ads head

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ครบสิบปีวิกฤติฟองสบู่ มาเรียนรู้จากแนวทางเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ 3)

ครบสิบปีวิกฤติฟองสบู่ มาเรียนรู้จากแนวทางเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ 3)


      เราสามารถมองเห็นถึงทัศนคติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อการ สร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประเทศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาจากความสนพระราชหฤทัยทางด้านเทคโนโลยีสำหรับการเกษตรของพระองค์

      ใคร ก็ตามที่มีโอกาสได้เห็นพระราชวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน กรุงเทพมหานคร ก็จะพบว่าพระราชวังแห่งนี้มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากพระราชวังแห่งใดในโลก เพราะแค่เพียงมองจากภายนอก ก็จะเห็นได้โดยง่ายว่าภายในเขตรั้วพระราชฐานเป็นที่ตั้งของโรงสีข้าว โรงเลี้ยงโค ยุ้งฉาง กังหันสูบน้ำ และโรงงานเล็กๆ หลายหลัง และยิ่งหากมีโอกาสเข้าไปถึงภายในเขตพระราชฐาน ก็จะพบทั้งไร่นาทดลอง เรือนเพาะชำ โรงเห็ด บ่อปลา กับห้องปฏิบัติการวิจัยทางการเกษตรและโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตรอีกเป็น จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้คือโครงการทดลองส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ เริ่มต้นและค่อยๆขยายขอบข่ายงานตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา

      โครงการส่วน พระองค์ในเขตพระราชฐานแห่งนี้ ทรงมีวัตถุประสงค์ให้เป็นเสมือนห้องทดลองพื้นฐานสำหรับการเกษตรและ อุตสาหกรรมการเกษตรแขนงต่างๆ เพื่อตัวอย่างสำหรับศึกษาดูงาน และเพื่อสร้างองค์ความรู้เป็นต้นแบบนำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ ต่อไป 11

      การดำเนินงานทั้งหมดในโครงการทดลองส่วนพระองค์ แม้จะมีขอบข่ายหลากหลาย ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์, การทดลองนวัตกรรมในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องจักรและเทคโนโลยีในการแปรรูปผลิตผลการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันในโครงการทั้งหมดก็คือ แม้ว่าจะมีหลักวิชาการชั้นสูงรองรับ แต่ก็จะเน้นการใช้วิธีการและเครื่องจักรที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ราคาถูก และหาได้ง่ายในประเทศ ซึ่งเหมาะสำหรับเกษตรกรที่จะนำไปปรับใช้กับความต้องการของตนเอง

      นอก จากโครงการส่วนพระองค์ในพระราชวังแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังพระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยราชการต่างๆ ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนา” ในภูมิภาคต่างๆของประเทศ เพื่อดำเนินการทดลองวิจัยหาแนวทางยกระดับความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของ เกษตรกร ภายใต้แนวปรัชญาเดียวกัน ทั้งยังทรงมีพระราชดำรัสต่อคณะบุคคลและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการช่วย เหลือเกษตรกรหลายครั้ง ถึงความจำเป็นในการเสาะหาวิธีการหรือเทคโนโลยีที่ง่าย ไม่ใหญ่โต แต่อำนวยประโยชน์ได้จริง 12

      ทั้งหมดดังกล่าว อาจนำมาสู่ข้อสรุปแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยว กับเศรษฐกิจได้ว่า ทรงให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรอันเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศมาแต่ดั้ง เดิม เน้นการส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ในเบื้องต้นและรวมกลุ่มร่วมมือกัน ในระดับชุมชนในรูปของสหกรณ์ โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนในด้านปัจจัยการผลิต, ทุน, และช่องทางการตลาด รวมทั้งช่วยในเรื่องการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตบนพื้น ฐานของเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างผลผลิตให้ “พอมีพอกิน...อุ้มชูตัวเองได้...ให้มีพอเพียงกับตนเอง” เป็นอันดับแรก การผลิตเพื่อค้าขายเป็นสิ่งที่ตามมา ซึ่งได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำรินี้สู่สาธารณชนอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เมื่อปีพุทธศักราช 2517 คือตั้งแต่เมื่อ 23 ปีก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทย 13 

      ย่อม ไม่มีผู้ใดสามารถระบุลงไปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงได้รับอิทธิพลจากแนวคิดด้านเศรษฐกิจของ สำนักคิดเศรษฐศาสตร์แห่งใดหรือไม่และอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงเคยมีพระราชดำรัสกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์เองว่าเป็นแบบ “ไม่ติดกับตำรามากเกินไป” เสียด้วยซ้ำ 14 อย่างไรก็ตาม ก็มีกรอบข้อเสนอของนักคิดที่สำคัญหลายท่านในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลกที่ขอนำมากล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้

