ads head

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาดและวิธีต้นทุน

 ที่มา http://www.trainingthai.info/2010/09/blog-post_19.html

การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาดและวิธีต้นทุน


วิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) และวิธีต้นทุน (Cost Approach) ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่วิธีการที่กำหนดไว้ ตามแนวทางและวิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาที่กำหนดขึ้นโดยกรม ทรัพย์สินทางปัญญา แต่ในบางกรณีมูลค่าที่ได้จากวิธีทั้งสองกลับสามารถลดข้อโต้แย้ง และใช้ในการเจรจาตกลงระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานหรือสถาบันการเงินได้ เหมาะสมกว่าวิธีรายได้

วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach)

โดยหลักการในการประเมินราคาโดยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด หรือตามมูลค่าตลาดนี้จะอาศัยข้อมูลตลาดหรือหลักฐานการซื้อขายในตลาดของ ทรัพย์สินที่คล้ายคลึงกัน เป็นการกำหนดเปรียบเทียบว่าราคาตลาดของทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเท่าใด ซึ่งถือเป็นวิธีการหลักสำหรับการประเมินราคาทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่จับต้องได้ แต่ในกรณีของทรัพย์สินทางปัญญาหรือทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้นี้ วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ไม่ค่อยใช้หรือไม่มีการใช้กันเลยในการประเมิน ทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย จนทำให้ในบางครั้งเกิดความเข้าใจว่าไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวกับการประ เมินราคาทรัพย์สินทางปัญญาได้

สำหรับประเทศไทยก็อาจถือได้ว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากการหาราคาตลาด ข้อมูลตลาดหรือหลักฐานการซื้อขายในตลาดในการอ้างอิงเปรียบเทียบนั้น มีจำนวนน้อยรายหรืออาจเรียกได้ว่าไม่สามารถหาข้อมูลได้เลย และข้อมูลการซื้อขายหรือการกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกันก็มัก จะไม่มีการเปิดเผย รวมถึงข้อมูลอ้างอิงทางอ้อมก็ยังไม่มีสามารถอ้างอิงได้

แต่ในข้อเท็จจริงแล้วสำหรับในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการทำธุรกิจอย่างแพร่หลาย เช่น สหรัฐอเมริกา ราคาตลาดที่ปรากฏของทรัพย์สินทางปัญญา สามารถหาฐานราคาอ้างอิงในการประเมินมูลค่าได้ในตลาดหลักทรัพย์ และมักจะเป็นราคาที่ปรากฏในตลาดต่อรอง OTC (Over the Counter) เช่น ตลาด NASDAQ

หุ้นของธุรกิจส่วนใหญ่ในตลาด NASDAQ นี้เป็นหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี หรือประเภทธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยส่วนใหญ่ ซึ่งอาจคำนวณจากอัตรา P/E Ratio (Price per Earning Ratio) ของธุรกิจที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะแบบเดียวกันหรือเทียบเคียงกัน เพื่อคำนวณหามูลค่าของธุรกิจ (Business Value) ซึ่งก็จะสามารถหามูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาที่ถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจใน ลักษณะเชิงเปรียบเทียบได้

วิธีการกำหนดมูลค่าในรูปของมูลค่าของธุรกิจแบบดังกล่าวนี้ มักถูกนำมาใช้จากนักลงทุนหรือกองทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีความสนใจในธุรกิจด้านทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการไทย โดยเสนอวงเงินต่อผู้ประกอบการในการเข้ามาร่วมธุรกิจในลักษณะของหุ้นส่วน (Partnership) หรือการร่วมทุน (Joint Venture)

จากการขาดความเข้าใจถึงวิธีการหรือที่มาในการกำหนดมูลค่าหุ้นด้วยวิธีการ ประเมินตามราคาตลาดในลักษณะนี้ ทำให้ในบางครั้งผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ว่า มูลค่าการเข้าหุ้นหรือการร่วมทุนที่ต่างชาติเสนอนี้ มีที่มาจากวิธีการใดและเป็นธรรมกับตนเองหรือไม่

เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลตลาดของทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีจำนวนข้อมูลมากเพียงพอที่จะใช้อ้างอิงได้เหมือนกับข้อมูลในตลาดต่าง ประเทศ แต่ในอนาคตเมื่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการดำเนินการ แพร่หลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีธุรกิจใหม่ๆที่เกิดขึ้นและเติบโตจนสามารถดำเนินการเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นตลาด MAI หรือ SET ก็จะทำให้มีข้อมูลเพียงพอ ที่จะใช้วิธีการเปรียบเทียบราคาตลาดในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาได้ เช่นเดียวกันกับวิธีประเมินแบบอื่น

วิธีต้นทุน (Cost Approach)

หลักการในการประเมินราคาโดยวิธีเปรียบเทียบตามวิธีต้นทุนนี้ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการประเมินราคาตามมูลค่าทดแทนสุทธิ (The Depreciated Replacement Cost Basis of Valuation) สำหรับการประเมินทรัพย์สินประเภทที่จับต้องได้ (Tangible Asset) เช่น อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับต้นทุนของสิ่งปลูกสร้าง หรือต้นทุนค่าก่อสร้างว่าต้องใช้ต้นทุนทั้งหมดเท่าใดจึงจะสามารถสร้างสิ่ง ปลูกสร้างหรือทรัพย์สินนั้นได้ ซึ่งจะประกอบด้วยการประเมินหรือการคิดมูลค่าของต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต ต้นทุนค่าแรงงานในการผลิต ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการผลิต และอาจรวมผลกำไรจากการดำเนินการ จนได้ทรัพย์สินที่แล้วเสร็จสมบูรณ์

ในขณะที่ทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นทรัพย์สินประเภทจับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) นั้นก็สามารถประยุกต์ใช้ในหลักการเดียวกัน เพียงแต่ต้นทุนวัตถุดิบหลักและต้นทุนแรงงานการผลิตจะรวมเข้าอยู่ด้วยกัน คือต้นทุนของสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ของผู้ประดิษฐ์คิดค้นหรือมาจากบุคลากรในทีมผู้ประดิษฐ์หรือผู้พัฒนา ทรัพย์สินทางปัญญานั้น แม้ว่าอาจจะมีต้นทุนวัตถุดิบอื่นที่จับต้องได้รวมอยู่ เช่น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ คอมพิวเตอร์ Software ต่างๆ อยู่ด้วยก็ตามโดยหลักการทั่วไปในกรณีที่ต้องการประเมินทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยวิธีต้นทุนจะมีต้นทุนหลัก 2 ส่วนคือต้นทุนค่าแรงหรือค่าความคิดและต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนา ทรัพย์สินทางปัญญานั้น

เพื่อให้เห็นภาพในแนวทางการคิดโดยวิธีการดังกล่าว สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งต้องการนำทรัพย์สินทางปัญญาของตนซึ่งได้ พัฒนาขึ้นแล้วเสร็จโดยใช้ระยะเวลา 2 ปี ด้วยตนเองเพียงผู้เดียว เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการดังกล่าวใช้วิธีต้นทุนในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา ของตนชิ้นนี้ จะมีรายละเอียดที่ปรากฏในการกำหนดต้นทุนต่างๆในลักษณะตัวอย่างการคำนวณดัง นี้คือ

ต้นทุนค่าความคิดหรือค่าแรง

จะเป็นการคิดตามอัตราค่าจ้าง ค่าแรงงาน ในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่เริ่มต้นจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยการคิดค่าแรงจะคิดจากจำนวนบุคลากร x อัตราค่าแรงงานที่กำหนด x จำนวนเวลาที่ดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาจนแล้วเสร็จ สมบูรณ์ สมมติว่าผู้ประกอบการคิดค่าแรงหรือค่าความคิดของตนในอัตรา 100,000 บาทต่อเดือน เวลาทำงานเฉลี่ย 25 วันต่อเดือน โดยเวลาทำงานเฉลี่ยแต่ละวันเท่ากับ 8 ชั่วโมง

ดังนั้นอัตราค่าแรงงานที่ใช้ต่อชั่วโมงของผู้ประกอบการรายนี้จึงเท่ากับ 100,000 / 25 / 8 หรือเท่ากับ 500 บาทต่อชั่วโมง โดยจากเริ่มต้นจนพัฒนาแล้วเสร็จใช้เวลาประมาณ 2 ปี เท่ากับ 4,800 ชั่วโมง และพัฒนาด้วยตนเองแต่เพียงผู้เดียวไม่มีผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

