่องมากจากปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน และทรัพยากรอื่น ๆ รวมถึงการที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินอย่างมหาศาลทั้งสิ้น

                ด้วยความที่เศรษฐกิจบ้านเราในปัจจุบันส่อเค้าว่าจะย้อนรอย หรือมีสภาพคล้ายคลึงกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2517-2524 (ทศวรรษ 1970) อีกครั้ง ดังนั้นจึงควรที่จะต้องทราบให้ได้ก่อนว่า ผู้ประสบความสำเร็จในการปกป้องตัวเองไม่ให้จนลงและสามารถสร้างความร่ำรวย ขึ้นได้ในเวลานั้นว่าเขาทำอย่างไร ใช้กลยุทธ์อะไรกัน เท่าที่มีการหาคำตอบกัน และรวบรวมออกมาได้พบว่า ยุทธวิธีลงทุนที่เป็นไปได้ ซึ่งสามารถใช้เป็นทางเลือกในการรับมือเงินเฟ้อสูง ๆ ได้ มีอยู่ด้วยกัน 9 ยุทธวิธี คือ

                1.  หลีกเลี่ยงการถือเงินสด หรือการฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน เนื่องจากในช่วงเกิดเงินเฟ้อแบบนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีความโน้มเอียงที่จะปรับตัวช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อเสมอ ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับมักต่ำกว่าอัตราเงินฝาก ดังนั้นการฝากเงินจะทำให้เกิดการขาดทุน หากคิดออกมาเป็นผลตอบแทนที่แท้จริง

                2.  เร่งจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้จำเป็น หรือทรัพย์สินเพื่อการลงทุนแทนการเก็บหรือถือเงินสด ซึ่งจะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนจากการถือเงินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่กำลังลดค่าลง เปลี่ยนไปถือทรัพย์สินที่กำลังเพิ่มค่าแทน
                3.  เน้นลงทุนในตราสารทางการเงินระยะสั้น ๆ และให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ หรือตราสารทางการเงินระยะยาว ที่ให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยคงที่ ที่ต้องหลีกเลี่ยงเพราะการลงทุนระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ยคง ที่จะขาดความยืดหยุ่น หากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น

                4.  หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น ในสภาพที่เงินเฟ้อสูง ๆ นั้น ผลประกอบการของบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้รับผลกระทบซึ่งจะทำให้หุ้นมีราคาตกลง การลงทุนในหุ้นจึงมีโอกาสประสบภาวะขาดทุนสูง และจะขาดทุนสูงขึ้นไปอีก หากเป็นการลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานโดยตรง เช่น กิจการทางการบิน อุตสาหกรรมรถยนต์ อุสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์ รวมถึงหุ้นของบริษัทขนาดเล็ก

                5.  เน้นลงทุนในบ้านและที่ดิน การลงทุนในบ้านและที่ดินเป็นยุทธวิธีการลงทุนชั้นเยี่ยมอย่างหนึ่งในการรับ มือกับวิกฤตการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์บ้านเราในเวลานี้ เพราะในช่วงที่เงินเฟ้อสูง ราคาบ้านและที่ดิน รวมถึงค่าเช่าจะขยับสูงขึ้นตาม เมื่อผนวกเข้ากับแรงจูงใจทางด้านภาษีและค่าธรรมเนียมที่รัฐบาลของเราเกื้อ หนุนให้เป็นพิเศษกับการลงทุนในบ้านและที่ดิน รวมถึงเงื่อนไขการกู้ยืมเงินของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่กู้ได้มาก ระยะเวลานาน และดอกเบี้ยต่ำ ล้วนสนับสนุนให้การลงทุนในบ้านและที่ดิน ให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า อัตราเงินเฟ้อเป็นหลาย ๆ เท่าตัวได้ง่าย ๆ

