ads head

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

เปิดสูตรเด็ด...ขอดเกล็ด"เซียน" แกะรอย"เสี่ย"

เปิดสูตรเด็ด...ขอดเกล็ด"เซียน" แกะรอย"เสี่ย" 

ที่มา  http://nidaitmcontest2.org/article/ar-NIDAITM-CONTEST2-SET7.html
ช่วงที่หุ้นบูมมากๆ ในปี 46 วงเงินหมุนเวียนของ "กมล เอี้ยวศิวิกูล" ในตลาดหุ้นสูงกว่า 3,000 ล้านบาท และปีนี้เขาก็ยอมรับว่าติดหุ้นอยู่กว่า 1,000 ล้านบาท
แม้ชื่อของ "กมล เอี้ยวศิวิกูล" จะติด 1 ใน 50 อันดับนักลงทุนรายใหญ่ระดับประเทศ แต่กมลก็ย้ำอยู่ตลอดว่าเขาไม่ใช่..."เซียนหุ้น" เป็นเพียงนักลงทุนรายใหญ่คนหนึ่งในตลาดหุ้นเท่านั้น

กมลประกาศล้างมือใน"อ่างทองคำ"ชั่วคราว เพื่อเอาเวลาส่วนใหญ่ทุ่มเทให้กับ"ไมด้า แอสเซ็ท" และ"ไมด้า ลิสซิ่ง" อย่างเต็มที่
ช่วงที่เอาหุ้นไมด้า แอสเซ็ท(MIDA) เข้าตลาดเมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2546 กมลบอกว่าชีวิตก็ติดพันกับตลาดหุ้นมาตลอด จนแทบไม่ได้ทำงานประจำ เพราะฉะนั้นผลประกอบการที่ออกมาจึงต่ำกว่าเป้าหมาย...."ผมก็เลยคิดว่าควรเลิกเล่นหุ้นซักพักดีกว่า"

ประเด็นที่ถูกนักเล่นหุ้นในวงการตั้งข้อสังเกตกันก็คือ จริงหรือไม่ที่ "มังกรแซ่เอี้ยว" หมดเขี้ยวเล็บแล้ว เพราะ"ติดหุ้น"จำนวนมาก
ในฐานะลูกผู้ชายตัวจริง กมลยืดอกรับอย่างไม่ปิดบังว่า "ตอนนี้ติดหุ้นอยู่ 1 พันล้านเศษ"
"กำไรขาดทุนผมไม่ได้ซีเรียส ทุกคนก็มองว่าผมติดหุ้นรึเปล่า...ก็ติดจริง ที่ติดตรงนั้นก็พร้อมที่จะติดไป 10 ปีเพราะนั่นคือกำไรที่ผมได้มาเมื่อปี 2546 ได้กำไรใกล้ๆ 1,000 ล้าน ตอนนี้ก็เอากำไรไปติด ไม่ได้ซีเรียสอะไร"

"หุ้น MIDA ที่ติดอยู่ไม่คิด เพราะตัวนี้ผมถือยาว....BEC น่ะใช่ผมติด BEC จริงๆผมตั้งใจซื้อเพื่อการลงทุนตั้งแต่ต้น เฉพาะ BEC ผมลงทุนไปเยอะตัวนี้ติดอยู่เกือบ 600 ล้าน

VIBHA ผมซื้อเพื่อลงทุน เป็นพันธมิตรทำธุรกิจด้วยกัน หุ้น FNS ยอมรับว่าซื้อเพื่อเก็งกำไร ตอนนั้นคิดว่าเขาจะได้เป็น"ยูนิเวอร์แซล แบงกิ้ง" แต่มันไม่ได้ หุ้น KMC เป็นเรื่องที่ได้ข่าว"อินไซด์"ผิด

หุ้น DISTAR ได้รับการจัดสรรหุ้นจอง SPACK ก็ได้หุ้นจองติดตั้งแต่วันแรกที่เปิดเทรด KGI ที่ติดตอนนั้นมันมีข่าว"อินไซด์"อะไรผมจำไม่ได้ ส่วน TYCN ตัวนี้ก็ติด...ที่ติดยังมีมากกว่านี้"กมลแจกแจงให้ฟัง