(การคิดในเรื่องจำนวนเวลาจะคิดเป็นเดือนหรือเป็นชั่วโมงก็ได้ แต่การคิดเป็นค่าแรงงานต่อชั่วโมงหรือเป็น Man/Hour จะง่ายและชัดเจนกว่า เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา มักจะไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเหมือนงานประจำ รวมถึงในกรณีมีผู้อื่นเข้ามาพัฒนาหรือมีการจ้างให้ผู้อื่นดำเนินการพัฒนาต่อ ก็จะสามารถคิดต้นทุนได้ง่ายกว่า รวมถึงสามารถแบ่งมูลค่างานออกตามจำนวนชั่วโมงที่บุคคลนั้นรับผิดชอบได้)

ดังนั้นค่าแรงงานหรือค่าความคิดของทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงมีมูลค่าเท่ากับ 4,800 x 500 เท่ากับ 2,400,000 บาท

ต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนา

ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทั้งหมดที่เกิดขึ้นสามารถแยกออกได้เป็นหลายส่วน เช่น ต้นทุนค่าสถานที่ในการพัฒนา ต้นทุนค่าอุปกรณ์ในการพัฒนา ต้นทุนค่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุดิบในการพัฒนา ต้นทุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ต้นทุนวัสดุสิ้นเปลือง ต้นทุนดำเนินการต่างๆระหว่างการพัฒนา ต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนาเหล่านี้ควรแยกออกให้ละเอียดที่สุด เท่าที่เป็นได้ ตัวอย่างเช่น

• ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสถานที่

สมมติว่าใช้สถานที่ในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของตนในพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร โดยประมาณการว่าค่าเช่าพื้นที่ดังกล่าวมีราคาค่าเช่าประมาณ 100 บาท/ตารางเมตรต่อเดือน (แม้ว่าจะใช้พื้นที่บ้านของตนในการพัฒนาก็ตาม เพราะถือว่าในข้อท็จจริงแล้วถ้าผู้ประกอบการไม่มีพื้นที่อยู่เดิม ก็มีความจำเป็นต้องไปเช่าพื้นที่ภายนอกในการดำเนินการ) เป็นเวลา 2 ปี ดังนั้นต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสถานที่จึงเท่ากับ 2 x 50 x 100 x 12 เท่ากับ 120,000 บาท

• ต้นทุนค่าอุปกรณ์ในการพัฒนา

สมมติว่าใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ราคา 30,000 บาท พร้อม Application Software คือ Microsoft Office ราคา 12,000 บาท AutoCAD ราคา 300,000 บาท พรินเตอร์ Laser Color 1 เครื่อง ราคา 18,000 บาท โดยมีใบเสร็จรับเงินการซื้ออุปกรณ์ และ Software ทั้งหมดครบถ้วน โดยคิดว่าเครื่องมือและ Software ในการพัฒนาดังกล่าวมีอายุ 3 ปี และถือว่าเครื่องมือทั้งหมดนี้มีมูลค่าซากเท่ากับ 0 ดังนั้นต้นทุนของเครื่องมือในการพัฒนานี้เท่ากับ (30,000 + 12,000 + 300,000 + 18,000) x 2/3 เท่ากับ 240,000 บาท (การคำนวณใช้เพียง 2 ปีจากอายุเต็มการใช้งาน 3 ปี เนื่องจากถือเป็นต้นทุนเฉพาะที่นำมาใช้เฉพาะกับทรัพย์สินทางปัญญานี้เท่า นั้น)

• ต้นทุนค่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุดิบในการพัฒนา

สมมติว่าได้มีการลงทุนซื้อเครื่องมือด้านโลหะสำหรับการพัฒนาต้นแบบ พร้อมกับวัตถุดิบโลหะและวัตถุดิบเกี่ยวข้องต่างๆทั้งหมด โดยมีใบเสร็จรับเงินของอุปกรณ์หรือวัตถุดิบตั้งแต่เริ่มต้นจนแล้วเสร็จ เท่ากับ 500,000 บาท ดังนั้นต้นทุนค่าเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุดิบในการพัฒนาเท่ากับ 500,000 บาท

