เมื่อวานเราคุยกันถึงเรื่อง “นักลงทุน” ประเภท “นักล่าบริษัท”
ซึ่งจะไม่เหมือน “กูรูนักลงทุน” สายวีไอ หรือ นักลงทุนที่เน้นคุณค่า
ที่จะลงทุนในบริษัทชั้นยอด และถือหุ้นเป็นเวลานานๆ
แต่ “คาร์ล ไอคาห์น” อาจไม่ใช่นักลงทุน และเขาอาจเป็นเพียง “นักล่าบริษัท”
วันนี้ขอเสนอ ตอน คาร์ล ไอคาห์น “เจ้าแห่งนักล่าบริษัท” ตอนจบ
ก่อนอื่น ขอเล่าเรื่องในตอนที่ 1 ซักหน่อยคร้าบ…
ไอคาห์น เริ่มทำงานในวอลล์สตรีท ในปี 1961
ในปี 1968 เขาก็ตั้งบริษัทของตนเอง และเริ่มต้น “ล่าบริษัท”
บริษัทที่เขาไปซื้อ เช่น RJR Nabisco, Western Union
Marvel Comics เจ้าของการ์ตูน Spider Man
และ Time Warner เจ้าของนิตยสารชื่อดัง “TIME” เป็นต้น
หากนึกภาพการทำงานของ คาร์ล ไอคาห์น ไม่ออก…..
ก็ให้นึกถึง คนที่ชื่อว่า… “GORDON GEKKO” ในภาพยนต์เรื่อง “Wall Street”
ที่แสดงโดย ไมเคิล ดักกลาส….
ซึ่ง GEKKO ในเรื่อง จะแสดงเป็น “เศรษฐี..นักล่าบริษัท”
ที่พยายามรวบรวมเสียง “ผู้ถือหุ้นรายย่อย”
เพื่อให้ปลด..บรรดาผู้บริหารของบริษัทเป้าหมาย
จากนั้นเขาจะเข้าไปครอบงำบริษัท
และแยกธุรกิจบริษัทเป็นเสี่ยงๆ นำไปขายเพื่อให้ได้..กำไรมหาศาล
สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ….
GECKO เป็นเพียงตัวละครในภาพยนตร์
แต่ ไอคาห์น เป็นเรื่องจริงๆ… ที่ไล่ผู้บริหารจริงๆ และครอบงำบริษัทจริงๆ
ไอคาห์น วางแผนจ้องเขมือบ “ยาฮู” (Yahoo !)
“ยาฮู” ทำธุรกิจเป็นเว็บไซต์ในการค้นหาข้อมูล ซึ่งเคยเป็นอันดับ 1 ในตลาด
และก็ตกลงมา… หลังจากถูก “กูเกิล” เข้ามาแข่งขันและแย่งตำแหน่งผู้นำตลาดไป
อนาคตของ “ยาฮู” จึงดูมืดมน และมีแนวโน้มว่าจะ “แย่” ลงทุกวัน
ปลายปี 2007 เริ่มมีข่าวว่า “ไมโครซอฟท์” ยักษ์ใหญ่ทางด้านซอฟท์แวร์ของโลก
ให้ความสนใจในการซื้อหุ้นของ “ยาฮู”
จึงทำให้ ไอคาห์น เริ่มเข้ามาเก็บหุ้น “ยาฮู”
โดยเขาเริ่มเก็บที่ราคา 25 ดอลลาร์ต่อหุ้น และซื้อไว้สูงถึง 69 ล้านหุ้น
คิดเป็นเงินก็คือ 1,725 ล้านดอลลาร์
โดยหวังว่า เขาจะได้กำไรเป็นเท่าตัว
ถ้าดีลที่ ไมโครซอฟท์ จะซื้อ ยาฮู ประสบความสำเร็จ
ทุกอย่างดูเหมือนว่า “ความฝัน” ของไอคาห์น จะราบรื่น
เมื่อ ยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ ประกาศขอซื้อ “ยาฮู”
เป็นเงินมูลค่าสูงถึง 4.46 หมื่นล้านดอลลาร์
แต่แล้ว…เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น
เจอร์รี่ หยาง (Jerry Yang) อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท “ยาฮู”
ซึ่งเป็น CEO ของยาฮูอยู่ในขณะนั้น
ประกาศปฏิเสธคำขอซื้อ “ยาฮู” จากไมโครซอฟท์ อย่างสิ้นเชิง
และทำให้ความฝันของไอคาห์นที่จะฟันกำไรก้อนมหึมา..