เขาเล่าว่าตอนที่ซื้อ TYCN มีคนบอกว่าหุ้นตัวนี้มีคนเก็บเยอะ ช่วงที่เล่นหนักๆ ถ้าผมซื้อหุ้นตัวไหนแค่ 50-60 ล้านบาท ถือว่าน้อย อย่างหุ้น BEC ผมซื้อไปเกือบ 600 ล้านบาท ตอนที่ซื้อ BEC เพราะมองว่าหุ้นตัวนี้จ่ายปันผลใช้ได้ ตอนซื้อก็ไม่คิดว่าจะมี "ไอทีวี" ไม่รู้ว่าไตรภพ(ลิมปพัทธ์) จะไปอยู่ไอทีวี
ขณะให้สัมภาษณ์อยู่นั้นมีมาร์เก็ตติ้งคู่ใจโทรเข้ามาเป็นระยะๆ....
"เมื่อเช้ามาร์เก็ตติ้งมาชวนให้ผมซื้อหุ้น MS เขาโทรมาถามว่าจะขายรึยัง ผมบอกว่าวันนี้จะเอาเงินไปเที่ยวกำไร 2-3 สตางค์(หลังหักค่าคอมมิชชั่น)ก็พอ กะว่าได้กำไรซักแสนกว่าบาท วันนี้ก็ได้มา 3 หมื่นกว่าบาท"เขาเล่าให้ฟังโดยไม่ปิดบัง และบอกว่าเดี๋ยวนี้เล่นหุ้นหวังกำไรแค่พอเที่ยวไปวันๆ

ประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการหุ้นนานกว่าสิบปี ความผิดปกติของหุ้นตัวไหนแทบจะไม่รอดพ้นสายตาเหยี่ยวของกมลไปได้ "แค่ดูวอลุ่มการซื้อขายผมก็รู้แล้วว่าหุ้นตัวนี้กำลังผิดปกติ มีคนเข้ามาเก็บอยู่"

เขาสอนวิธีจับสังเกตวอลุ่มอย่างง่ายๆ สมมติว่าหุ้นตัวนี้เคยเทรดอยู่วันละ 1-2 ล้านหุ้น อยู่ดีๆวิ่งไป 15 ล้านหุ้น อย่างนี้บอกได้เลยว่าหุ้นตัวนี้มีคนเข้ามาเก็บ ต่อให้คุณมีข่าวดียังไง แล้วคุณประกาศออกมาแค่ไหน ถ้าไม่มีใครไปทำวอลุ่ม มันก็เทรดขนาดนั้นไม่ได้..."โดยธรรมชาติมันเป็นไปไม่ได้เลย"
เทคนิคที่เขาใช้ในการเล่นหุ้น"ระยะสั้น"(ตามน้ำ) เริ่มแรกจะต้องเลือกหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคป"ขนาดกลาง"(4,000-5,000 ล้าน)ขึ้นไป ถ้าเลือกหุ้นที่มีขนาดเล็กเกินไป..."จะออกไม่ได้" จากนั้นก็ไปเช็คดูว่าหุ้นตัวนี้บริษัทเคยประกาศข่าวดีอะไรออกมา ดีที่สุดคือ "ข่าวผลประกอบการ" หรือ "ซื้อกิจการ"
"จากนั้นก็ให้สังเกตดูวอลุ่ม ถ้ามีวอลุ่มผิดปกติ คุณอย่าเพิ่งรีบเข้า ให้ไปเช็คดูก่อนว่าราคามันวิ่งไปแล้วเท่าไร(ดูว่าเราเสียเปรียบต้นทุนคนอื่นมากรึไม่) ถ้าราคายังไปไม่ไกลก็"เก็บ" ไปขายพรุ่งนี้ หรืออีก 2-3 วัน ยังไงก็ไม่ขาดทุน เล่นหุ้นอย่างนี้ผมบอกเลยว่าคุณมีโอกาสพลาดน้อยมาก "แต่ต้องเร็ว" ยกเว้นตลาดมี Panic ถึงจะติด"
กมลย้ำว่าเทคนิคแบบนี้เราต้องรู้"ต้นทุน"ของรายใหญ่ว่าเท่าไร เสี่ยงหรือไม่เสี่ยงต้องไปดูประวัติของหุ้นว่าเคยขึ้นไปเท่าไร แล้วเคยลงไปเท่าไร ถ้าหุ้นขึ้นไปแล้ว"วอลุ่มโป่ง"ถ้ารีบร้อนเข้าก็มีโอกาส"ติด"

