December 6, 2012
Posted by KOBSAK (ADMIN)
Posted by KOBSAK (ADMIN)
หลักชัยของความพอเพียง
คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับดร.กอบ
ท่ามกลางความมืดมิดของวิกฤตเมื่อ 15 ปีที่แล้ว หลายคนคงจำกันได้
ถึงความสิ้นหวังที่เข้าครอบงำเศรษฐกิจไทย ครอบงำเราทุกคน
ที่ไม่รู้ว่าประเทศไทยจะดิ่งลงเหว ลึกไปอีกเท่าไร
ไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหนที่เราจะกลับมายืนอย่างสง่าผ่าเผยในเศรษฐกิจโลกได้
อีกครั้ง และไม่รู้ว่าไทยจะยังมีอนาคตหรือไม่เพราะมองไปที่ไหนก็เห็นแต่ข่าวร้าย แบงก์ถูกยึด เงินฝากติดอยู่ที่บริษัทเงินทุน ถอนไม่ได้ ธุรกิจนับหมื่นนับพันต้องปิดกิจการ ล้มละลาย ทั้งใหญ่และเล็ก นอกจากนี้ แรงงานจำนวนมาก นับล้าน ได้รับผลกระทบ ต้องตกงาน แยกย้ายกันกลับถิ่นฐานเดิม
ตอนนั้น หลายคนถามว่า ทำไมเราจึงมาถึงจุดนี้ได้ ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนใครๆ ก็ต้องขอมาดูงาน เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่หลายคนยกย่อง เคยอยากเลียนแบบ แต่ท้ายสุด เราก็จบลงอย่างน่าอเน็จอนาถ เศรษฐกิจล้มระเนระนาด มองไม่เห็นจุดจบ ไม่เห็นทางว่า จะออกจากวิกฤตได้อย่างไร
ผมยังจำวันที่ 4 ธันวาคม เมื่อ 15 ปีที่แล้วได้ดี วันนั้น ทุกคนเฝ้ารอ รอที่จะฟังพระราชดำรัสของในหลวง ว่าจะทำอย่างไรเราจึงจะออกจากวิกฤตได้ และเป็นครั้งแรกที่หลายคนได้รู้จักคำว่า “พอเพียง”
ที่เราต้องตกอยู่ในวิกฤต ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็เพราะความไม่พอเพียงของทุกคน เรามั่นใจกันเกินไป ทำอะไรเกินตัวเกินไป ลงทุนกู้กันอย่างไม่เกรงกลัว (ประเภทคนเคยสำเร็จ จับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง เสร็จโครงการหนึ่ง ก็ไปทำอีกโครงการหนึ่ง) ไม่เคยเตรียมใจ เผื่อเหลือ เผื่อขาดเลยว่า ถ้าเศรษฐกิจสะดุดลง จะเอาตัวรอดกันอย่างไร
ช่วงนั้น แบงก์แย่งกันปล่อยสินเชื่อ จนโตปีละ 20-30% หลายปีซ้อน บริษัทแย่งกันลงทุน แข่งกันกู้ แข่งขยายกิจการ กู้ทั้งเงินบาทและเงินดอลลาร์ จนหนี้ท่วมตัว ส่วนต่างชาติก็ชอบเรามาก ปล่อยกู้เราอย่างไม่รู้จักพอ เงินหลั่งไหลเข้าไทยปีละ 2-3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ส่วนใหญ่เป็นหนี้สั้นๆ) ซึ่งพอเราหลงเดินไปตามทางนี้กันระยะหนึ่ง เศรษฐกิจก็สะสมความเปราะบางไว้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหุ้น ภาคแบงก์ ภาคอสังหา ภาคธุรกิจ ต่างสุ่มเสี่ยง รอเกิดเหตุ
พอเริ่มล้มลง ปัญหาก็ประเด ประดัง ถาโถมกันเข้ามา ท้ายสุด ทุกคนก็เจ็บตัวกันถ้วนหน้า
ทางออกของวิกฤต และทางที่จะทำให้เราไม่กลับไปสู่วิกฤตอีกครั้ง ก็คือ การรู้จัก “พอเพียง”
