ads head

วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556

มาเป็นนักลงทุนระยะยาวกันเถอะ: Evidence from the Stock Exchange of Thailand

มาเป็นนักลงทุนระยะยาวกันเถอะ: Evidence from the Stock Exchange of Thailand

แนวทางการลงทุนในหุ้นนั้น มีหลายรูปแบบนะครับ ส่วนใหญ่รูปแบบที่คนไทยเรานิยมกัน
ก็คือการ “เล่นหุ้น” หรือการซื้อ-ขายหุ้น เพื่อทำกำไรในระยะเวลาสั้นๆ
คำว่าสั้นนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนครับ อาจจะสั้นในระดับหลายเดือน จนสั้นแค่ไม่กี่นาทีก็ยังได้
โดยเฉพาะตลาดหุ้นในช่วงนี้ (ส.ค. 52) เป็นตลาดที่เราจะมีนักลงทุนประเภทนี้เกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ
เพราะตลาดอยู่ในช่วงสวิงตัวขึ้น แบบค่อนข้างหวือหวา หุ้นหลายตัวสามารถจะทำผลตอบแทน
รายวันได้ 5-6% ต่อๆ กันเป็นเรื่องธรรมดา

ผู้ที่จะลงทุนในแนวทางนี้ ก็ต้องมั่นใจว่าตัวเองมีทักษะที่ดี มีเครื่องมือที่ดีในการอ่านภาวะตลาด หรืออ่านแนวโน้มราคาของหุ้นนั้น ที่สำคัญคือ ต้องมีวินัยที่ดีมากๆ ราคาหุ้นในระยะสั้นนั้น แทบไม่ได้อิงกับผลการดำเนินงานของบริษัทเลย  อีกแนวทางหนึ่ง ก็คือแนวทางการลงทุนที่อาศัยปัจจัยพื้นฐาน
เป็นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีศักยภาพ และเรารู้ว่าเราสามารถซื้อหุ้นนั้นได้ ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น

การถือลงทุนของเราในหุ้นเหล่านี้ ก็มักจะเป็นการถือลงทุนในระยะยาว เพื่อรอให้กิจการที่เราเลือกมาอย่างดี ได้แสดงศักยภาพของมันในเวทีการแข่งขัน แล้ววันหนึ่งที่ผลประกอบการของบริษัทเติบโตขึ้น
ความสามารถนั้น ก็จะสะท้อนออกมาในราคาหุ้นที่สูงขึ้น

นักลงทุนระดับโลกที่มีแนวทางการลงทุนแบบนี้ก็เช่น Warren Buffet
ซึ่งสามารถทำผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยต่อปี ได้ที่ราวๆ 20% ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี
หรือในประเทศไทยเอง เราก็มี ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

นอกจากนั้น นักลงทุนรุ่นใหม่ๆ หลายคนก็ยังหันมาให้ความสนใจลงทุนแนว VI นี้มากขึ้น
นักลงทุนที่จะลงทุนในแนวนี้ ก็จะต้องเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับการศึกษาค้นคว้า อย่างน้อย ก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจในหุ้นที่ตัวเองลงทุนดีมากๆ คนหนึ่ง และวินัยก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน อีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้มากๆ เป็นแนวทางการลงทุนที่ค่อนข้างจะเป็นในรูปแบบเชิงรับ หรือ Passive Investing คือตัวผู้ลงทุนอาจจะไม่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญมาก ในการคัดเลือกหุ้น
แต่อาศัยการลงทุนในกองทุนรวม ประเภทที่มีการบริหารให้ได้ผลตอบแทนในทิศทางเดียวกับดัชนี
อาจจะเป็นกองทุนดัชนี (Index Fund) หรือเป็นกองทุนหุ้นที่มักมี NAV เคลื่อนไหวตามดัชนีก็ได้
นักลงทุนกลุ่มนี้ อาจจะเป็นคนทำงานที่ลงทุนเป็นประจำผ่านกองทุนประเภท LTF และ RMF
ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ผมค่อนข้างห่วงเป็นพิเศษ เพราะเงินก้อนนี้ มักเป็นเงินก้อนสำคัญ
และนักลงทุนกลุ่มนี้ มักไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากนัก เมื่อมาลงทุน ต้องอยู่ภายใต้ภาวะตลาด
ที่ผันผวน อาจจะทำให้ตัดสินใจหลายๆ อย่างผิดพลาด เช่น
.
  • อดทนไม่ได้ที่เห็นตลาดลงมาก จนขายกองทุนทิ้งจนหมด
    แม้ว่าจะยังไม่ได้รีบใช้เงินก็ตาม

