ads head

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556

5 คำถามยอดฮิตที่ต้องคิดเวลาขายหุ้น

5 คำถามยอดฮิตที่ต้องคิดเวลาขายหุ้น


ที่มา http://roadtobillion.wordpress.com/2012/09/24/%E0%B8%9
เคยรู้สึกแบบนี้มั้ยครับ เวลาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากๆ แทนที่จะถือไว้เรากลับกลัวว่ากำไรมันจะหดหายก็เลยรีบขายทิ้ง เวลาหุ้นปรับตัวลงเยอะๆเราก็ใจฟ่อไม่กล้า cut loss สุดท้ายหุ้นก็ลงต่อไปอีก ผมเชื่อว่านักลงทุนทุกคนน่าจะเคยผ่านความรู้สึกแบบนี้มาบ้าง ความรู้สึกไม่แน่ใจ สงสัย ว่าเมื่อไหร่เป็นจังหวะที่เหมาะสมในการ “ขายหุ้น” วันนี้ผมก็เลยขออนุญาตวิเคราะห์แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการขายหุ้นผ่านคำ ถาม 5 ข้อที่คิดว่าทุกคนน่าเคยจะถามตัวเองมาบ้างเวลาคิดที่จะขายหุ้น

1. หุ้นลงมาเยอะแต่ต้นทุนแพง ไม่ควรขายรึเปล่า?
ผมสังเกตนักลงทุนหลายท่าน (ทั้งสมัครเล่นและมืออาชีพ) มีแนวโน้มที่จะไม่กล้าที่จะขายหุ้นขาดทุน เพราะให้ความสำคัญกับ “ต้นทุน” มากจนเกินไป แน่นอนครับว่าต้นทุนอาจจะมีผลต่อ “ความรู้สึก” แต่ลองคิดดูนะครับว่าต้นทุนที่แท้จริงของหุ้นเราจริงๆแล้วคือ “ราคาวันที่เราซื้อ” หรือ “ราคาปิดเมื่อวาน” ตัวอย่างเช่นบริษัทก้ามปู ถ้าเรามีต้นทุนที่ 800 บาท วันนี้ราคาซื้อขายอยู่ที่ 400 บาท หลายคนอาจจะไม่กล้าขายเพราะกลัวขาดทุน แต่ลองคิดดูครับ ถ้าเรา “ไม่ขาย” เรา “ไม่ขาดทุน” จริงๆรึเปล่า?

2. หุ้นขึ้นมาเยอะควรจะขายทำกำไรรึเปล่า?
ในทางตรงกันข้ามนักลงทุนหลายท่านเลือกที่จะขายหุ้นที่ถืออยู่เพียงเพราะ ว่าหุ้นตัวนั้นขึ้นมาเยอะแล้ว โดยมองข้ามผลประกอบการ หรือ การเปลี่ยนแปลงทางปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นๆ ตัวอย่างเช่นถ้าเราซื้อหุ้นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งแถวเพชรบุรีตอนราคา 25 บาท วันที่ราคา 50 บาทเรารู้สึกว่ามันแพงเพราะหุ้นขึ้นมา 100% ในระยะเวลาแค่นิดเดียว เราอาจจะรู้สึกว่าแพงและขายมันทิ้งไป จนลืมไปว่าการที่บริษัทเข้าไปซื้อกิจการจะมีผลดีต่อบริษัทอย่างไรในระยะยาว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะทำให้หุ้นขึ้นไปเกิน 100 บาทได้ ถึงแม้ว่าอดีตอาจจะพอบอกอะไรกับเราได้บ้าง แต่อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เราลงทุน เราลงทุนกับอนาคตของบริษัท

3. ควรเล่นรอบรึเปล่า?
ฟิลล์ พิชเชอร์ บุคคลที่บัฟเฟตต์นับถือเป็นอาจารย์ท่านหนึ่ง เคยบอกไว้ว่า “ผมจะไม่เลือกขายหุ้นที่ผมชอบเพียงเพราะแค่ผมกลัวว่าตลาดหุ้นจะพัง” เพราะจากประสบการณ์ของฟิชเชอร์การคาดการให้ถูกว่าตลาดจะขึ้นหรือลงนั้นมี โอกาสถูกประมาณ 60% แต่การเลือกหุ้นที่ดีที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัวนั้นมีโอกาสถึง 90% (ถ้ายึดหลักการที่ถูกต้อง) ฉะนั้นฟิชเชอร์จึงเลือกที่จะถือหุ้นมากกว่าขายเวลาตลาดไม่ดี
แต่ในมุมกลับกันจอร์จ โซรอส หาเงินเป็นกว่าสองล้านล้านได้จากการ “เล่นรอบ” หรือเก็งกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นและตลาดเงิน สิ่งที่โซรอสให้ความสำคัญมากๆเลยก็คือการเขียน Investment Diary เพื่อจดบันทึกการตัดสินใจซื้อขายทุกครั้ง เพราะสมองของคนเรามักจะลืมการตัดสินใจที่ผิดและเลือกจำเฉพาะในสิ่งที่ถูก (ถึงแม้จะไม่เล่นรอบก็แนะนำให้เขียนนะครับ เป็นประโยชน์มาก) ถ้าได้ผลก็ทำต่อไปได้ครับ แต่ถ้าลองมองย้อนกลับมาดูแล้วเสียมากกว่าได้ ก็อาจจะต้องลองพิจารณาทบทวนดูอีกทีครับ

