JAL ล้มละลาย : สอนอะไรใคร?
ภาพ http://www.jatschool.com
ตอนนั้นใครที่ซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินก็จะได้รับกระเป๋าสะพายขึ้นเครื่อง ซึ่งมีตราของสายการบินประทับอยู่ชัดเจน ตอนนั้นผมยังเด็กอยู่มากเห็นใครหิ้วกระเป๋า Pan Am ของอเมริกันก็รู้สึกว่า เท่ มากทีเดียว ส่วนใครหิ้วกระเป๋า KLM หรือ Air France ก็เท่ไม่เบาเช่นกัน สำหรับสายการบินในเอเชียแน่นอนครับ Japan Airlines หรืออักษรย่อว่า JAL นั้น กินขาด
วันเวลาผ่านไปหลายทศวรรษ JAL กลับ เสื่อมถอยลงไปตามลำดับ สายการบินคู่แข่ง คือ ANA หรือ All Nippon Airlines เบียดตัวแซงขึ้นมา จนกลายเป็นผู้นำไปได้ ผมเองก็ไม่ได้บินทั้งสองสายการบินนี้บ่อยครั้งนัก แต่เท่าที่ได้ลองใช้บริการมาแล้วทั้งสองแห่ง ก็พอจะรู้สึกได้ ถึงความแตกต่าง
เมื่อวันอังคารที่ 12 มกราคม 2553 นี้เอง ราคาหุ้นของ JAL ได้ ลดต่ำลงในวันเดียวถึง 45% คือลดลงติดฟลอร์ จากราคาหุ้นละ 67 เยนเหลือเพียงหุ้นละ 37 เยน เท่านั้น เพราะนักลงทุนคาดหมายว่าสายการบินแห่งนี้ไม่มีทางเลือกใดเหลืออยู่อีกแล้ว นอกจากจะต้องยื่นคำร้องขอรับการพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้กฎหมายล้มละลายเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่จะตามมา ก็คือ หุ้น JAL จะ ต้องถูกนำออกจากตลาดหุ้น และในวันต่อมาคือวันพุธที่ 13 มกราคม ราคาหุ้นก็ได้ดิ่งต่อลงไปอีก 30 เยน ซึ่งเป็นระดับติดฟลอร์อีกครั้งหนึ่งหรือลดลงในวันเดียวถึง 81% ทำให้หุ้น JAL เหลือเพียงราคาหุ้นละ 7 เยน เท่านั้น ในราคาหุ้นละ 7 เยน นี้ หมายความว่ามูลค่าตลาดของ JAL เหลือเพียง 208 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าราคาเครื่องบินโดยสารชนิด 747-8 จำนวนเพียงลำเดียว เสียอีก
ชะตากรรมของ JAL ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ทันได้มีใครรู้เนื้อรู้ตัว เพราะ JAL นั้น เคยมีปัญหาให้รัฐบาลต้องเข้าอุ้มชูทางการเงินมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ มาถึงสุดทางจริงๆ และไม่มีทางออกอื่นใดดีไปกว่าการยื่นล้มละลาย
มาถึงขั้นนี้ ก็คงมีคนอยากทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับสายการบินยักษ์ของโลกแห่งนี้ ผมได้ทำการบ้านมาแล้วพบว่า JAL นั้น เดิมเป็นของรัฐบาลทั้งหมด แต่ได้แปรสภาพให้เอกชนถือหุ้นเมื่อปี 1987 อย่างไรก็ตาม การที่มีสถานะเป็น “สายการบินแห่งชาติ” ดูเหมือนจะไม่ได้เปลี่ยนไปนัก ก็เลยถูกเรียกร้องให้ต้องรับภารกิจที่ไม่บังเกิดผลในทางธุรกิจนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตอบสนองนักการเมืองญี่ปุ่น
นักการเมืองญี่ปุ่นนั้น หลายสิบปีที่ผ่านมาก็คงอยากจะได้คะแนนเสียงและสร้างบารมีทางการเมือง จึงผลักดันให้มีโครงการสร้างสนามบินทั่วไปหมดคล้ายๆ กับว่ามันเท่ดีนะที่สามารถหางบประมาณมาสร้างสนามบินไว้ในเขตพื้นที่ของตนเอง ได้ ดังนั้น เผลอไปประเดี๋ยวเดียว ปรากฏว่าในปี 2006 ญี่ปุ่นมีสนามบินจำนวนมากถึง 97 แห่ง แต่ผมยังหาข้อมูลล่าสุดไม่ได้ว่านับถึงปี 2010 มีสนามบิน เกิน 100 แห่งแล้วหรือยัง
มีคำกล่าวเชิงประชดประชันว่า ในสองทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำอย่างหนักนั้น ก็ยังมีพิธีตัดริบบิ้น เพื่อเปิดสนามบินใหม่ กันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ได้นำ JAL มา สู่สภาวะวิกฤติในวันนี้ ก็คือบริษัทต้องเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานปัจจุบัน และผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งสวัสดิการที่ให้แก่ผู้ที่เกษียณอายุไปแล้ว ซึ่งรวมกันแล้ว ทำให้บริษัทไม่อยู่ในภาวะที่สามารถแข่งขัน กับสายการบินอื่นได้
