ads head

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ชาวบ้านพึงรู้มูลค่าบ้านของตนเอง

ชาวบ้านพึงรู้มูลค่าบ้านของตนเอง

สยามรัฐ 12 เมษายน 2553 หน้า 16
          ผมเคยจัดประกวดเรียงความชิงโล่ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เรื่องเกี่ยวกับความสำคัญที่ประชาชนควรมีความรู้เกี่ยวกับการประเมินค่าบ้าน และยังเป็นบรรณาธิการจัดพิมพ์รวมเรียงความชนะเลิศ และผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประชาชนทั่วไปพร้อมเงินสดและโล่ของ พล.อ.เปรมฯ คือ นางสาวปานใจ สารพันโชติวิทยา ในบทความของผมนี้จึงขออนุญาตนำข้อคิดของคุณปานใจมาแบ่งปันกับทุกท่าน ซึ่งใจความสรุปว่า
~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~
          ถ้าไม่สนใจประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ ก่อนมีการซื้อ-ขาย จะเป็นอย่างไร คำตอบ คือ การซื้อ-ขาย บ้านจะกลายเป็นการเสี่ยงโชค คือ อาจได้ดีถูกใจในราคาสมเหตุ สมผล หรืออาจทำให้เสียเงินมากเกินมูลค่าที่แท้จริง เจ็บใจ และมีปัญหาอย่างอื่นตามมา ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่มีความสุขเท่าที่ควรจะเป็น สำหรับผู้ซื้อ การประเมินมูลค่าบ้านสูงเกินไปมีผลต่อเงินที่จะนำมาชำระค่าบ้านที่อาจต้อง ระดมเงินด้วยการกู้ยืม การกู้ยืมเงินจำนวนมากและผ่อนชำระในระยะเวลานานย่อมต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง นั่นคือเท่ากับเรากำหนดอนาคตของเราเองให้เสียประโยชน์ที่พึงได้จากจำนวนเงิน ที่ต้องนำไปจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ย
          ส่วนการประเมินมูลค่าบ้านต่ำไป ก็อาจเกิดฉุกละหุกเมื่อถึงเวลาต้องชำระบ้านจริง ๆ เนื่องจากราคาและอัตราดอกเบี้ยอาจปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ต้องกู้ยืมหนี้สินเร่งด่วนในอัตราที่แพงเช่นกัน และอาจทำให้สูญเสียโอกาสได้บ้านที่เหมาะสม และหากซื้อบ้านได้แพงกว่าราคาประเมินหรือเกิดปัญหาภายหลัง เช่นถูกเวนคืน บ้านอยู่ในระหว่างถูกยึดทรัพย์ ฯลฯ ก็จะเกิดความเดือดร้อน ในแง่ของผู้ขาย
          การประเมินมูลค่าบ้านสูงเกินไป ก็จะเสียโอกาสในการได้เงินจากการขาย คือจะต้องถือครองไว้นานกว่าจะขายออกไปได้ หรืออาจถูกฟ้องร้องเป็นความจากผู้ซื้อได้ภายหลัง ยิ่งถ้าผู้ขายจดทะเบียนประกอบธุรกิจด้านนี้โดยตรงจะเกิดเสียชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจไปไม่น้อย ในกรณีที่ผู้ขายประเมินมูลค่าบ้านต่ำเกินไป อาจพบว่าพลาดกำไรอันงามไปได้ทีเดียว
          เมื่อมีการถือครองบ้านไปได้ระยะหนึ่ง บ้านจะต้องมีการเปลี่ยนผู้ถือครองโดยการมอบให้เป็นมรดก ขายต่อ ยกให้ ฯลฯ การที่ประเมินมูลค่าบ้านไม่ถ้วนถี่ ตามเวลาที่เปลี่ยนไปอาจทำให้เกิดการแบ่งสรรที่ไม่เป็นธรรม ขาดทุน หรือผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาได้
          ในเมื่อความผิดพลาด ไม่ยุติธรรม เสียเปรียบ เป็นสิ่งที่ปกติชนไม่ต้องการ สิ่งเหล่านี้และความเสี่ยงดังกล่าวมาข้างต้นสามารถป้องกันได้มากหากจะใส่ใจ หาความรู้เรื่องประเมินมูลค่าบ้านและอสังหาริมทรัพย์ไว้บ้าง