หากดีล 4.46 หมื่นล้านดอลลาร์ครั้งนี้..สำเร็จ
กลับกลายเป็น “ฝันร้าย” พร้อมกับราคาที่ตกต่ำลงทันทีของหุ้น “ยาฮู”
นอกจาก การซื้อขาย “บริษัทยาฮู” จะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว
ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของไอคาห์น ตามมาอีกมากมาย
หลายข่าวโจมตีไอคาห์นว่า…
ไอคาห์น…. ชอบทำตัวเป็นผู้นำในการโน้มน้าวผู้ถือหุ้นให้ออกเสียงเลือกกรรมการบริหารยาฮูชุดใหม่
ไอคาห์น…. เคยเข้าไปเจรจากับซีอีโอไมโครซอฟท์ด้วยตัวเองหลายครั้ง
ซึ่งก็ยิ่งสร้าง “ความโกรธแค้น” ให้แก่ไอคาห์น เพิ่มเป็นทวีคูณ
จากนั้นมา ไอคาห์น…ก็เริ่มปฏิบัติการ “แก้แค้น” ขึ้น
เขาประกาศว่า เขาเป็นผู้ถือหุ้นยาฮูรายใหญ่ ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจยกเลิก “การขายยาฮู”
และยังประกาศเป็นตัวแทนในการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นยาฮู
ตามมาด้วยการประกาศขายหุ้นยาฮูจำนวน 12.7 ล้านหุ้น
เพื่อเป็นการแสดง “ความไม่พอใจ” ต่อ “คณะผู้บริหาร” ชุดปัจจุบันของ “ยาฮู”
ในรายงานการขายหุ้นยาฮูของไอคาห์น
ที่เสนอต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯหรือ SEC พบว่า…
ไอคาห์น ขายหุ้นยาฮู 12.7 ล้านหุ้นเกิดขึ้นในการขายต่อเนื่อง 3 ครั้ง
โดยจำหน่ายไปในราคา 14.74 – 14.93 เหรียญต่อหุ้นเท่านั้น
ไอคาห์นที่ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 69 ล้านหุ้น ที่ราคาประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อหุ้น
ดังนั้น ไอคาห์น น่าจะขาดทุนรวมทั้งสิ้น สูงถึง 690 ล้านดอลลาร์
ต่อมา ราคาหุ้นของ “ยาฮู” ก็ตกลงไปอีกเกือบ 50%
และอนาคตของ “ยาฮู” ก็เริ่มจะมองไม่เห็น “อนาคต” อย่างแท้จริง
จึงทำให้ ไอคาห์น เคลื่อนไหวทุกวิถีทางเพื่อบีบให้ “เจอร์รี หยาง” ต้องลาออกจาก CEO
ในที่สุด เจอร์รี หยาง ก็ต้องลาออกไปจริงๆ
และทำให้ ไอคาห์น “สะใจ” ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ก็ต้อง “ปวดกระดองใจ” กับเงินที่ต้องสูญเสียไปกับดีลนี้เกือบ “พันล้านดอลลาร์”
กรณี ไอคาห์น กับ “โมโตโรลา”
ไอคาห์น ทราบมาก่อนแล้วว่า “กูเกิล” สนใจที่จะซื้อ “บริษัทโทรศัพท์มือถือ”
ไอคาห์น ได้พยายามสืบทุกวิถีทางเพื่อจะรู้ให้ได้ว่า “กูเกิล” อยากซื้อบริษัทไหน?
จนในที่สุดก็รู้ว่า บริษัทที่ “กูเกิล” สนใจมากที่สุดก็คือ “โมโตโรลา”
เนื่องจาก โทรศัพท์มือถือโมโตโรลา ขาดทุนมาตลอด และราคาหุ้นก็ต่ำมาก
ไอคาห์น จึงเริ่มซื้อสะสมหุ้นโมโตโรลา…นับจากที่ เขาสืบจนรู้..แน่แล้ว
เขาสามารถสะสมหุ้นโมโตโรลา จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ใหญ่ที่สุดของโมโตโรลา
โดยไอคาห์นสามารถสะสมหุ้นโมโตโรลา ได้สูงถึง 11.36%
และแล้ว… ในที่สุด “ความฝัน” ของไอคาห์น ก็เป็นจริง
ในที่สุด กูเกิลก็ประกาศแผนฮุบกิจการผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์มือถือของโมโตโรลา
ด้วยเงินลงทุนสูงถึง 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.75 แสนล้านบาท
โดยการเข้าซื้อโมโตโรลาจะทำให้….
กูเกิลสามารถควบคุมการผลิตได้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อุปกรณ์มือถือ
ไม่ต่างจากแอปเปิล (Apple) ซึ่งสามารถสร้างสรรค์อุปกรณ์ทั้ง 2 ด้าน
จนสามารถครองตลาดสมาร์ทโฟนได้แล้วในขณะนี้
การซื้อ “โมโตโรลา” โดย “กูเกิล” ในครั้งนี้
นักวิเคราะห์ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า…
….ไม่แน่ใจจริงๆว่า การซื้อครั้งนี้ ถือว่าเป็น… “ชัยชนะ” ของกูเกิล หรือไม่ ?
แต่ที่แน่ๆ การซื้อขายครั้งนี้
ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของ…. คาร์ล ไอคาห์น
ผู้ซึ่งถือหุ้น “โมโตโรลา” อยู่ราว 11.36% และเขาก็จะ…ได้รับกำไรไปอย่างมหาศาล
และทั้งหมดคือ เรื่องราวของ คาร์ล ไอคาห์น “เจ้าแห่งนักล่าบริษัท”
หลายคนฟังเรื่องนี้แล้ว อาจรู้สึกเหมือนเดิมว่า….
ไอคาห์น …เป็นคนเอาเปรียบ
ไอคาห์น …เป็นคนขี้โกง
ไอคาห์น …และเป็นคนน่ารังเกียจ
แต่ไม่ว่า เขาจะเป็น “อะไรก็ตาม”
แต่เรื่องราวของเขา ก็ได้ “สอน” ให้พวกเรา
……รู้จัก “ด้านมืด” ของการลงทุน
ดังนั้น จึงอย่ามัวคิดถึงแต่ “ด้านสว่าง” ในการลงทุน เท่านั้น
อาจต้องคิดถึง “ด้านมืด” บ้าง และ….
เตรียมตัวเผชิญกับ “สิ่งเลวร้าย” ที่อาจเกิดขึ้นในเร็ววันนี้… ก็เป็นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น