ความจริง JAL ก็ แข่งขันกับสายการบินอีกเพียงแห่งเดียวเท่านั้นแหละ คือ All Nippon Airways หรือ ANA เพราะในประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลปกป้องธุรกิจการบินมากทีเดียว ทำให้ไม่มีสายการบินต้นทุนต่ำเกิดขึ้นมาแข่งขันได้ แต่ขนาดแข่งกับคู่แข่งเพียงรายเดียว เท่านี้ JAL ก็สู้ไม่ได้แล้ว เมื่อบวกปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว จึงเข้ากรณีคลาสสิกเลยทีเดียว นั่นคือ เป็นบริษัทที่ขาดประสิทธิภาพเพราะได้รับการปกป้องอย่างมากจากรัฐบาลมาโดยตลอด ต้องทำการบินไปยังสนามบินที่นักการเมืองได้สร้างไว้ แต่ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ ต้นทุนค่าแรงและสวัสดิการของพนักงานปัจจุบันและที่เกษียณอายุไปแล้วสูงมาก เมื่อบวกกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น JAL ก็เลยมีชะตากรรม เช่นนี้
ในแผนการที่จะปรับโครงสร้างของสายการบินแห่งนี้นั้น รัฐบาลเรียกร้องให้ พนักงานที่เกษียณอายุไปแล้ว มีมติลดผลประโยชน์ของตนเองลงไป (ซึ่งตามกฎหมายต้องได้รับความเห็นชอบ ไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3) ซึ่งล่าสุด ผู้เกษียณอายุ ก็ได้มีมติยินยอมตามนี้แล้ว นอกจากนั้น ใน 2-3 ปีข้างหน้า ก็จะต้องลดคนงานลงไปถึง 15,000 คน ด้วย รวมทั้งจะต้องยกเลิกเที่ยวบินไปยัง สนามบินในประเทศ 29 แห่ง และปิดหรือขายธุรกิจด้านโรงแรม หรือการท่องเที่ยว เพื่อหันมาเน้นธุรกิจการบิน เพียงอย่างเดียวฯลฯ
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสายการบินยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ที่ชื่อว่า JAL แล้ว ทำให้อดที่จะคิดไม่ได้ว่า เหตุใดหนอ สายการบินซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของการประกอบธุรกิจ สายการบิน ที่สายการบินอื่นๆ ในเอเชีย ล้วนต้องเดินตามรอย มาบัดนี้ ได้กลายเป็นเพียงอดีตไปเสียแล้ว
ปัญหาเรื่องการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน เป็นเรื่องที่สายการบินทุกแห่งต้องประสบเหมือนๆ กัน ดังนั้น JAL จึงไม่ได้พบกับปัญหาที่แตกต่างไปจากสายการบินอื่นๆ แต่อย่างใด แต่ที่ทำให้ JAL สู้ ใครเขาไม่ได้ ก็คือเรื่องของประสิทธิภาพ และต้นทุน ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า “Legacy Costs” หมายถึงต้นทุนต่างๆ รวมทั้งค่าแรงและสวัสดิการ ที่เป็นต้นทุนซึ่งผูกพันบริษัทมาช้านาน และนับวันก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยตัวนี้ ได้ทำให้ General Motors ประสบปัญหามาก่อนแล้ว เช่นกัน
เรื่องราวของนักการเมืองในญี่ปุ่น ที่กระสันสร้างสนามบินในจังหวัดของตนเอง และกดดันให้ “สายการบินแห่งชาติ” ต้อง บินให้บริการ ทั้งๆ ที่มีผู้โดยสารเพียงไม่กี่คน หรือเรื่องราวของสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จำนวนมาก ที่บริษัทมอบให้แก่คนที่เคยเป็นพนักงาน หรือ คนที่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทในสถานภาพต่างๆ เมื่อฟังแล้ว ทำให้อดนึกถึงสายการบินอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้จริงๆ ว่าช่างเป็นเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน เสียเหลือเกิน
วันนี้ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ ของ JAL ได้ รับผลพวงไปแล้วเต็มๆ และเป็นบทพิสูจน์ว่า ถ้าหากใครๆ ต่างก็ถือว่า สายการบินแห่งชาติ นั้น เป็น “สมบัติผลัดกันชม” แล้วละก็ วันหนึ่งก็คงจะต้องลงเอยเช่นนี้แหละครับ
เอ...นี่ผมกำลังพูดให้ใครฟังนะเนี่ย
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น