เขาบอกว่าตลาดหุ้นเมืองไทยวันนี้เปลี่ยนไปเยอะ สมัยก่อนถ้าเล่นกันอย่างชาวบ้านถ้าวันนี้ขึ้นไปชนซิลลิ่ง พรุ่งนี้จะไปต่อ แต่ทุกวันนี้ถ้าหุ้นตัวไหนเช้าขึ้นไปชนซิลลิ่ง บ่ายต้องรีบขายทิ้ง พอข่าวดีออกก็ต้องรีบทิ้ง

ปีที่แล้วพวกรายใหญ่ที่เล่นเร็วๆ เขาจะใช้วิธีสร้างวอลุ่ม"ล่อ"พวก"ตามแห่" เขาจะเล่นแบบ"เดย์เทรด" เล่นเน็ตเซ็ทเทิลเมนท์ซื้อเช้าขายบ่าย แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่เล่นเน็ตเซ็ตเทิลเมนท์กันแล้ว ที่เขาเล่น คือ "โอเวอร์ไนท์" ซื้อวันนี้ขายพรุ่งนี้ จะใช้วิธีให้เพื่อนร่วมก๊วนเข้าไปช่วยๆ กันเก็บหุ้นตัวหนึ่งในตลาด พรุ่งนี้ก็ "เปิดยก" เช่น ซื้อถัวเฉลี่ยที่ต้นทุน 5 บาท เปิดยกที่ 5.50 บาท ถ้ามีคนตาม(แห่)ก็ออกของ อย่างนี้เขาเรียกว่า "โอเวอร์ไนท์" ส่วนใหญ่เซียนทางใต้จะเล่นกัน

"สมัยก่อนผมเล่นหุ้นหนักๆว่างเมื่อไรก็จะดูจอ(คอมพิวเตอร์) เขา Offer มา 4 ล้านหุ้น ผมเคาะหมดเลย 4 ล้าน ผมพอใจซื้อก็ซื้อเลย รวบหมดทุกช่อง(ราคา) ถ้าดีก็เก็บเลยไม่มีการตั้งรับ ถ้าเป็นราคาที่อยากขายก็ทิ้งยกล็อต แต่ ณ วันนี้ตลาดเล็กลง ไม่เหมือนปีที่แล้ว(2546) เวลาคุณตั้ง Bid เยอะคนกลัว ถ้าหุ้นตัวไหนเจ้าของไม่ค่อยมายุ่งก็หากินไปวันๆ หุ้นบางตัวมันผิดปกติจริง แต่คนเล่นหน้าตักไม่ใหญ่ พอเราเข้าไปซื้อเยอะมันก็ถอย เห็นคนมารวบช่องละแสนหุ้น ก็ไม่กล้าไล่ต่อ...ตลาดอย่างนี้เล่นยาก"
เมื่อถามว่าหลักการลงทุนของคุณกมลเป็นอย่างไร? เขาตอบว่า "ผมไม่มีหลัก ชอบป่วนเขาไปทั่ว หุ้นตัวไหนถ้ากล้าลากขึ้นยาวๆ...เสร็จผมหมด ถ้าไม่ยาวจริงเราก็ติด จริงๆ ผมเล่นหุ้นเล่นด้วยใจอย่างเดียว ได้ก็ได้ เสียก็เสีย แต่อย่างหนึ่งเลยที่ต้องทำให้ได้ ก็คือ เงินตรงนี้ถึงสูญไปคุณก็ไม่เดือดร้อน ธุรกิจคุณต้องไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคุณไปเล่นมาร์จิน คุณเอาเงินธุรกิจมาเล่น วันหนึ่งก็ตาย ผมไม่เคยเอาเงินจากธุรกิจมาเล่นหุ้น"

ในกรณีที่เป็น"นักลงทุนรายย่อย" ถ้าอยากเอาชนะ"เซียนหุ้น" หรือพวก"รายใหญ่"จะต้องเล่นหุ้นด้วยสไตล์อย่างไร?