    .
  • ซื้อแพงขายถูก เพราะอารมณ์บงการ เช่นการ
    ซื้อกองทุนเพิ่มอย่างมาก ในขณะที่ตลาดเป็นบวก (ซึ่งมีแนวโน้มสูง ที่ตลาดจะลง) หรือ
    ขายกองทุนทิ้งอย่างมาก ในขณะที่ตลาดเป็นลบ (ซึ่งมีแนวโน้มสูง ที่ตลาดจะขึ้น)

    .
  • เน้นเลือกกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนระยะสั้นๆ สูงๆ เป็นหลัก
    โดยไม่ได้สนใจปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะความสม่ำเสมอของผลตอบแทนระยะยาวๆ

    .
  • เมื่อครบกำหนดเงื่อนไข LTF ก็จะขายกองทุนทิ้งทันที ทั้งที่ยังไม่ได้รีบใช้เงิน
    จนทำให้อาจสูญเสียโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม

    .
ประเด็นที่ผมอยากจะเน้นในบทความนี้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ลงทุนแนว Passive อยู่ คือ
  1. อยากให้กำหนดเป้าหมายในการลงทุนระยะยาวให้ชัดเจน
    เรื่องของ Time Horizon ในการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญมาก
    ระยะเวลาการลงทุนที่ยาว มักจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดี และสามารถจำกัดการสูญเสียได้มาก

    .
  2. อยากจะให้นักลงทุนเชื่อว่า ผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว
    เช่นประมาณ 7-8% ต่อปีนั้น สามารถที่จะทำได้ หากเรามีวินัยเพียงพอ

    .
  3. กองทุนรวมหุ้น ธรรมดาๆ นี่แหละครับ ก็สามารถทำให้เรามีผลตอบแทนที่ดีได้
    แม้จะไม่เท่ากับการลงทุนแบบ Active แต่ก็น่าจะเพียงพอกับการใช้จ่ายในอนาคต

    .
ข้อมูลด้านล่างนี้ เป็นข้อมูลประกอบนะครับ ว่าทำไมผมถึงชวนให้มาลงทุนระยะยาวกัน
โดยเฉพาะถ้าเราไม่ค่อยมีความรู้มาก แต่อยากมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
.
ผลตอบแทนย้อนหลังของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
สมมติฐานอย่างคร่าวๆ
.

..- ผลตอบแทนนี้คำนวณจากข้อมูลเผยแพร่ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
..- ผลตอบแทนที่แสดงเป็นผลตอบแทนที่รวมทั้ง Capital Gain Yield และ Dividend Yield เข้าด้วยกันแล้ว
..- ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนรายปีทั้งหมดที่แสดงในกราฟและตาราง
....เป็นค่าเฉลี่ยแบบ Geometric Mean หรือเทียบเท่ากับผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปี
..- ผลตอบแทนที่แสดงเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นการลงทุนแบบลงทุนครั้งเดียว
....แล้วให้เงินเติบโตจนถึงระยะเวลาที่กำหนด
..- การลงทุนและการคำนวณต่างๆ สิ้นสุดลง ณ สิ้นปี 2008
.
กรณีที่ 1 : ระยะเวลาการลงทุน 1 ปี
.

1 Year - Holding Period
.
ที่มาhttp://a-academy.net/2009/08/26/set-long-term/
จากกราฟ ถ้าเราลงทุนใน SET เป็นเวลา 1 ปี โดยการเริ่มลงทุน ณ ต้นปีที่ 1 และขาย ณ ปลายปีที่ 1
ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดทำการมา จนถึง ปี 2008
เราจะสามารถจำลองการลงทุนได้ 34 ครั้ง
ใน 34 ครั้งนี้ เราจะได้ผลตอบแทนเป็นบวก 20 ครั้ง เป็นลบ 14 ครั้ง (บวก 59% ลบ 41%)
.
กรณีที่ 2 : ระยะเวลาการลงทุน 5 ปี
.

5 Years - Holding Period
.
จากกราฟ ถ้าเราลงทุนใน SET เป็นเวลา 5 ปี โดยการเริ่มลงทุน ณ ต้นปีที่ 1 และขาย ณ ปลายปีที่ 5
(ตัวอย่างเช่น จากกราฟ ตัวเลขปี 2005 หมายถึง เราเริ่มลงทุน ณ ต้นปี 2001 และขาย ณ ปลายปี 2005)
ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดทำการมา จนถึง ปี 2008
เราจะสามารถจำลองการลงทุนได้ 29 ครั้ง
ใน 29 ครั้งนี้ เราจะได้ผลตอบแทนเป็นบวก 22 ครั้ง เป็นลบ 7 ครั้ง (บวก 76% ลบ 24%)
.
กรณีที่ 3 : ระยะเวลาการลงทุน 10 ปี
.

