ads head

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

“ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” ตอนที่่ 4: ย้อนรอย “วงจรอุบาทว์” วิกฤติ 40

7 พฤศจิกายน 2012
ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ
ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ

ไทยพับลิก้า :ในตอนนั้น ในแง่ของตลาดหลักทรัพย์ มองว่าจริงๆ แล้วมันควรจะต้องทำอะไรไม่ทำอะไรไหม เพราะว่ามันปล่อยให้ฟองสบู่

ศิริวัฒน์ : ผมว่าต้องโทษทุกคนทั้งตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวดีคือ “แบงก์ชาติ” ผมบอกได้เลย ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ให้ “สัญญาณที่ผิด”

ให้สัญญาณที่ผิดนะครับ เพราะมีใครไม่เชื่อแบงก์ชาติ และมีรัฐบาลไหนไม่เชื่อแบงก์ชาตินะ
พอแบงก์ชาติให้สัญญาณที่ผิด ไม่อยากจะพูดว่าอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติที่ให้สัญญาณผิดชื่ออะไร รู้สึกว่าจะก่อนคุณเริงชัย ผมรู้ชื่อแต่ไม่อยากบอกชื่อท่านนะ ก็ให้สัญญาณที่ผิด แล้วยังไปช่วยบริษัทเงินทุนที่กำลังจะเจ๊ง ไปเพิ่มทุนให้เขา ไปให้ซอฟต์โลน จะมีอะไรผมก็ไม่รู้ แต่ตามข่าวที่สื่อออกมาไปมีบัญชีโอดีกับแบงก์นั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนะมี O/D (Over Draft) นะ แล้วไปจองหุ้นด้วยนะ หุ้นไอพีโอ อันนี้ตามสื่อนะ

ผมก็บอกว่าถ้าเป็นประเทศอื่นนะ ถ้าถูกกล่าวหาอย่างนี้แล้วเป็นเรื่องจริงนะ ต้องลาออกแล้ว แล้วตอนหลังก็พิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริง แล้วแบงก์นั้นในที่สุดแบงก์ชาติอัดเงิน ให้กองเงินฟื้นฟูฯ อัดไปกี่พันกี่หมื่นล้านผมก็ไม่รู้นะ ทั้งเพิ่มทุนทั้งให้ซอฟต์โลน แล้วแบงก์นั้นก็เจ๊ง พอจำกันได้ไหม

เพราะฉะนั้น เงินส่วนนั้น แล้วคนที่ได้ประโยชน์หนีไปต่างประเทศ และในที่สุด 10 กว่าปีกว่าจะตามตัวกลับมาได้ เงินหายกันไปกี่พันล้าน ตอนนี้ติดคุกกันเป็นร้อยปี ใช่ไหม อันนั้นคือในช่วงเวลานั้นผมต้องโทษธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องโทษผู้ว่าการ

ส่วนรัฐมนตรีคลังนั้นเป็นการเมือง มาเดี๋ยวก็ไป เดี๋ยวก็กลับมาอีก แต่ผู้ว่าฯ ต้องอยู่ พอเป็นอย่างนี้ภาษาอังกฤษเรียก fault signal คือสัญญาณที่ผิด เอกชนก็ว่ากันไปใหญ่ พอคราวนี้พอวิกฤติมาก็ตัวใครตัวมันแล้ว

คนที่โดนก็คือผู้ประกอบการอย่างพวกผม พอโดนปุ๊บแบงก์ก็โดนตาม จำได้ไหม ตอนนั้นแบงก์เพิ่มทุนไม่ได้ ผมจำแม่นเลย

ตอนนั้นผมก็ถือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ก็เกือบเจ๊งเหมือนกันนะ เพิ่มทุนไม่ได้ จนกระทั่งคุณธารินทร์ต้องบอกคุณชุมพล ณ ลำเลียง ไปบอกฝรั่งเลย ฝรั่งเพิ่มทุนให้ไทยพาณิชย์เท่าไรกระทรวงการคลังเพิ่มให้เท่านั้น ไม่งั้นไทยพาณิชย์วันนี้ก็กลายเป็นฝรั่งพาณิชย์ไปแล้วเหมือนแบงก์อื่น ๆ เห็นไหมแบงก์ไทยกลายเป็นแบงก์ฝรั่ง แม้แต่ธนาคารหวั่งหลีของตระกูลหวั่งหลี

ไทยพับลิก้า : ธนาคารนครธน

ศิริวัฒน์ : ธนาคารนครธนวันนี้ก็กลายเป็นธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงก์ออฟเอเชียของตระกูลอะไรก็จำไม่ได้แล้ว วันนี้ก็กลายเป็นธนาคารยูโอบี ธนาคารแหลมทอง อะไรก็เจ๊งกันหมดไปรวมอะไรกันหมด เดี๋ยวนี้เป็นแบงก์อะไรก็จำกันไม่ได้ ธนาคารศรีนคร ธนาคารมหานคร ก็ไปกันหมด
ดังนั้นผมก็เลยคิดว่ากรรมมันก็มาตกกับภาคเอกชน