หัวใจสำคัญอยู่ที่ การทำอะไร การใช้จ่าย การทำธุรกิจ ด้วยสติ รู้ฐานะของเรา รู้จักพอประมาณ ไม่ทำอะไรเกินตัว ไม่โลภเกินไป จนหน้ามืดตาลาย มองไม่เห็นถึงความเสี่ยงที่รอเราอยู่ รู้จักมีเหตุมีผล เผื่อเหลือเผื่อขาด ไม่ทุ่มลงไปหมด เหลือบางส่วนเอาไว้ เผื่อว่าจะมีช่องพอขยับขยายได้ หากการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาด โดยในช่วงที่ทุกอย่างไปได้ดี ก็พยายามเก็บออม พยายามลดหนี้ เอาไว้ เป็นช่องทางออก ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี
ในประเด็นนี้ หลังปี 40 ทุกคนก็พยายามน้อมนำพระราชดำริเรื่อง “พอเพียง” มาประยุกต์ใช้ ปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงบริษัท ขายกิจการที่เราไม่สันทัดออกไป มุ่งเน้นแต่สิ่งที่เราชำนาญ กลับมาสู่ฐานะของตนเอง ไม่เกินตัว ไม่กู้เกินไป เก็บออม เรียนรู้ที่จะบริหารจัดการความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้น
แต่ที่น่าเสียดายก็คือ การประยุกต์ใช้ของเราเรื่อง “พอเพียง” เกิดเป็นช่วงๆ ในระหว่างที่ชีวิตเราคับขัน เข้าตาจน เราก็จะหยิบยกเรื่อง “พอเพียง” มาใช้ แต่พอครั้นทุกอย่างดีขึ้น เราก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง และเมื่อเศรษฐกิจดีมาก บางคนก็อาจจะลืมหลักยึดเรื่อง ความพอเพียง พอประมาณ ไม่เกินตน เพราะตอนนี้ เราเริ่มรู้สึกว่า เรามั่นใจในตนเองกันอีกครั้งหนึ่ง เห็นทุกอย่างเป็นโอกาสที่ต้องหยิบฉวย พยายามขวนขวาย มือยาวสาวได้สาวเอา แม้ต้องเสี่ยง ก็จะทำกันอีกรอบ
มองไปข้างหน้า 5 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงสำคัญ ที่เศรษฐกิจเอเชียและอาเซียนของเราจะเฟื่องฟู ไปได้ดีอย่างยิ่ง (โดยเฉพาะหลังจากมรสุมของยุโรปเริ่มสงบลง) ความท้าทายสำคัญอยู่ที่ เราจะสามารถตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท พอประมาณ ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หรือเราจะกลับไปหลงแสงสี เดินตามกระแสของการวิ่งรุดไปข้างหน้า ตามคู่แข่ง ตามโอกาสที่เปิดออกมา ยิ่งทุกอย่างไปได้ดีเท่าไร เราก็ยิ่งหลงละเลิง สนุกสนานกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
คนที่จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในช่วงที่โอกาสรอบใหม่เปิด ขึ้น ก็คือ คนที่รู้จักยึดหลักความพอเพียง พอประมาณ เป็นหลักชัย เป็นที่ตั้ง ซึ่งจะเป็นเกราะคุ้มกันภัย นำพาให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างมีสติ สามารถขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรือง บนพื้นฐานที่มั่นคง ไม่ใหญ่นอกแต่กลวงใน สามารถพ้นภัยต่างๆ ในวิกฤตรอบใหม่ที่รอเราอยู่ได้ ส่วนคนที่หลงเพลิดเพลินไปกับแสงสี กับโอกาสรอบใหม่กันเกินไป ช่วงสั้นๆ อาจจะดูว่าประสบความสำเร็จมาก แต่ท้ายสุดวิกฤตก็อาจมาเยือนเขาอีกรอบก็ได้ ก็ขอเอาข้อคิดเหล่านี้มาฝากทุกคน ขอเอาใจช่วยครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 6 ธ.ค. 55
คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับดร.กอบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น