ads head

วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คาถาของ..บัฟเฟตต์ “เงินสด..เงินสด..เงินสด”

คาถาของ..บัฟเฟตต์ “เงินสด..เงินสด..เงินสด”
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
www.facebook.com/doctorweraphong
วอร์เรน บัฟเฟตต์ หนึ่งในมหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่รวยที่สุดคนหนึ่งของโลก อาจกล่าวได้ว่า เขาเป็นคนธรรมดาๆที่พลิกผันชีวิตของตนด้วยการลงทุนและการซื้อกิจการ จนกลายไปเป็นบุคคลที่มั่งคั่งติดอันดับโลก บัฟเฟตต์เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับ “การถือเงินสด” เป็นอย่างยิ่ง โดยสังเกตได้จากปริมาณเงินสดที่บริษัทของบัฟเฟตต์ที่ชื่อ เบิร์กไชร์ ฮาทาเวย์ ถืออยู่ซึ่งพบว่า งบดุลของเบิร์กไชร์เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2555 มีเงินสดอยู่ 40.7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณของประเทศไทยทั้งประเทศ) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากทีเดียว แล้วทำไม? บัฟเฟตต์จึงต้องถือเงินสดมากมายถึงเพียงนี้ ผมพอมีคำตอบที่อยากจะเล่าให้คุณผู้อ่านได้อ่านดังนี้ครับ

หนึ่ง เงินสด สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่..แย่มาก แต่อาจให้โอกาสการลงทุนที่..ดีมาก
ในเวลานี้อัตราผลตอบแทนของการฝากเงินในสถาบันการเงินของกลุ่มประเทศยูโรโซน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ต่างให้อัตราผลตอบแทนเกือบจะเป็นศูนย์ ดังนั้นการถือครองเงินสดโดยหวังว่าจะได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยนั้น ในระยะยาวคงจะให้ผลตอบแทนที่..แทบจะไม่ได้อะไรเลย
ในช่วงเหตุการณ์ล่มสลายของบริษัทเลห์แมน บราเดอร์ส วาณิชธนกิจชั้นนำของโลกเมื่อเดือนกันยายนปี 2551  บัฟเฟตต์ได้ออกมาพูดถึงกลยุทธ์การลงทุนของเขาว่า “การลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินสดอย่างมากในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่การถือเงินสดของนักลงทุนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ก็อาจสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพวกเขาโยกเงินสดกลับไปลงทุนในเวลาที่เหมาะสม” ประโยคดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า บัฟเฟตต์พร้อมที่จะ “ใช้เงินสดทันที..เมื่อโอกาสมาถึง”

สอง เปลี่ยนจาก “การถือ..เงินสด” เป็น “กลยุทธ์การลงทุนด้วย..เงินสด”
ตามที่รู้กันว่า บัฟเฟตต์ไม่ได้ถือเงินสดเพราะว่า เขาต้องการผลตอบแทนจากดอกเบี้ย แต่บัฟเฟตต์ถือว่าการถือเงินสดเป็น..กลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่ง เขามักจะเฝ้ารอเวลาที่ “ตลาดหุ้นถล่ม” ด้วยความอดทนอย่างสูง จากนั้นจึงนำเงินสดที่บริษัทตนถือครอง เข้าไปกวาดซื้อของถูกๆ..ที่อยู่เต็มไปหมดทั่วตลาดหุ้น
อลิซ โชรเดอร์ (Alice Schroeder) ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “The Snowball: Warren Buffett and the Business of Life.” ได้พูดถึงกลยุทธ์ดังกล่าวของบัฟเฟตต์ไว้ว่า “เขามองการถือเงินสดต่างจากนักลงทุนทั่วๆไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ดิฉันได้เรียนรู้จากบัฟเตต์ก็คือ โอกาสของการถือเงินสด เขาจะมองว่า การถือเงินสดก็คือ อนุพันธ์ประเภทหนึ่ง ที่ไม่มีวันหมดอายุ และสามารถเปลี่ยนไปสินทรัพย์ได้ทุกชนิดได้อย่างรวดเร็ว”  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น