ส่วนการที่บอกว่าลอยตัวค่าเงินบาทหรือลดค่าเงินบาทใครจะได้ประโยชน์ยังไง อันนี้ผมไม่รู้ แต่ผมรู้ว่าต่างประเทศที่มาซื้อหนี้เน่า ที่เราเรียก ปรส. (คณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) ตอนหลังสื่อก็เขียนว่า “ปล้นรอบสอง” (หัวเราะ) ก็บอกว่า โอเค สถาบันการเงินมาซื้อหนี้เน่าแล้วจะทยอยขายเอาทุนเพื่อมาซื้อหนี้เน่า ในที่สุดก็ไม่เป็นแบบนั้น สื่อรู้ดีกว่าผมอีก

ในที่สุดก็ไปเรียกลูกหนี้มา เพราะเขาประมูลไปประมาณ 28% อันนี้ตามสื่อเลยนะ เสร็จก็ไปเรียกลูกหนี้มา ซื้อคืนไหม 50% บางคนก็เอา บางคนก็ไม่เอา เสร็จเขากำไรไป 20% สบาย ๆ บางคนก็ไม่เอา ในที่สุดก็ต้องฟื้นฟูเพิ่มทุนเข้าไป อ้าว กลับเข้าไปเข้าตลาดหุ้นกันใหม่ ซึ่งช่วงนั้นอยู่ในกระบวนการ Rehab คือกลุ่มบริษัทที่ปรับโครงสร้างหนี้

ทีเรียกว่า Rehab นั่นก็เป็นกระบวนการที่ว่าหลังจากภาคเอกชนฟุบแล้ว ก็ทำให้รัฐเหนื่อย เหนื่อยเพราะภาษีได้น้อยลง ตลาดหุ้นมาร์เก็ตแคปหายไปตั้งไม่รู้กี่แสนล้าน

ผมจำได้ ขนาดแบงก์กรุงเทพยังแทบไม่รอด คุณชาตรี โสภณพนิช พวกคุณไปสัมภาษณ์ ท่านยังบอก “ผมเป็นเจ้าสัวเยสเตอร์เดย์” (หัวเราะ)

เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์ เจ๋งกันหมด คุณอย่ามาว่าแบงก์เกอร์รวยเลย แบงก์เกอร์ก็เจ๊ง แบงก์กรุงเทพเหลือ 30 กว่าบาท ผมจำได้ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมัน วันนี้เราก็โอเค ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา

ไทยพับลิก้า :นอกจากว่าแบงก์ชาติทำนโยบายผิด ในแง่ของตัวนักลงทุนเอง จะโทษตัวเองด้วยใช่ไหม


ศิริวัฒน์ : ครับ ต้องโทษตัวเองด้วยครับ เพราะเราอยู่ในวังวนตอนนั้นที่เรียกว่าฟองสบู่ เอาอย่างนี้ พูดง่ายๆ 1. เงินหาง่าย ถ้าลองย้อนกลับไปตลาดหุ้นมัน 30 กว่าปีแล้ว จำได้ไหม ตอนนั้นคนทำงานลาออกจากงานมาเล่นหุ้น

ไทยพับลิก้า : ค่ะ ใช่

ศิริวัฒน์ : ผมจำแม่นเลย ก็เพราะเงินมันหาง่าย วันหนึ่งหาได้ 2-3 หมื่น จะไปทำ ทำไหมเงินเดือนหมื่นหนึ่ง หมื่นห้า เรามาเล่นหุ้น เสร็จแล้วก็ไปเล่นมาร์จิน ก็เหมือนผมครับ ก็เลยเลยเถิดไปเรื่อยๆ โห โบรกเกอร์ก็ปล่อยมาร์จินกันใหญ่ ฉะนั้นมันก็เลยเถิด ถามว่าฟองสบู่ใช่ไหม ใช่ หลายบริษัทซื้อขายกัน P/E (Price to Earnings Ratio) 30-40 เท่า ราคาตลาดสูงกว่าบุ๊กตั้งหลายเท่าตัว ก็ยังเล่นกัน
ช่วงนั้นบอกไหนจะเพิ่มทุนอย่างโน้นอย่างนี้ นักข่าวก็ไล่กันใหญ่ ในที่สุดก็เป็น domino theory ต้องโทษตัวเองด้วยครับ