          โลกนี้เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนยิ่งนัก แม้แต่ผืนแผ่นดินที่มนุษย์เคยอาศัยอยู่อย่างสงบหลายพันปี ก็อาจเปลี่ยนแปลงเสียหายไปได้อย่างรวดเร็วด้วยภัยธรรมชาติและการเคลื่อนตัว ของเปลือกโลกปัจจุบันดูเหมือนมีแนวโน้มว่าเกิดถี่ขึ้น ซึ่งทำให้พื้นที่ที่มนุษย์พอจะอยู่อาศัยได้หดหายลงไปยิ่งขึ้น แม้กระทั่งเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้อย่างเรื่องการออกโฉนดแสดงความเป็นเจ้า ของที่ดินบนดวงจันทร์ที่ผู้เขียนเคยรับทราบมาจากอินเตอร์เน็ต อาจเป็นไปได้ที่โฉนดเหล่านี้จะมีผลตามกฎหมายขึ้นมาจริงๆในไม่กี่ช่วงอายุของ คนเรา ดังนั้นใครเลยจะทราบได้ว่าในช่วงชีวิตของคนเราจะต้องใช้ความรู้และ ประสบการณ์ทาง ด้านนี้เข้าจับจองเลือกสรรอสังหาริมทรัพย์เป็นการเร่งด่วน แน่นอนว่ารู้มากกว่าย่อมได้เปรียบ
          สำหรับข้อควรพิจารณาในการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการ ซื้อ-ขายนั้น ในฐานะของผู้ซื้อ-ขาย โดยทั่วไปที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ๆ ควรมีหลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์อย่างกว้าง ๆ ดังนี้ (หมายเหตุ : เก็บความส่วนใหญ่จาก www.thaiappraisal.org)
  1. ดูทำเล ที่ตั้ง ถนนและทางเข้าออก สภาพแวดล้อม
  2. สิ่งก่อสร้าง รายละเอียดวัสดุ โครงสร้างอาคาร การใช้ประโยชน์ปัจจุบัน อายุอาคาร การปรับปรุง
  3. สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ น้ำประปา ไฟฟ้า โทรคมนาคม การขนส่ง
  4. ผังเมืองและข้อกำหนดตามกฎหมาย การใช้ที่ดิน การก่อสร้าง
  5. ที่ดิน ขนาด รูปร่าง ความสูงต่ำ การใช้ประโยชน์
  6. เอกสารสิทธิ์ ประเภทของเอกสาร การถือครอง เจ้าของ เงื่อนไข ภาระผูกพันต่าง ๆ
  7. ราคาขายและเงื่อนไขการจ่ายเงิน (เทียบราคาบ้านแบบเดียวกันกับโครงการอื่น ๆ หรือที่อื่น ๆ)
  8. มูลค่าแฝงอื่น ๆ ที่ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์เป็นหลักที่จะคาดการณ์ถึงสิ่งที่ไม่อาจตีค่าเป็นเงินได้ในทันที
  9. เรื่องปลีกย่อยอื่น ๆ เช่น ความเชื่อ ความนิยม ค่านิยม แนวโน้มของผู้ใช้ประโยชน์ในอนาคต
โดยสรุปแล้ว การประเมินมูลค่าให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย จะทำให้เกิดผลดีแก่ทุก ๆ ฝ่ายโดยถ้วนหน้า ผู้ซื้อได้รับผลดีเนื่องจากได้บ้านที่ใช้อยู่อาศัยลงหลักปักฐาน หรืออาคารสำหรับทำธุรกิจในราคาที่สมเหตุสมผล สามารถพัฒนาชีวิตต่อไปได้ดีทั้งแง่รายได้และจิตใจ ผู้ขายก็ได้รับเงินตอบแทนค่าขายบ้านในราคาที่ไม่ถูกเอาเปรียบ สามารถนำเงินที่ได้ไปลงทุนหมุนเวียนอย่างอื่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการหมุนเวียนไปได้ด้วยดี
~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~
ถึงแม้เราในฐานะประชาชนผู้ซื้อบ้านทั่วไปจะไม่ใช่นักยุทธศาสตร์ ไม่ใช่นักพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เราก็ต้องมีการวางแผนเพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ อย่างรอบรู้ ไม่เสียเปรียบ ไม่รู้สึกสำนึกเสียใจในภายหลังครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น