เศรษฐศาสตร์จานร้อน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2547
ใน การพูดคุยเกี่ยวกับสภาวะอสังหาริมทรัพย์นั้น เรามักได้ยินคำอธิบายว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่เกิดสภาวะฟองสบู่อย่างแน่นอน เพราะขณะนี้มีการก่อสร้าง และซื้อ-ขายบ้าน บ้านแฝด คอนโด ฯลฯ เพียง 35,000 - 40,000 หลังต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1/3 -1/4 ของยอดขายในปี 2537-38 ซึ่งสูงถึง 120,000 - 150,000 หลัง
แต่หากพิจารณาให้ดีแล้ว ก็จะเข้าใจว่า สาเหตุพื้นฐานของฟองสบู่นั้น เกิดจากอุปสงค์ หรือดีมานด์ที่สูงเกินไป อุปทาน คือซัพพลาย ที่มีมากจนล้นตลาดนั้น เกิดขึ้นหลังจากการแตกสลายของฟองสบู่ กล่าวคือ อุปสงค์ ที่มากเกินไปในตอนแรก คือ เหตุ และอุปทานที่มากเกินไปในตอนหลังคือ ผล นั่นเอง
ตัวอย่างฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในหุ้นอินเทอร์เน็ตที่สหรัฐ ในช่วง 2542-43 นั้น ผลักดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แนสแด็ก ปรับตัวสูงขึ้นมาที่ระดับ 5,000 จุด และเมื่อฟองสบู่แตก ราคาหุ้นก็ปรับตัวลดลงอย่างมากเหลือเพียง 1,500 จุด และแม้จะฟื้นตัวมาระดับหนึ่ง ในช่วง 2546 ดัชนีหุ้นแนสแด็ก ก็ยังสูงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจุดสูงสุด เมื่อตอนต้นปี 2543
ประเด็นหลัก คือ สภาวะฟองสบู่เกิดขึ้นจากความต้องการในระยะสั้น ที่สูงเกินความเป็นจริง และสูงเกินกว่าที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในระยะยาว และเมื่อมีความต้องการสูงเกินไป ราคาสินทรัพย์ก็ถูกผลักดันให้สูงเกินความเป็นจริงในระยะยาวได้ ซึ่งราคาที่สูงดังกล่าว กลายเป็นปัจจัยส่งเสริม (incentive) ให้มีการเพิ่มการผลิตสินค้าดังกล่าวออกมาจำนวนมาก
แต่การผลิต สินทรัพย์นั้น ต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าผลผลิตจะออกมาสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือบ้าน และเมื่อสินทรัพย์จำนวนมาก ถูกนำออกมาจำหน่าย ก็จะขายไม่ได้ในราคาที่สูง ดังที่คาดเอาไว้ ผลก็คือ ราคาจะปรับลดลง ทำให้ยิ่งเกิดความไม่มั่นใจ และราคาสินทรัพย์ปรับตัวลงไปอีก เป็นผลให้ผู้ผลิตต้องเสียหาย และล้มละลายเป็นจำนวนมาก
ทำไม สภาวะอุปสงค์ที่สูงเกินจริงจึงเกิดขึ้นได้?