10 Years - Holding Period
.
จากกราฟ ถ้าเราลงทุนใน SET เป็นเวลา 10 ปี โดยการเริ่มลงทุน ณ ต้นปีที่ 1 และขาย ณ ปลายปีที่ 10
(ตัวอย่างเช่น จากกราฟ ตัวเลขปี 2000 หมายถึง เราเริ่มลงทุน ณ ต้นปี 1991 และขาย ณ ปลายปี 2000)
ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดทำการมา จนถึง ปี 2008
เราจะสามารถจำลองการลงทุนได้ 24 ครั้ง
ใน 24 ครั้งนี้ เราจะได้ผลตอบแทนเป็นบวก 17 ครั้ง เป็นลบ 7 ครั้ง (บวก 71% ลบ 29%)
.
กรณีที่ 4 : ระยะเวลาการลงทุน 15 ปี
.

15 Years - Holding Period Return
.
จากกราฟ ถ้าเราลงทุนใน SET เป็นเวลา 15 ปี โดยการเริ่มลงทุน ณ ต้นปีที่ 1 และขาย ณ ปลายปีที่ 15
(ตัวอย่างเช่น จากกราฟ ตัวเลขปี 2005 หมายถึง เราเริ่มลงทุน ณ ต้นปี 1991 และขาย ณ ปลายปี 2005)
ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดทำการมา จนถึง ปี 2008
เราจะสามารถจำลองการลงทุนได้ 19 ครั้ง
ใน 19 ครั้งนี้ เราจะได้ผลตอบแทนเป็นบวก 18 ครั้ง เป็นลบ 1 ครั้ง (บวก 95% ลบ 5%)
.
กรณีที่ 5 : ระยะเวลาการลงทุน 20 ปี
.

20 Years - Holding Period Return
.
จากกราฟ ถ้าเราลงทุนใน SET เป็นเวลา 20 ปี โดยการเริ่มลงทุน ณ ต้นปีที่ 1 และขาย ณ ปลายปีที่ 20
(ตัวอย่างเช่น จากกราฟ ตัวเลขปี 2005 หมายถึง เราเริ่มลงทุน ณ ต้นปี 1986 และขาย ณ ปลายปี 2005)
ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดทำการมา จนถึง ปี 2008
เราจะสามารถจำลองการลงทุนได้ 14 ครั้ง
ใน 14 ครั้งนี้ เราจะได้ผลตอบแทนเป็นบวก 14 ครั้ง เป็นลบ 0 ครั้ง (บวก 100% ลบ 0%)
.
สรุปผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาว
.