ไทยพับลิก้า : วันนี้ถ้าย้อนกลับไป จะบอกว่าบทเรียนตอนนั้นมันเป็นยังไง

ศิริวัฒน์ : โอเค ถามก็คือมัน “เจ็บปวด” ว่าคนเราถ้าทำอะไรเกินตัวก็ตามที่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เศรษฐกิจพอเพียง” พระองค์ท่านก็สอนสอนว่า คนเราต้องพึ่งตนเอง ทำอะไรก็พอประมาณ เดินทางสายกลางนั่นเอง สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

ผมว่าช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยคืออย่างที่บอก หลงละเริงคิดว่าข้าพเจ้าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ที่ 6 ตามต่างประเทศให้สมญา เราคิดว่าเราแน่ ต่างประเทศก็ให้เงินกู้ อย่างที่เมื่อกี้พูดไปนะครับ เฮ้ยไปให้เงินประเทศไทยดีกว่ามันกำลังเป็นเสือตัวที่ 5 ให้มาเลเซียดีกว่า อะไรอย่างนี้ เสร็จแล้วทุกคนก็ไปทางนั้นโดยที่ลืมคิดไปว่าวันหนึ่งต้องใช้เงินคืนเขานะ มันไม่ใช้ฟรีนะ แล้วไปพึ่งเงินคนอื่นไม่ได้พึ่งตนเอง

ถ้าคิดกลับไปได้วันนั้น ถ้าทำอย่างพอเพียงมันก็รวยได้ แต่รวยอย่างพอเพียง ก็คือพึ่งตัวเองให้มากที่สุด พึ่งคนอื่นน้อยหน่อย เพราะพอถึงเวลาแล้วคนอื่นเขาก็มาเอาคืน เราก็ต้องคืนให้เขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้ดี

ผมว่าช่วงนั้นนักธุรกิจส่วนใหญ่นะครับ เอาหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นมันขึ้น มูลค่าก็เพิ่ม เพราะฉะนั้นตัวเองก็ร่ำรวย พอร่ำรวยเสร็จแล้วก็เอาใบหุ้นนั้นไปจำนำธนาคาร ก็ได้เงินมา ถูกไหมครับ แบงก์ก็ให้เงินมาประมาณ 50% ของมูลค่าหุ้น แล้วก็เอาเงินส่วนหนึ่งไปเล่นหุ้นต่อ หุ้นตัวเองนะ ทำให้หุ้นมันขึ้นไป บางส่วนก็เอาไปซื้อที่ดิน

ช่วงนั้นเอง ผมจำแม่นเลยว่า ก่อนจะเกิดวิกฤติ รู้สึกสมัยอดีตนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ราคาที่ดินก็ขึ้นๆ ทุกคนก็ไปเก็งกำไรที่ดินหมดนะครับ ฟองสบู่ชัด ๆ ผมจำแม่นเลยว่าซื้อขายที่ดินกันเนี่ย วางหูโทรศัพท์ราคาเปลี่ยนแล้วนะ รายหนึ่งเปลี่ยนไปกี่หมื่นกี่แสนไม่รู้ บอกคุณไม่เอาใช่ไหม โอเค เสร็จปุ๊บ คุณโทรมาอีกที สมมติคุณซื้อกับผม ไร่หนึ่งจากแสนหนึ่งเป็นแสนห้าแล้ว โห คุณศิริวัฒน์แพง ไม่เป็นไรวางสายเดี๋ยวอีกชั่วโมงโทรมา 3 แสนแล้ว

ช่วงนั้นมันอย่างนั้นจริงๆ นะ ก็คือฟองสบู่ แบงก์เองทำไง ก็ปล่อยของให้มีโฉนดเท่านั้นเอง แล้วที่โกงกันน่ะ บางแบงก์ที่เจ๊งน่ะ ก็ไปซื้อที่ดินตามต่างจังหวัดเป็นพันๆ ไร่ บางคนผู้บริหารก็ไปตั้งบริษัทนอมินีขึ้นมา มูลค่าแค่ 10 ล้าน โอโห! ขอกู้แบงก์พันล้าน แล้วก็เสวยสุขกัน แต่ก็โอเค ตอนนี้ก็รับโทษกันไปเยอะแยะ อะไรอย่างนี้

พอเป็นอย่างนี้เยอะช่ วงนั้นก็เกิดภาวะฟองสบู่ ปุ๊บๆๆๆ พอมันแตก โพล๊ะ! คราวนี้ โห ไปกันใหญ่เลย

ไทยพับลิก้า : ในแง่ของเป็นนักลงทุนรายใหญ่นี่คือ ถ้าเกิดมองกลับไป จริงๆ แล้วตลาดหลักทรัพย์ควรจะมีนักลงทุนรายย่อยเยอะขนาดนั้นไหม ช่วงนั้นทุกคนต่างก็เข้ามาเต็มไปหมด