สาเหตุ หลักมักจะเกิดจากความเชื่อในสิ่งประดิษฐใหม่ๆ ว่าจะมีคุณค่าอย่างมาก ต่อสังคม และเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ที่ลงทุนผลิตสินค้าดังกล่าว ได้รับผลตอบแทนมหาศาล การคาดการณ์ ผลกำไรที่สูงเกินจริงนั้น เกิดขึ้นบ่อยๆ ในอดีต เช่น การลงทุนสร้างทางรถไฟในอเมริกา การลงทุนผลิตไฟฟ้า การผลิตรถยนต์ (ซึ่งในช่วงแรก มีหลายร้อยบริษัท และยี่ห้อ)
และล่า สุด คือ อินเทอร์เน็ต และโทรคมนาคม แต่หากศึกษาประวัติศาสตร์ให้ละเอียดแล้ว จะพบว่า นักลงทุนมักจะไม่ได้รับผลตอบแทนสูงมากนัก เพราะการแย่งกันเข้ามาลงทุน จะทำให้เกิดการแข่งขัน และการตัดราคาสินค้า ทำให้ผู้ที่มักจะได้ประโยชน์มากที่สุด คือผู้บริโภคนั่นเอง
อีกสาเหตุหนึ่ง คือ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป และนานเกินไป ดอกเบี้ยที่ต่ำ จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า ตนเองมีกำลังซื้อสินทรัพย์สูง อีกทั้งยังผลักดันให้ต้องรีบเป็นหนี้ และซื้อสินทรัพย์โดยเร็ว เพราะรู้ว่าในที่สุด ราคาสินทรัพย์ และดอกเบี้ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
การ ดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่นั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก ซึ่งนายกรีนสแปน ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในเชิงชมเชยตัวเอง ที่ไม่ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐ ประสบปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้น ในช่วง 2542-43 โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีใครรู้ได้อย่างแน่ชัดว่า เกิดสภาวะฟองสบู่ขึ้น ดังนั้น การปรับดอกเบี้ยขึ้น อาจจะทำความเสียหายให้กับเศรษฐกิจได้
อย่าง ไรก็ดี เมื่อฟองสบู่แตกขึ้นจริงๆ ในปี 2543 นายกรีนสแปน ก็รีบปรับลดดอกเบี้ยอย่างมาก และฉับพลัน เหลือเพียง 1.0% จาก 6.5% ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย คือเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยเพียง 3 ไตรมาส ในปี 2544 และขณะนี้ ก็ฟื้นตัวจนสามารถขยายตัวได้ระดับ 3% ในปี 2546 และคาดว่า จะขยายตัว 4.4% ในปี 2547
ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า เราอาจไม่จำเป็นต้องพยายามรีบจัดการกับฟองสบู่ และหากเกิดการแตกของฟองสบู่ การผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ทันท่วงที ก็จะบรรเทาผลกระทบได้เกือบทั้งหมด แต่ข้อสรุปดังกล่าวที่ผิด เพราะ
1. การปล่อยให้ฟองสบู่ในตลาดหุ้นพองตัวขึ้น ทำให้ความไม่สมดุลเกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น การใช้จ่ายเกินตัว การสร้างหนี้อย่างมหาศาลของประเทศสหรัฐ ดังเห็นได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547
2. การรีบลดดอกเบี้ย เพื่อลดผลกระทบของการแตกฟองสบู่ในตลาดหุ้น ได้ทำให้เกิดฟองสบู่ ในส่วนอื่นของเศรษฐกิจสหรัฐ คือภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจสหรัฐได้ เมื่อดอกเบี้ยขึ้นในอนาคต
3. การปรับตัวลดดอกเบี้ย เมื่อฟองสบู่แตก แต่ไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้น เพื่อสกัดการสร้างตัวของฟองสบู่ เป็นการกระทำที่ไม่สมดุล อันจะก่อให้เกิดพฤติกรรมกล้าเสี่ยงที่เกินเลยขอบเขตที่เหมาะสมได้ เพราะนักลงทุน จะรู้ว่า ธนาคารกลางยอมให้เก็งกำไร ผลักดันราคาสินทรัพย์ให้เพิ่มขึ้นเกินจริง โดยไม่ห้ามปราม แต่เมื่อราคาจะปรับลดลง ทางการจะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ให้เกิดการตกต่ำตามกลไกตลาด
แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะปรับตัวดีขึ้น อย่างมากในปี 2546 และ 2547 แต่ก็ยังมีปัญหาการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งกลายเป็นปัญหาโครงสร้าง ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ผลคือ แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว ในอัตราที่สูงกว่า เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่เงินดอลลาร์ กลับลดค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนอาการของประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอมากกว่าเศรษฐกิจที่แข็งแรง
การ ที่สหรัฐสร้างหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ในศักยภาพของสหรัฐในระยะยาว และความกังวลว่า สหรัฐจะแก้ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มพูนของตน โดยการสร้างเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้ ราคาทองคำ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการถือทองคำ คือการปกป้องมูลค่าของทรัพย์สิน ในกรณีที่สภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นจริงในอนาคตครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น