                6.  เน้นการกู้เงินให้ยาวที่สุดด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อรอรับผลประโยชน์จากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ที่จะปรับเพิ่มตามมาในอนาคตหลังเกิดเงินเฟ้อทั้งนี้เคล็ดลับการกู้ยืมเงิน สินเชื่อที่อยู่อาศัยในเวลานี้ก็คือ ให้เน้นกู้ยืมเงินในแบบดอกเบี้ยคงที่ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ สำหรับใครที่กู้ยืมเงินแล้ว แต่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวก็ควรรีบไปรีไฟแนนซ์ (Refinance) เปลี่ยนไปเป็นดอกเบี้ยคงที่เสีย

                7.  ลงทุนในทองคำ การลงทุนในทองคำเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในการใช้รับมือกับเงินเฟ้อ จากการที่ทองคำเป็นทรัพย์สินมีค่า มีอยู่จำกัด ทั้งนี้การลงทุนในทองคำมักจะเฟื่องฟูเป็นพิเศษ ในช่วงเงินเฟ้อสูง ๆ และเศรษฐกิจโลกไม่ดี เนื่องจากจะเป็นช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินของโลกต่ำ ซึ่งช่วงนี้ราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ

                8.  ลงทุนในหุ้นของบริษัทน้ำมัน โดยเฉพาะบริษัทที่ทำธุรกิจสำรวจขุดเจาะ และให้บริการน้ำมันต่าง ๆเนื่องจากหุ้นเหล่านี้จะมีผลประกอบการดีเยี่ยมเป็นพิเศษได้ แม้ราคาหุ้นภาคธุรกิจอื่นจะตกลงก็ตาม

                9.  ลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) สินค้า โภคภัณฑ์ก็คือสินค้าที่ผลิตขึ้นสำหรับบริโภคหรือเพื่อแลกเปลี่ยนในตลาด เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ฝ้าย ธัญญาหาร กาแฟ ดีบุก และทองแดง เป็นต้น แม้ว่าในภาวะปกติการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จะให้ผลตอบแทนไม่มากเทียบเท่ากับ หุ้นก็ตาม แต่ในภาวะที่เงินเฟ้อสูง ๆ จะเป็นช่วงที่สินค้าโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทนเด่นชัดเป็นพิเศษ สามารถใช้เป็นช่องทางการลงทุนเพื่อคุ้มครองตัวเองจากภาวะเงินเฟ้อได้เป็น อย่างดี
ศัพท์เศรษฐศาสตร์น่ารู้เกี่ยวกับเงินเฟ้อ

                เงินเฟ้อ (Inflation)คือ สถานการณ์ที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เครื่องมือที่นำมาใช้วัดระดับเงินเฟ้อ คือดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) โดยวัดในรูปของร้อยละของอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาในช่วงเวลานั้นเทียบกับช่วง เวลาก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้ออาจแบ่งได้เป็นระดับต่าง ๆ กัน เช่น เงินเฟ้ออย่างอ่อน (ไม่เกินร้อยละ 5) เงินเฟ้อปานกลาง (ระหว่างร้อยละ 5-20) และเงินเฟ้อขั้นสูง (เกินร้อยละ 20)

                เงินฝืด (Deflation) เป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับเงินเฟ้อ โดยมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ภาวะราคาลด” หมายถึงภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อย ๆ มักเกิดขึ้นจากการลดลงของอุปสงค์รวม อันเป็นผลมาจากการลดลงของการบริโภคและการลงทุนของเอกชน การลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและการลดลงของการส่งออก

                ภาวะชะงักงันที่มีเงินเฟ้อ (Stagflation)เป็น คำผสมที่มาจากรากศัพท์เดิม 2 คำ คือ “Stagnation” และ “Inflation” ซึ่งแปลว่า “ภาวะชะงักงัน” และ “เงินเฟ้อ” ซึ่งหมายถึงภาวะที่ระบบเศรษฐกิจหนึ่ง ๆ ประสบกับการชะงักงัน มีผลผลิตและการจ้างงานที่ลดลงไม่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หรือที่เรียกว่า เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นด้วย ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจชะงักงันนี้มักเป็นเงินเฟ้อเนื่องจากแรงผลักของต้นทุน ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ 1970

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น