ศิริวัฒน์ : ครับ คือจำนวนนักลงทุนมันวัดกันไม่ได้สักที แต่ตลาดหลักฯ จะบอกได้เสมอว่ามีนักลงทุนทั้งหมดทั่วประเทศกี่แสนราย ในกรุงเทพฯ เท่าไหร่ ต่างจังหวัดเท่าไหร่ จำได้ไหม ตอนนั้นโบรกเกอร์พยายามไปเปิดออฟฟิศสาขาต่างจังหวัดเยอะแยะ เพราะตลาดหลักทรัพย์บอกว่าควรไปขยายฐานนักลงทุนที่ต่างจังหวัด ก็ไปเปิดกันใหญ่ ก็เลยทำให้บางโบรกเกอร์ไปโกงกันใหญ่เปิดออฟฟิศ โทษนะ อย่างสาขาหนึ่งใช้เงิน 10 ล้าน จริงๆ สร้างไปแค่ 5 ล้าน แต่เบิก 10 ล้าน อีก 5 ล้าน เข้ากระเป๋าใครไม่รู้ ในที่สุดตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. ก็ส่งเสริม คราวนี้มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุง ในหัวเมืองใหญ่มากกว่า ส่วนนักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นจะมากน้อยแค่ไหนมันก็ต่างกัน

แต่ผมขอพูดสรุปว่า ถ้าคุณจะเรียกว่านักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นรวมทั้งหมด “โลภ” ทั้งนั้น รวมทั้งผมด้วย คนเราพอถึงคำว่าโลภมันไม่มีที่สิ้นสุด

จำได้เลยช่วงนั้นนักลงทุนเยอะแยะ รวมทั้งผมด้วย ขายเสร็จกำไรนะ เสียดาย หุ้นขึ้นต่อไป ซื้ออีก ซื้อสูงกว่าที่เราเพิ่งขาย ก็อ้าวกำไรอีก ก็ไปซื้อสูงกว่าที่เราขายมันก็เป็นขั้นต่อขั้นไป อ้าว! พอเวลาขาลง โอ้โห 100 บาท เรายังกล้าซื้อเลย 50 บาท ทำไมไม่ซื้อ ก็ซื้อถัวเฉลี่ย ถัวเฉลี่ยจนระทั่ง 20 บาท ไปไม่ไหวแล้ว เลยต้องเล่นมาร์จินถูก บังคับขายก็ต้องขาย ขายเสร็จขาดทุน หุ้นกลับขึ้นมาใหม่

ดังนั้น ทั้งหมดมันเกิดเพราะความโลภ โลภที่ไม่พอ โลภที่กำไรไม่พอ โลภที่รู้สึกว่ามันต่ำมาเราต้องซื้อถัวเฉลี่ย ดังนั้นเราต้องโทษตัวเองก่อนว่าเกิดความโลภ พอเป็นอย่างนี้ แน่นอน ฟองสบู่เกิดขึ้น มันแตก ทุกคนรับกรรมหมด นักลงทุนรับก่อน เสร็จแล้วก็โบรกเกอร์ เพราะนักลงทุนคุณจะมีกี่แสนไม่รู้ พอเวลาตลาดมันลงเหลือไม่กี่หมื่น แล้วที่หลายๆ หมื่นก็ยังเป็นหนี้มาร์จิน เลย จากหลายๆ แสนเหลือไม่กี่หมื่น ค่าคอมมิชชันของโบรกเกอร์ก็ลดลง แล้วตอนนั้นจำได้ไหม ไลเซนโบรกเกอร์ใบหนึ่งเกือบร้อยล้าน
ร้อยล้านน่ะ! เดี๋ยวนี้ไปดู แทบจะไม่มีค่า

เพราะตอนนั้นโบรกเกอร์รายได้เยอะ ค่าคอมมิชชันเยอะ ตอนนั้นอยู่ที่ประมาณจุดห้าเปอร์เซ็นต์ ยังไม่มีต่อรองเหมือนวันนี้ วันนี้เกือบ 0% แล้วอะไรพวกนี้ มันก็เลยโอ้โห ดีเว้ยเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายไลเซนกัน พอเกิดวิกฤติก็ต้องมาร์จินเอย มานั่งฟ้องลูกค้า ค่าคอมมิชชันก็น้อยลง วอลุมก็หดลง เร่ขายไลเซนกันใหญ่

ทั้งหมดนี่ภาษาเศรษฐศาสตร์ก็มี ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Vicious circle หรือ “วงจรอุบาทว์” อะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้เป็นความจริง ของจริง มันจะเกิดวงจรอุบาทว์

ที่มา http://thaipublica.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น