กมล อธิบายว่า จะเอาชนะรายใหญ่ยาก แต่เล่นตามน้ำทำได้ มีกฎอยู่ข้อเดียว..."คุณอย่าโลภ"(เด็ดขาด) พอใจขายเท่าไรก็ขายอย่า"กั๊ก" วันนี้คุณพอใจกำไร 5 พัน หรือ 1 หมื่น ถึงแล้วก็ขายมันจะไปอีกเท่าไรก็ช่างมัน เล่นหุ้นอย่างนี้อยู่รอด แต่เมื่อไรที่"คุณโลภ...คุณเจ๊ง"
"ตลาดหุ้นบ้านเราผมรู้มาว่ามาร์เก็ตแคปประมาณ 4 ล้านล้าน ครึ่งหนึ่งถูกเก็บโดย "เจ้าของ" 2 ล้านล้าน แต่วอลุ่มการเทรดของต่างชาติรวมทั้งกองทุน และเฮดจ์ฟันด์ มันอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้าน แล้วผมถามว่า..ใคร? คือผู้กำหนดโชคชะตาตลาดหุ้นไทย มันอยู่ที่ฝรั่ง วันไหนถ้าคุณซื้อหุ้นตามก้นฝรั่งคุณตาย เพราะถ้าคุณไม่มีเวลานั่งเฝ้าหน้าจอทั้งวัน คุณสู้ฝรั่งไม่ได้หรอก"

เขาแนะนำว่าถ้าจะเล่นสั้นต้องอาศัยดูหน้าจอบ่อยๆ สังเกตวอลุ่มถ้าเห็นหุ้นตัวนี้วอลุ่มวันนี้ผิดปกติ คุณก็ตามเขาไป เข้าไปเก็บครั้งละ 1-2 หมื่นหุ้น ค่อยๆ เคาะไป เขาไม่แตกตื่น ไม่ต้องเลือกหุ้นตัวใหญ่มาก พอได้ราคาตามที่คุณพอใจก็ขาย แต่ต้องไว ถ้ามีเงิน 5 แสน ได้กำไรวันละ 3-5 พันก็แฮปปี้แล้ว ถ้าคุณชำนาญแบบนี้ คุณก็หากินไปได้เรื่อยๆ รายใหญ่ก็ถือว่าคุณมาร่วมแจม เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

กมลย้ำอีกครั้งว่า ถ้าต้องการอยู่รอดในตลาดหุ้นไปตลอดต้อง "พอใจกับกำไรที่แน่นอน" ในปี 2546 เล่นหุ้นตัวไหนก็ได้กำไร ก็เพราะกำไรที่ได้มาง่ายเกินไป จึงมีส่วนทำให้ใน 2547 ต้องติดหุ้นจำนวนมาก ลืมตัวไปกับแนวทางการลงทุนที่ได้กำไรมาอย่างง่ายๆ..."ถ้าผมเล่นหุ้นเหมือนเดิม ไม่มีติดหุ้นมากขนาดนี้แน่นอน"
โดยปกติรายใหญ่ที่ต้องการ "สร้างราคาหุ้น" (ถ้าต้องการลากยาวๆ) เขาจะต้องทำให้เกิด "วอลุ่ม" ก่อน มันเป็นกฎขั้นพื้นฐาน พอเกิดวอลุ่มแล้ว ก็ต้องทำต่อเนื่องให้รายย่อยรู้สึก "สงสัย"ว่าบริษัทน่าจะมีข่าวดี เรื่องแบบนี้นอกจากต้องมีวอลุ่มแล้ว ขณะเดียวกันต้องมีการ "ปล่อยข่าว" พอถึงเวลามีคนมาร่วมแจมก็ "ออกของ"
"คนเล่นหุ้นถ้ารู้มากที่สุด คุณก็เสียเปรียบเขาน้อยที่สุด ผมยืนยันว่าถ้าเล่นหุ้น โดยอ่านเกมเขาไม่ออกคุณตกเป็นเหยื่อเขาได้ง่ายๆ ถามว่าชีวิตผมเคยไปเกลือกกลั้วกับขบวนการสร้างราคาหุ้นมั๊ย...ตอบว่าไม่เคย แต่ผมคิดว่ารู้ทันคนพวกนี้ ก็ไปขอแบ่งปันกำไรมาใช้บ้าง ถ้าเข้าจังหวะผิดก็ติด"

