ads head

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน (Sir. John Templeton)

เซอร์ จอห์น เทมเพิลตัน (Sir. John Templeton)



 เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในยุคบุกเบิก เขาเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของเบนจามิน เกรแฮม และเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำของโลกไม่กี่คนที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นอัศวิน 

เทมเพิลตันเกิดเมื่อปี 1912 ในชุมชนเล็กๆ ที่เงียบสงบในเมืองวินเชสเตอร์ รัฐเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา เขาถูกปลูกฝังด้านคุณธรรมและจริยธรรมจากพ่อแม่ที่เป็นคนเคร่งศาสนา
พ่อของเขาเป็นนักกฎหมาย  แต่ก็รู้จักลงทุนและทำธุรกิจ โดยมักลงทุนซื้อไร่นาที่ไม่ค่อยมีใครต้องการมาด้วยราคาถูกๆ และขายทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ สิ่งนี้ช่วยปลูกฝังจอห์นให้รู้จักมองหาสินทรัพย์ที่ต่ำกว่ามูลค่าอยู่เสมอ

เทมเพิลตันเรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก โดยได้เกรด A แทบทุกวิชา เมื่อโตขึ้น เขาสอบเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล และเริ่มศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนอย่างจริงจัง

ระหว่างนั้น สหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง หรือ “The Great Depression” ทำให้พ่อของเขาประสบปัญหาทางการเงินและไม่มีเงินส่งเขาเรียน จอห์นจึงยิ่งต้องเรียนให้ดีเพื่อให้ได้ทุนการศึกษา มิเช่นนั้นจะไม่มีเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียน

แม้วิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงิน แต่มันก็เป็นจุดสตาร์ทที่ทำให้เทมเพิลตันในวัย 20 เริ่มต้นลงทุนในหุ้น ด้วยความรู้ที่สั่งสมมาประกอบกับสายตาอันเฉียบคม รู้จักมองหาสินทรัพย์ที่ “Undervalued” อยู่เสมอ ทำให้เขามองเห็นว่าหุ้นทั้งตลาดในขณะนั้นราคาถูกจนไม่น่าเชื่อ
พอเรียนจบจากเยล เทมเพิลตันได้ทุนไปศึกษาต่อด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นลงทุนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จอห์นยังออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก ประสบการณ์จากการท่องเที่ยว ทำให้เขาได้ศึกษาธุรกิจของประเทศต่างๆ ตลอดจนเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง เทมเพิลตันเชื่อว่า การจะเข้าใจในบริษัทหนึ่งๆ อย่างถ่องแท้ คุณต้องเข้าใจบริษัทคู่แข่งซึ่งอยู่ในประเทศอื่นๆ ด้วย

ในปี 1937 หลังจากจบอ็อกซ์ฟอร์ด เทมเพิลตันก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานในฐานะที่ปรึกษาการลงทุนของบริษัทแห่ง หนึ่งในนิวยอร์ค จอห์นเปลี่ยนงานอยู่ 1-2 ครั้ง ครั้นถึงปี 1940 เขาได้เข้าซื้อบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนแห่งหนึ่งด้วยเงิน 5,000 เหรียญ และเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองอย่างเต็มตัว

ในปี 1954 เทมเพิลตันได้ตั้งกองทุนชื่อ Templeton Growth Fund หรือ TGF เริ่มต้นด้วยสินทรัพย์ 7 ล้านเหรียญ (ตอนนั้นเขามั่งคั่งระดับหนึ่งแล้ว)

พอถึงปี 1992 หรือเกือบ 40 ปีต่อมา สินทรัพย์ของกองทุนก็ทวีค่าเพิ่มเป็น 22,000 ล้านเหรียญ ครั้นถึงปี 1997 TGF มีสินทรัพย์ถึง 80,000 ล้านเหรียญ มีผู้ถือหน่วยกว่า 4 ล้านคน เป็นผลงานการลงทุนที่น่าอัศจรรย์มาก

ช่วงปลายทศวรรษ 1960 เทมเพิลตันได้ย้ายถิ่นฐานไปพำนักที่เกาะบาฮามาส ในอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ด้วยความศรัทธาในวิถีชีวิตของชาวเกาะที่นั่น และอยากทุ่มเทเวลาเพื่องานการกุศลและศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเชื่อมั่นและศรัทธา โดยตั้งสำนักงานเล็กๆ อยู่บนชั้นสองของร้านตัดผม

ต่อมา เขาได้สัญชาติอังกฤษและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “อัศวิน” จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่สอง เมื่อปี 1987 ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนชั้นนำของโลกไม่กี่คนที่ได้รับเกียรติยศอันนี้

เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน เสียชีวิตลงในปี 2008 ขณะอายุ 95 ปี มีผู้คำนวณไว้ว่า ใครก็ตามที่ลงทุนใน Templeton Growth Fund ด้วยเงิน 10,000 เหรียญ ในปี 1954 จนถึงวันที่เทมเพิลตันตาย เงินจำนวนนั้นจะเพิ่มมูลค่ากลายเป็น 7 ล้านเหรียญ เลยทีเดียว

หัวใจสำคัญแห่งความสำเร็จของเทมเพิลตัน เกิดจากการมุ่งมั่นค้นหาหุ้นราคาถูกไปทั่วโลก เขาไปลงทุนในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งจีน ซึ่งนักลงทุนในเวลานั้นไม่เคยสนใจ และทำกำไรได้มหาศาล การกระจายการลงทุนแบบไร้พรมแดน ทำให้จอห์นพบโอกาสงามๆ มากกว่าคนอื่น และยังช่วยให้เขารอดตัวจากการพังครืนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงปลายทศวรรษ 60 ด้วย