Returns Summary
จะเห็นว่าจากการทดลองจำลองการลงทุน ระยะยาว ทั้ง 5 รูปแบบดังกล่าว
ระยะเวลาการลงทุนใน SET ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด คือระยะเวลา 1 ปี มีผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 18.65%
แต่สิ่งที่ยอมรับไม่ได้คือค่าความเสี่ยง หรือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (STDEV) สูงถึง 45.07%
ค่า STDEV นั้น เป็นค่าที่บอกว่า ค่าเฉลี่ยค่านี้มีความผันผวนสูงมากๆ
(ในทางสถิติ ถือว่ามีโอกาสประมาณเกือบ 70% ที่ผลตอบแทนที่ได้จะ +/- เท่ากับค่า STDEV)
นั่นคือ ถ้าเราลงทุนระยะ 1 ปี โอกาสถึง 70% ที่เราจะได้ผลตอบแทนตั้งแต่ -26% ถึง + 63%
เวลามันสวิงขึ้นเราไม่กลัวหรอกครับ เพราะถือว่าเป็นโชคดี แต่เราไม่อยากให้มันสวิงลงจนติดลบ
นอกจากนั้นเมื่อดูสถิติจากการลงทุนแบบถือหุ้น 1 ปี โอกาสที่เราถือไว้แล้วจะขาดทุน มีถึง 41%
ในขณะที่การลงทุนในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปนั้น
แม้ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนจะต่ำลง แต่ค่าความผันผวนหรือ STDEV ก็จะต่ำลงด้วย
นอกจากนั้นโอกาสที่เราจะลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนเป็นลบ ก็จะมีต่ำลง
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราถือลงทุนระยะ 15 ปี โอกาสที่ผ่านไป 15 ปีแล้ว ผลตอบแทนเราจะติดลบมีแค่ 5%
.
การนำข้อมูลนี้ไปประยุกต์ใช้
ผมเชื่อว่าสำหรับคนในวัยทำงานตอนต้นถึงตอนกลาง เรายังคงมีเวลาเหลือให้ลงทุน
เพื่อเตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการเกษียณอายุอยู่เกิน 15 ปีขึ้นไป
ดังนั้นในการประยุกต์ใช้ผมขออ้างอิงจากสถิติผลตอบแทนระยะยาวในการถือหุ้นลงทุน 15 ปี
คือมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ปีละประมาณ 11%
ซึ่งในความเป็นจริงนั้น เราไม่ได้ลงทุนต้นปี และขายปลายปีเหมือนกับการคำนวณของผม
ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้ อาจจะต่ำกว่าค่าที่ได้จากการคำนวณข้างต้น
โดยผมจะสมมติว่าเราจะลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาการลงทุนของเรา
จากการทดลองเรื่อง DCA ที่ผมเคยโพสไปก่อนหน้า จะพบว่าเมื่อลงทุนด้วยวิธี DCA แล้ว
ผลตอบแทนระยะยาวที่ได้ จะอยู่ที่ประมาณ 70% ของผลตอบแทนเฉลี่ยรายปี (กรณีซื้อแล้วถือยาว)
ดังนั้น ในความคาดหวังของผม ผมคิดว่า การลงทุนระยะยาว 15 ปีขึ้นไป ใน SET (ผ่านกองทุนหุ้น)
น่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ = 0.7 x 11% = 7.7% ต่อปี
ด้วยตัวเลขผลตอบแทนเท่านี้ ลองมาดูกันนะครับ ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง
ตัวอย่างที่ 1
นาย เงินเดือนน้อยคอยได้ ปัจจุบันอายุ 25 ปี เพิ่งจะทำงาน วางแผนจะเกษียณตอนอายุ 60
ตั้งใจลงทุนเดือนละ 3000 บาท ไปเรื่อยๆ จนถึงวันเกษียณ ถ้าเค้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 7.7%
เค้าจะมีเงินใช้เพื่อการเกษียณ ประมาณ 5.8 ล้าน (จากเงินลงทุนที่ใส่ไป 1.2 ล้าน)
ตัวอย่างที่ 2
นาย เงินไม่เยอะแต่อดเอา ปัจจุบันอายุ 30 ปี ทำงานมาได้ซักพัก วางแผนจะเกษียณตอนอายุ 60
ตั้งใจลงทุนเดือนละ 5000 บาท ไปเรื่อยๆ จนถึงวันเกษียณ ถ้าเค้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 7.7%
เค้าจะมีเงินใช้เพื่อการเกษียณ ประมาณ 6.4 ล้าน (จากเงินลงทุนที่ใส่ไป 1.8 ล้าน)
ตัวอย่างที่ 3
นาย เงินเยอะแล้วแต่ก็ยังอยากออม ปัจจุบันอายุ 35 ปี การงานกำลังมั่นคง วางแผนจะเกษียณตอนอายุ 60
ตั้งใจลงทุนเดือนละ 10000 บาท ไปเรื่อยๆ จนถึงวันเกษียณ ถ้าเค้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 7.7%
เค้าจะมีเงินใช้เพื่อการเกษียณ ประมาณ 8.4 ล้าน (จากเงินลงทุนที่ใส่ไป 3 ล้าน)
จากตัวอย่างทั้ง 3 ข้อ ผมพยายามยกตัวอย่าง บุคคลในวัยต่างๆ
เพื่ออยากให้ท่านผู้อ่านลองจินตนาการไปตามๆ กันดูนะครับ ว่าถ้าเราอยู่ในวัยเช่นนั้น
เราควรที่จะคิดเตรียมการอะไรไว้ เพื่ออนาคตหรือไม่ เพราะในการวางแผนการเงินนั้น
เราให้คนอื่นช่วยคิดให้เราได้ครับ แต่เราต้องเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเอง
.
บทเรียนที่อยากฝากให้ทุกท่าน
.

