ads head

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

กลไกตลาด...หัวใจแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร

กลไกตลาด...หัวใจแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร

 ต้องยอมรับว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติอาหารแพงอย่างถ้วนหน้า รวมถึงราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ล้วนถีบตัวสูงขึ้น
และ ยังคงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อเนื่องมีผลทำให้เกิดการใช้พืชพลังงานทดแทน เช่น มันสำปะหลัง อ้อย น้ำมันปาล์ม และข้าวโพด มาผลิตไบโอดีเซลและเอทานอล มีผลทำให้พื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารลดน้อยตามไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่ง ก็คือ ภาวะโลกร้อน จากสภาพอากาศที่เลวร้ายทั่วโลกอุบัติภัยทางธรรมชาติมากมาย ทำให้การผลิตพืชผลเกษตรเสียหาย รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู และกุ้งก็เสียหายไปทั่วโลก ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกในปีนี้ลดลงอย่างน่าตกใจ เมื่อผนวกกับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากจำนวนประชากรที่มีมากขึ้น และการลงทุนที่น้อยเกินไปในภาคเกษตรกรรมด้วยแล้ว ผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้อาหารของโลกขาดแคลน และระดับราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นสถานการณ์ดังกล่าว นอกเหนือไปจากการที่พืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ถูกแย่งไปผลิตพลังงานทดแทนทำให้ ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์สูงขึ้นแล้ว สภาพอากาศที่แปรปรวนยังส่งผลถึงภาคปศุสัตว์เพราะทำให้สุขภาพสัตว์อ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำและเกิดโรคระบาดได้ง่าย ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าความต้องการบริโภค กระทบเป็นลูกโซ่ถึงราคาขายที่ต้องพุ่งสูงขึ้นเป็นธรรมดาตามหลักอุปสงค์อุป ทาน ยกตัวอย่าง เช่น สถานการณ์สุกรที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ขณะที่ไข่ไก่ก็เริ่มประสบภาวะดังกล่าวเช่นกันเพราะช่วงเปลี่ยนฤดูในขณะนี้ทำ ให้โรคระบาดที่กำลังทุเลากลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง 

ระดับราคาสุกรที่สูงขึ้นในขณะนี้ เป็นที่ทราบดีว่าเกิดจากปัจจัยโรคระบาดเป็นหลัก และไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วเอเชีย ความเสียหายของสุกรราว 30% นี้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นทันที และปริมาณสุกรก็หายไปจากตลาดทันทีเช่นกัน ทำเอาราคาสุกรพุ่งขึ้นมาก หรือไข่ไก่ที่เจอภาวะสภาพอากาศแปรปรวน ผนวกกับเริ่มเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ทำให้แม่ไก่ไข่อ่อนแอ ให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่น้อยลง และราคาเริ่มขยับเพิ่มขึ้นซึ่งก็เป็นไปตามกลไกเช่นกัน  

กลไกตลาดเป็นเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ที่ว่าด้วยเรื่องอุปสงค์-อุปทาน หรือดีมานด์-ซัพพลาย หรือจะเรียกกำลังซื้อ-กำลังผลิต ก็สุดแท้แต่ใครจะถนัดใช้คำไหน แต่หลักใหญ่ใจความ ก็คือ เมื่อมีความต้องการซื้อเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น แต่กำลังผลิตเท่าเดิมหรือลดลง ย่อมส่งผลทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นธรรมดา และเป็นเรื่องรับรู้ได้ในระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีที่มีการแข่งขันกันระหว่าง ผู้ผลิตแต่ละราย

อันที่จริง การขายสินค้าเกษตรได้ในราคาดี ย่อมทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น หลังจากที่บางช่วงเวลาต้องประสบปัญหาราคาตกต่ำจนขาดทุนกันระเนระนาด ดังที่เคยเกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงไก่ไข่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หรือกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่ต้องทยอยนำลูกหมูไปทำหมูหันขายในราคาถูกมาก ซึ่งช่วงนั้นก็ไม่เห็นภาครัฐยื่นมือเข้าช่วยเหลือแต่อย่างใด ดังนั้น หากรัฐจะดูแลผู้บริโภคก็ควรจะดูแลเกษตรกรควบคู่ไปด้วยกัน และแนวทางก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงแค่ปล่อย "กลไกตลาด" เป็นตัวควบคุมราคา ทุกฝ่ายก็จะได้รับประโยชน์ที่สมดุลกันถ้วนหน้า แต่ถ้ารัฐบาลเลือกใช้วิธีควบคุมราคาสินค้าเกษตรมากจนเกินพอดี มันเป็นการบิดเบือนตลาด และทำลายระบบ ตลอดจนเป็นการเร่งให้เกษตรกรรายย่อยต้องล้มหายตายจาก...สุดท้ายผู้บริโภคก็ ต้องซื้อสินค้าเกษตรในราคาสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กลับเข้ามาที่เรื่องไข่ไก่อีกครั้ง วันนี้ยังมีหลายคนไม่เข้าใจและมองว่าการส่งออกไข่ไก่ออกไปทำให้ปริมาณไข่ไก่ ในประเทศไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง ก็คือ ผู้ที่ส่งออกไข่ไก่จะต้องเสียสละและรับผิดชอบส่วนต่างในการส่งออกเอง เรียกง่ายๆ ก็คือเฉือนเนื้อตัวเองเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ ดังนั้น ในขณะที่ราคาในประเทศเริ่มดีขึ้นอยู่แล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องยิ่งพากันหลีกเลี่ยงการส่งออกไข่ ข้อกล่าวหาเรื่องส่งออกไข่ทำไข่ในประเทศน้อยลงจึงตกไป 

สำหรับเรื่องของหมูต้องบอกว่าวันนี้ ยิ่งจำเป็นต้องอาศัยกลไกตลาดเข้ามาช่วยขับเคลื่อน เพราะขณะที่ปริมาณหมูไม่เพียงพออยู่นั้น ในฐานะผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนไปบริโภคสินค้าชนิดอื่นทดแทน เมื่อปริมาณหมูจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในตลาดจะฉุดราคาให้เข้าสู่ภาวะสมดุลเอง และในฐานะพ่อค้าเขียงหมู ต้องยอมรับว่าอาจมีกำไรน้อยลงจากการที่ไม่มีหมูขาย พ่อค้าคนกลางคือธุรกิจที่ซื้อมาขายไปไม่ต้องรับความเสี่ยงมากนัก หากกำไรน้อยก็หยุดขายสักวันสองวัน แล้วค่อยเริ่มขายใหม่ได้ แตกต่างกับเกษตรกรที่ต้องรับผิดชอบต้นทุนการเลี้ยง และการรับมือกับโรคระบาด กว่าจะได้ผลผลิตหมูมาได้สักตัวใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน สำหรับการส่งออกหมู เพราะมีเหตุจูงใจจากราคาหมูในประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่าของไทยนั้น รัฐบาลควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยเน้นจัดการกับผู้ลักลอบส่งออกจะดีกว่าการห้ามส่งออกทั้งหมด ซึ่งอาจกระทบตลาดในระยะยาว 

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของกลไกตลาดที่กำลังทำหน้าที่ของมันอยู่ เพียงรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกก็จะทำให้สถานการณ์เข้าที่เข้าทางเอง...ยกเว้น การจัดการกับผู้ลักลอบ กักตุน หรือละเมิดกฎหมายที่รัฐควรวางมาตรการให้ดี ระบุกรอบเวลาให้ชัด ...

อย่าลืมว่า...“กลไกตลาด” คือ หัวใจของการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นหัวใจที่ทั่วโลกเขาใช้กันในระดับสากล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น