หลักการลงทุนของเทมเพิลตันที่น่าจดจำไปใช้มีอยู่มากมาย เช่น จงอย่าลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะนั่นเท่ากับเป็นการจำกัดโอกาสของตัวเอง โดยให้ติดตามข่าวสารทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยในการวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างดียิ่ง อีกทั้งต้องมองการณ์ไกลไปข้างหน้าหลายๆ ปี อย่ามองสั้นๆ เพียงแค่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับบริษัทนี้ในเดือนต่อไปหรือไตรมาสถัดไป
ที่สำคัญคือต้องรู้จัก “ทำตรงข้ามกับฝูงชน” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นที่สุดของเทมเพิลตัน เขาเป็นเจ้าของคำขวัญ “จงซื้อเมื่อคนอื่นขายอย่างสิ้นหวัง และจงขายเมื่อคนอื่นซื้ออย่างหิวกระหายบ้าคลั่ง”  ซึ่งเป็นจุดยืนที่ชัดเจนมาก

เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน ถูกยกย่องว่าเป็นครูผู้ชี้ทางให้นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าทั่วโลก ซึ่งนอกจากความสามารถในการลงทุนแล้ว การดำรงตนอยู่ในศีลธรรม รู้จักให้ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างสมถะ มัธยัสถ์อดออม ..


แม้ว่าโดย พื้นฐานแล้ว เซอร์ จอห์น เทมป์เพิลตัน เป็นนักลงทุนในแนวคุณค่าของบริษัท แต่ก็นับได้ว่าเป็นเซียนนักลงทุนในแนวปรัชญาท่านหนึ่งในความคิดของผม ด้วยแนวความคิดที่แตกต่างและไม่เหมือนใครในการพิจารณาสภาวะตลาดและรูปแบบการ ลงทุน ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับก็แตกต่างจากคน "หมู่มาก" เช่นกัน

เซอร์ จอห์น เทมป์เพิลตัน มีหลักการพื้นฐานในการเลือกลงทุนดังนี้:
1. ลงทุนเพื่อผลตอบแทน การลงทุนก็เพื่อได้ให้ผลตอบแทน โดยเฉพาะเมื่อคิดหักภาษีเรียบร้อยแล้ว

2. เปิดใจให้กว้าง ทำตัวให้ยืดหยุ่น เราสามารถปรับการลงทุนได้เสมอเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใจให้กว้าง เพื่อรอรับความคิดใหม่ๆ ในโลกที่เปลี่ยนไปได้เสมอ

3. ไม่ทำตามคนหมู่มาก ท่านเซอร์ บอกว่าหากทำตามคนหมู่มากแล้ว ก็จะได้รับผลตอบแทนเท่าๆ กับคนหมู่มากนั้น (มือเก่าหัดขับ: อันนี้น่าคิดเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา เนื่องจากว่านักลงทุนส่วนใหญ่นั้น เรียกได้ว่า "ขาดทุน" ดังนั้นหากเราทำตัวเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วๆไป อาจจะต้องขาดทุนไปด้วยหรือเปล่า?)

4. ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ท่านเซอร์เชื่อว่าตลาดที่ซบเซาหรือตลาดหมีนั้น จะเป็นระยะเวลาเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วจะเปลี่ยนเป็นตลาดขาขึ้น

5. หลีกเลี่ยงหุ้นที่กำลังนิยมกัน เพราะคนที่ไล่ซื้อหุ้นพวกนั้น อาจจะเข้าซื้อเมื่อผิดจังหวะและผิดเวลาได้

6. เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง (มือเก่าหัดขับ: อันนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อเราวิเคราะห์ผิด หรือเข้าซื้อหุ้นที่ผิดจังหวะราคา คือแพงไป "มาก" จะต้องยอมรับข้อผิดพลาดและแก้ไขทันที อย่ามัวหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง หรือมัวแต่โทษคนอื่นอีก ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร) และเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็จะต้อง - ดูข้อถัดไป

7. เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง ว่าเราผิดตรงไหน คำนวณอะไรผิดไป หรือวิเคราะห์ธุรกิจผิดไปอย่างไร แล้วแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในอนาคต

8. ซื้อเมื่อมีแต่ข่าวร้าย ขายเมื่อมีแต่ข่าวดี (มือเก่าหัดขับ: ซื้อตอนข่าวดีก็ติดดอยน่ะสิ)

9. มองหาราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าของหุ้น ช่วงเวลาที่ดีในการซื้อหุ้นก็คือตอนที่คนอื่นขายหุ้นออกมาเยอะๆ อย่าลืมดูพื้นฐานด้วยล่ะ

10. มองหาโอกาสในทุกที่ หรือมองให้ทั่วโลก (มือเก่าหัดขับ: เรื่องนี้จะง่ายขึ้นหากเราอยู่ในโลกของ "เงินไม่มีพรหมแดน" คือสามารถโยกย้ายเงินจากที่ไหนไปที่ไหนก็ได้ และลงทุนได้อย่างถูกกฏหมายในทุกๆที่ นอกจากนั้น เราอาจจะต้องมองถึงโอกาสในการลงทุนด้านอื่นนอกจากตลาดทุนด้วย เช่นในเรื่องอสังหาริมทรัพย์, ตราสารหนี้, ทรัพย์สินเพื่อการลงทุน - เช่นทองคำ เป็นต้น)

ที่มา http://www.doohoon.com/smf/index.php?topic=15161.0
http://clubvi.com/2012/09/24/templeton/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น