  • ถ้าท่านเป็นคนวัยทำงาน และลงทุนใน LTF อยู่แล้ว
    ผมอยากแนะนำให้ท่านลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้จะครบกำหนด 5 ปีแล้วก็ตาม
    ท่านอาจย้ายเงินมาอยู่ในกองทุนหุ้นอื่น ที่คิดว่าจะให้ผลตอบแทนได้ดี
    และในทุกๆ ปี ขอให้ท่านซื้อ LTF เพิ่มเถอะครับ เพราะสิ่งที่ท่านจะได้เพิ่มขึ้น จากการคำนวณของผม
    คือผลตอบแทนในขั้นต้น จากการลดหย่อนภาษี
    .
  • ถ้าท่านเป็นคนวัยทำงาน แล้วยังไม่กล้าซื้อ RMF ที่เป็นกองทุนหุ้น
    ผมขอแนะนำให้ ท่านแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปซื้อเถอะครับ
    เพราะ RMF เป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยบังคับให้ท่านมีวินัย และสามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง
    อย่างน้อย ก็จนถึงวันที่ท่านอายุ 55 ปี นอกจากนั้น ท่านก็ยังได้รับลดหย่อนภาษี
    และกรณี ฉุกเฉิน เช่น ท่านเห็นว่า ไม่ไหวแล้ว ไม่เอาหุ้นแล้ว ท่านก็ยังสามารถย้ายไปกองตราสารหนี้ได้
    วิธีนี้ ยังไงซะ ท่านก็จะพอแน่ใจได้ว่า ณ วันที่ท่าน 55 ท่านยังจะมีเงินก้อนนึงไว้ใช้อยู่
    .
  • ถ้าท่านไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีใดๆ แต่สนใจลงทุนในหุ้นระยะยาว
    ผมแนะนำให้ท่านซื้อกองทุนหุ้น จากบลจ. ที่มีบริการซื้อเฉลี่ย DCA ให้ท่าน โดยอัตโนมัติ
    เพราะวิธีนี้ จะช่วยให้ท่านมีวินัย และทำให้ท่านลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน
    และลงทุนได้ในทุกๆ ภาวะตลาด
    .
  • ถ้าท่านต้องการบริหารเงินลงทุนนี้ด้วยตัวเอง ขอให้ท่านลงทุนให้ต่อเนื่อง
    ไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นเช่นไร อย่าให้อารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล
    แม้ว่าวันนี้มูลค่าพอร์ตท่านอาจจะลดลง แต่ว่าท่านยังจะต้องลงทุนต่ออีกร่วมสิบๆ ปี
    ก็ไม่มีเหตุผลที่ท่านจะต้องกลัวอะไร ควรจะต้องลงทุนเพิ่มเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ เพราะเงินเท่าเดิม ท่านจะซื้อหุ้นได้มากขึ้นอีก
    (ข้อนี้ เฉพาะท่านที่ถือกองทุนเท่านั้น ถ้าถือหุ้นรายตัว ท่านต้องคิดให้ดีๆ ก่อนทำแบบนี้นะครับ)
    .
  • ไม่มีใครบอกได้ครับ ว่าอนาคตนั้น ตลาดหุ้น จะเป็นเช่นไร
    การคำนวณ การวางแผน เราทำภายใต้ข้อมูลที่เราพอจะหาได้ ดังนั้น
    โอกาสผิดพลาดไม่ใช่ไม่มีนะครับ การตัดสินใจต่างๆ ท่านต้องเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายด้วยตัวท่านเอง
    .
===============================================================
เอาล่ะครับ วันนี้ผมก็ได้เสนอสถิติที่น่าสนใจ ที่หลายๆ ท่าน อาจจะเอาไปใช้ประกอบการตัดสินใจ
ทั้งตัดสินใจลงทุน ตัดสินใจวางแผนการเงิน เพื่ออนาคตของตัวท่านเองได้
แต่การลงทุนในระยะยาวนั้น ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นี้นะครับ ตัวอย่างเช่น ท่านยังมีตัวเลือกนอกจากหุ้น
ที่อาจจะช่วยทำให้พอร์ตของท่านในระยะยาวดีขึ้นกว่าการลงทุนในหุ้นอย่างเดียว

นอกจากนั้น ก่อนท่านจะเริ่มลงทุน ก็ยังมีเรื่องมากมายที่ท่านต้องเตรียมพร้อมก่อน
เช่น การวางแผนเรื่องเงินทุนหมุนเวียน เงินสำรอง เงินเตรียมไว้เพื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินต่างๆ
หรือแม้กระทั่ง การตัดสินใจซื้อประกันประเภทต่างๆ ซึ่งในอนาคต ผมจะได้มีโอกาสเขียนถึงหัวข้อเหล่านี้แน่ๆ ครับ
ทุกท่านสามารถติดตามได้ที่บล๊อคแห่งนี้ล่ะครับ ^_^
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น