4. Cut loss ควรทำหรือเปล่า?
มีผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งเคยถามผมว่า “ถ้าหุ้นที่เราซื้อผลประกอบการออกมาดีมากๆเลย แต่ราคาปรับตัวลงทุกๆวัน เราจะ cut loss รึเปล่า?” ถ้าเป็นผู้อ่านจะตอบว่ายังไงครับ…
วันนั้นผมตอบไปว่า “ไม่ cut loss ครับ เพราะหุ้นนี้ผมวิเคราะห์มาดีแล้ว ถ้าลงผมก็จะซื้อเพิ่ม”
ฟังดูแล้วก็เหมือนจะเป็นเรื่องสมเหตุสมผลสำหรับคนนักลงทุนที่เน้นพื้นฐาน หุ้นดีแต่ถูกกว่าเดิม ทำไมจะไม่ซื้อล่ะ? แต่หลังจากผมได้ออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวผมก็พบว่า จริงๆแล้วในทางปฏิบัติมันก็เป็นอะไรที่ทำได้ยากมากทีเดียว นอกจากเรื่องของ “ความรู้สึก” แล้วบางครั้งหุ้นที่เราถืออาจจะเกิดเหตุการบางอย่างที่เราอาจจะไม่ทราบ ซึ่งอาจจะเกิดจากธรรมาภิบาลที่ไม่ดี หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของกิจการนั้นๆ ในกรณีที่เราพอจะทราบว่าหุ้นนั้นลงเพราะอะไรเราอาจจะพอประเมินได้ว่าตลาด over react หรือมองเวอร์เกินไปรึเปล่า แต่หลายครั้งราคาหุ้นก็อาจจะปรับตัวลงโดยไม่ทราบสาเหตุ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สายเกินไปแล้ว
หลายครั้งความเสียหายจากหุ้นตัวเดียวนั้นอาจจะทำให้พอร์ตทั้งพอร์ตเสียไป เลยก็ได้ เพราะฉะนั้นสำหรับหุ้นที่มีความไม่แน่นอน หรือมีปัจจัยที่เราไม่รู้เยอะ (unknown factors) เช่นหุ้นพวกกลุ่มวัฏจักร หุ้นที่มีการลงทุนในต่างประเทศเยอะๆ หุ้นที่มีรายได้มาจากลูกค้าไม่กี่ราย การตั้ง cut loss อาจจะเป็นทางเลือกที่ไม่เลวเลยในการปกป้องเงินต้น

5. ขายแล้วจะนำเงินไปลงทุนอะไร?
สองทางเลือกคือ 1) ซื้อหุ้นตัวอื่น 2) ถือเงินสด ถ้าเราอยากจะซื้อหุ้นตัวอื่นคงพอจะเปรียบเทียบกันได้ว่าหุ้นหัวไหนดีกว่ากัน แต่นักลงทุนหลายๆคนมองข้ามความเป็นจริงที่ว่า “เงินสด” ก็ถือว่าหุ้นชนิดหนึ่งเหมือนกัน อย่าเช่นเงินฝากดอกเบี้ย 3% ต่อปีจะเทียบได้กับหุ้นที่มีปันผล (Dividend Yield) ปีละ 3% มีอัตราการเติบโตของกำไรปีละ 3% (จากดอกเบี้ยทบต้น) และจะมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (PE) ที่ 33 เท่า แน่นอนล่ะครับ เงินต้นคงจะไม่หายแน่ (ถ้าแบงค์หรือบริษัทหลักทรัพย์ไม่เจ๊ง) แต่อยากให้ลองถามตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่า “หุ้นเงินสด” ตัวนี้คุ้มค่าที่จะอยู่ในพอร์ตของเรามั้ย
ข้อคิดท้ิงท้าย

“การขายหุ้นที่ดี” มักจะเกิดจาก “การซื้อที่ดี” การวางแผนล่วงหน้า การทำการบ้านให้เยอะๆก่อนการตัดสินใจซื้อหุ้นซักตัว จะทำให้เรารู้ว่าเราซื้อไปเพราะอะไร และจะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะขายเมื่อไหร่ แค่นี้เราก็ไม่ต้องเสียใจภายหลังเวลาขายหุ้นแล้วครับ
แล้วคุณล่ะครับ มีวิธีการขายหุ้นยังไง? แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ใน comment ครับ
ด้วยรักและพันล้าน
Road to Billion

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น