• ต้นทุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

สมมติว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ โทรสาร โดยเฉลี่ยทั้ง 2 ปี ในส่วนของการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาเดือนละ 10,000 บาท ดังนั้นต้นทุนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เท่ากับ 2 x 12 x 10,000 เท่ากับ 240,000 บาท

• ต้นทุนวัสดุสิ้นเปลือง

สมมติว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการชำระเงินค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆที่เกิด ขึ้นและได้เก็บใบเสร็จรับเงินไว้ครบถ้วน อันได้แก่ ค่าเครื่องเขียน แบบพิมพ์ หมึกพิมพ์ เป็นต้น เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท ดังนั้นต้นทุนวัสดุสิ้นเปลืองเท่ากับ 2 x 12 x 5,000 เท่ากับ 120,000 บาท

• ต้นทุนดำเนินการต่างๆ ระหว่างการพัฒนา

สมมติว่าในระหว่างการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญานั้น ผู้ประกอบการได้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่ายานพาหนะ ค่าดำเนินการติดต่อ หรือค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่างๆ โดยผู้ประกอบการประมาณการว่ามีค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวเกิดขึ้น เท่ากับ 1,500 บาท ต่อเดือน ดังนั้นต้นทุนดำเนินการต่างๆระหว่างการพัฒนา เท่ากับ 2 x 12 x 1,500 บาท เท่ากับ 36,000 บาท

• ต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจ

โดยผู้ประกอบการตั้งใจจะนำทรัพย์สินทางปัญญญาของตนมาดำเนินธุรกิจ จึงได้นำทรัพย์สินทางปัญญานั้นไปดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และได้ดำเนินการติดต่อที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทที่ปรึกษา ทนายความ เพื่อจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จัดตั้งบริษัท จัดทำแผนธุรกิจ โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามเอกสารสัญญา ประมาณ 100,000 บาท ดังนั้นต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจจากทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงเท่ากับ 100,000 บาท

ดังนั้นมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการรายดังกล่าวนี้ จึงมีผลลัพธ์ในมูลค่าตามวิธีต้นทุนจากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ เท่ากับ 2,400,000 + 120,000 + 240,000 + 500,000 + 240,000 + 120,000 + 36,000 + 100,000 เท่ากับ 3,756,000 บาท หรือประมาณ 3,800,000 บาท

จากราคาประเมินดังกล่าวหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน อาจจะยอมรับมูลค่าในทุกๆรายการหรืออาจเพียงบางรายการก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าผู้ประกอบการมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือก็มักจะไม่เกิด ข้อโต้แย้งขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการได้จ่ายไปแล้วจริงและมีหลักฐานอ้างอิงที่ ยอมรับได้

ตามที่กล่าวมาในตอนที่แล้วว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยพอใจ เกี่ยวกับมูลค่าราคาทรัพย์สินทางปัญญาที่มาจากวิธีต้นทุน เพราะมีความแตกต่างของมูลค่าเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าที่คิดตามวิธีรายได้ มาก เช่น ตามวิธีต้นทุนมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาอาจอยู่ระดับ 3-4 ล้านบาท แต่มูลค่าตามวิธีรายได้อาจอยู่ถึงหลายสิบล้านบาทหรือหลักร้อยล้านบาท อันเนื่องจากประมาณการรายได้ที่สูงเกินไป

ในขณะที่กำหนดอัตราคิดลดกระแสเงินสด (Discount Rate) ที่ต่ำจนเกินไป ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาตามวิธีรายได้มีมูลค่าสูงจนอาจถึง สูงเกินจริง ทำให้ผู้ประกอบการมักจะขอเลือกใช้มูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาของตนจากวิธี รายได้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงแล้วสิ่งที่ผู้ประกอบการลงทุนไปจริงในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา นั้นก็อยู่ที่ 3-4 ล้านบาท หรืออาจจะน้อยกว่าจากมูลค่าตามที่คำนวณตามวิธีต้นทุนเสียอีก