เพราะฉะนั้นการเล่นหุ้นให้ได้กำไร "จังหวะ"การซื้อขายสำคัญที่สุด ถ้าเป้าหมายของคุณ คือ ลงทุนระยะสั้นสิ่งที่คุณต้องดูอันดับแรก คือ "วอลุ่ม"
กมล อธิบายว่าสไตล์ที่เขาใช้ในระยะหลังจะไม่ค่อยเล่นหุ้นตามวอลุ่ม เพราะกฎของมันคือ"จะต้องเร็ว" ถ้าจะเล่นหุ้นแบบนี้ จะเอากำไร 1-2 แสนไปเที่ยวมากกว่า เพราะเล่นหุ้นตามวอลุ่มต้องมีเวลาเฝ้าตลาดทั้งวัน ถ้าต้องทำงานประจำด้วยจะตามตลาดไม่ค่อยทัน

"ถ้าผมไม่มีเวลานั่งเฝ้าหุ้นทั้งวัน ผมจะใช้วิธี..."ซื้อหุ้นก่อนคนอื่น" จะเลือกหุ้นขนาดกลาง(ขึ้นไป)ที่พอมีสภาพคล่อง ดูประวัติการดำเนินงานย้อนหลัง(เน้นว่าต้องมี Growth) จากนั้นก็ไปดูว่าหุ้นตัวนี้เคยถูกไล่ขึ้นไปสูงสุดเท่าไร วันนี้ราคามันตกมาแล้วเท่าไร พอช่วงใกล้ๆ จะประกาศงบการเงินไตรมาส 3(กลางเดือนพฤศจิกายน) ก็พอจะคาดเดาได้ว่าหุ้นตัวนี้น่าจะประกาศงบออกมาดี ก็จะเข้าไปซื้อทิ้งเอาไว้ 2 เดือน 3 เดือนเดี๋ยวมันก็ขึ้น เล่นหุ้นเป็นรอบๆ อย่างนี้ผมได้กำไรตลอด"

ในวงการนักเล่นหุ้นระดับบนความจริงใจบางครั้งก็มีผลประโยชน์แอบแฝง แม้จะถูกนักเล่นหุ้นมองว่ากมลเต็มไปด้วย "เขี้ยวเล็บ" แต่เขาก็เคยถูกเซียนในวงการหุ้น "หลอก" เหมือนกัน

"ถ้าจะให้ผมเล่า...อย่าถามว่าเขาเป็นใคร ถ้าเอ่ยชื่อทุกคนน่าจะรู้จัก เพราะเขามีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกับผม"

กมลเริ่มต้นเล่าว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ผมไม่เคยรู้จักเขาส่วนตัวมาก่อน ได้ยินชื่อเสียง ได้ยินธุรกิจของเขา วันหนึ่งผมก็ไม่ทราบว่าเขารู้จักลูกน้องผมได้ยังไง เขาให้คนใกล้ชิดมาคุยกับลูกน้องผม แล้วเชิญผมไปกินข้าว ก็ไปรู้จักกัน เท่าที่คุยรู้สึกเป็นกันเองมาก ก็คบกันมา เขาก็มีหุ้นอยู่ในตลาดเหมือนกัน เขาพูดตรงๆ ว่าถ้าเงินคุณนิ่งๆ ก็ช่วยเก็บหุ้นผมหน่อย...
คนเราอยู่ในวงการเดียวกัน วันหนึ่งถ้าคุณกับผมเป็นเพื่อนกันแล้ว นัดกินข้าวกัน แต่เขาทำตัวรีบร้อนมากบอกว่าวันนี้จะขอตัวไปก่อน จะไปเซ็นสัญญาร่วมทุนกับอีกบริษัทหนึ่ง แต่ตอนกินข้าวเราคุยกันถึงหุ้นของเขาในตลาด เขาอยากให้ผมช่วยเก็บ ด้วยความสนิทสนมที่เราไม่ได้คิดอะไรเลย ผมก็เข้าไปซื้อหุ้นตัวนี้ค่อนข้างเยอะ

กมลเล่าต่อว่ามารู้ทีหลังว่า "ดีลร่วมทุน" ครั้งนั้นไม่เคยมีการพูดถึงมาก่อนเลย ถ้ามันมีการดีลกันจริง แล้วไม่เกิด หรือไม่ดันต่อ ผมไม่ถือว่า..."ผมโง่" แต่ดีลนี้เป็นการกุข่าวให้ผมเข้าไปเก็บหุ้นของเขา เล่นละครทั้งหมด นี่คือบทเรียนราคาแพงครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผมเจอ..และต้องจดจำ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น