และวีธีต้นทุนดังกล่าวนี้จะเป็นวิธีที่เหมาะสมหรือง่ายต่อการตีมูลค่าเป็น ทุนของธุรกิจ เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนแท้จริงของธุรกิจอันได้มาซึ่งทรัพย์สิน ทางปัญญานั้น ซึ่งถ้าผู้ประกอบการเก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆไว้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เช่น เอกสารใบเสร็จรับเงิน เอกสารสัญญา เอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็จะทำให้มีความน่าเชื่อถือในที่มาของต้นทุนที่กำหนดได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งในส่วนที่ขาดก็ยังอาจสามารถเปรียบเทียบจากข้อมูลหรือแหล่งที่มาของ ค่าใช้จ่ายได้โดยง่าย ยกเว้นส่วนของค่าแรงหรือค่าความคิด ซึ่งบางครั้งพบว่าผู้ประกอบการบางรายกำหนดขึ้นจนเกินจริงเกินกว่าที่จะยอม รับได้ เช่น บอกว่าอัตราค่าแรงจากค่าความคิดของตนเท่ากับเดือนละ 500,000 บาท หรือบอกว่าตนเองพัฒนามาแล้วเป็นเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี จึงขอคิดค่าแรงเดือนละ 500,000 บาทนี้ เป็นเวลา 10 ปี หรือเท่ากับ 60 ล้านบาท ทำให้ยากที่จะเป็นที่ยอมรับได้ต่อบุคคลภายนอก

เกี่ยวกับประมาณการหรือสมมติฐานดังกล่าว ซึ่งโดยปกติแล้วค่าแรงหรือค่าความคิดควรใกล้เคียงกับอัตราค่าจ้างในตลาด รวมถึงเวลาในการพัฒนาที่ยอมรับโดยทั่วไปที่ใช้ จะอยู่ไม่เกินประมาณ 3 ปี แต่ก็อาจอนุโลมได้ถึง 5 ปี ถ้าทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีความซับซ้อน แต่ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับการพัฒนาต้นแบบของทรัพย์สินทางปัญญาที่ เป็นที่น่าเชื่อถือด้วย

จะเห็นได้ว่าในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ การกำหนดมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีต้นทุน จึงเหมาะสมกว่าการกำหนดมูลค่าด้วยวิธีรายได้ เพราะสะดวกต่อการบันทึกบัญชีเป็นทุนของธุรกิจในส่วนสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เนื่องจากสามารถสอบย้อนข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนที่จ่ายไป และถ้าผู้ประกอบการหรือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการเก็บหรือบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ก็จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องของมูลค่าหรือต้นทุนการได้มา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตของธุรกิจสามารถลงนามรับรองงบการ เงินของธุรกิจ ในเรื่องของการนำมาใช้เพื่อเป็นทุนของธุรกิจ และยังขจัดข้อโต้แย้งระหว่างตัวผู้ประกอบการกับหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน ได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตามควรมีการใช้ราคาประเมินตามวิธีรายได้ประกอบการพิจารณาด้วย เพราะส่งผลในการพิจารณาให้ส่วนล้ำมูลค่าหุ้น (Premium) หรือการพิจารณาในการเพิ่มข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา ในกรณีที่มีประมาณการรายได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตามวิธีรายได้ เช่น ในเรื่องของมูลค่าหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน หรือการเพิ่มวงเงินสนับสนุนจากหน่วยงานหรือสถาบันการเงิน ถ้าทรัพย์สินนั้นสามารถสร้างรายได้ตามประมาณการที่กำหนด โดยผู้ประกอบการอาจขอให้มีการพิจารณาในการสนับสนุนหรือมีการประเมินราคา ทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นรายปี เพื่อพิจารณาว่ามูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาของตนนั้นในแต่ละปีมีมูลค่าเปลี่ยน แปลงไปเท่าใด

แต่มิใช่เป็นการยืนยันตั้งแต่เริ่มต้นของผู้ประกอบการที่จะต้องให้ใช้ราคา ประเมินตามวิธีรายได้ที่กำหนดตั้งแต่แรกป็นหลักสำคัญ ในการกำหนดวงเงินสนับสนุนจากหน่วยงานหนือสถาบันการเงิน เพราะประมาณการดังกล่าวก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คาดเดาเอา จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจไม่เป็นไปไปตามที่คาดหวังและเป็นความเสี่ยงสำคัญของทางหน่วยงานหรือ สถาบันการเงินในการพิจารณา จนทำให้เกิดปัญหาในการสนับสนุนทางการเงินจากทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเฉกเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญากับการทำ ธุรกิจ จะเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ ในการนำทรัพย์สินทางปัญญาของตนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ว่าควรมีการดำเนินการอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหา และสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้นในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น