      ฟรี ดริค ลิส        ( Friedrich List 1789-1846 ) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน เสนอแนวคิดที่เรียกว่าเศรษฐกิจแห่งชาติ อันเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยสาระสำคัญในแนวคิดของ Friedrich List เน้นการเพิ่มพลังทางการผลิตของชาติ พัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นของคนในชาติ ยึดหลักพึ่งตนเองภายในประเทศเป็นพื้นฐาน คือเน้นการผลิตเพื่อตลาดภายในเป็นอันดับแรก การแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศมีความสำคัญเป็นอันดับรอง 15

      นัก คิดสำคัญอีกคนที่เสนอให้พัฒนาประเทศโดยเริ่มจากชุมชนเป็นหลักคือ Mohandas Karamchand Gandhi ( 1869-1948 ) ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาของประเทศอินเดีย Gandhi เสนอว่าหน่วยเศรษฐกิจท้องถิ่นทุกหน่วย ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล และเหนือขึ้นไปทุกระดับ จะต้องพยายามพึ่งตนเองหรืออยู่ด้วยตนเองให้ได้เป็นอันดับแรก การแลกเปลี่ยนกับหน่วยเศรษฐกิจภายนอกนั้นเพื่อให้พอเพียงมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อพึ่งพิง โดยคิดรับใช้และใช้ประโยชน์จากหน่วยที่ใกล้ชิดกับตนเองมากที่สุดก่อน ซึ่งเมื่อกระทำต่อเนื่องกันไป ก็จะมีการเชื่อมโยงหน่วยเศรษฐกิจแต่ละหน่วยแต่ละระดับเข้าด้วยกันเป็นลูกโซ่ จากครอบครัวสู่ชุมชน จนไปถึงประเทศชาติ และถึงระดับนานาชาติในที่สุด

      ความ คิดและปฏิบัติการทางความคิดด้านเศรษฐกิจของคานธีเช่นที่กล่าวมานี้ เป็นที่รู้จักกันไม่มากนักเมื่อเทียบกับบทบาทการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อกอบ กู้เอกราชให้แก่อินเดียของเขา ยิ่งกว่านั้น ความคิดดังกล่าวยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปว่าเป็นแนว คิดอุดมคติที่ไม่น่าจะชี้นำสังคมได้ในความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ยังมีนักคิดเศรษฐศาสตร์บางคน เช่น E.F. SCHUMACHER เจ้าของแนวคิด Small is Beautiful ได้เคยกล่าวถึงคานธีว่า “เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดอยู่ในโลกของเราในปัจจุบัน คานธีถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก” 16

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยมีพระราชดำรัสถึงแนวคิดของพระองค์ ว่าสอดคล้องกับแนวคิด Small is Beautiful ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานปรัชญาทางพุทธศาสนา มีสาระสำคัญอยู่ที่การสร้างความกินดีอยู่ดีให้มากที่สุด ด้วยรูปแบบการบริโภคที่ดีและใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ดังความในพระราชดำรัสที่ว่า “....คิดแบบนี้ ว่าจะทำเล็กๆ ทำอะไรที่ไม่วุ่นวายใหญ่โตเกินไป ก่อนนี้ก็คิดมาตลอด แต่ทีหลังได้มาเจอหนังสือของนายชูมาเกอร์ เขาบอกว่าSmall is Beautiful ในนั้นเขาก็พูดถึงวิธีคิดแบบพุทธศาสนาด้วย ก็พอใจว่า เออ..เขาก็คิดอย่างนั้น.....” 17      

      อาจมีผู้โต้แย้ง ว่า แนวคิดทางเศรษฐกิจของนักคิดบางท่านดังที่กล่าวถึง รวมทั้งแนวคิดทางเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวคิดที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับยุคสมัย คือไม่สอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจหลักของโลกในยุคปัจจุบันที่ครอบงำอยู่ด้วย ระบบทุนนิยมเสรีข้ามชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงประจักษ์ในความจริงข้อนี้ และทรงเคยมีพระราชอรรถาธิบายหลายครั้งว่าแนวทางเศรษฐกิจที่ทรงเสนอนั้นไม่ ใช่สำหรับจะให้ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตทั้งหมด เพราะจะไม่เหมาะแก่กาลสมัย แต่เป็นแนวทางที่น่าจะนำมายึดถือเป็นบางส่วน คือราว 1 ใน 4 ของการดำเนินชีวิต 18

      สำหรับภายในประเทศไทย ซึ่งระบบเศรษฐกิจหลักเป็นแบบทุนนิยมเสรีและมีการพึ่งพาการลงทุนกับการค้า ต่างประเทศในปริมาณสูงมาอย่างต่อเนื่องนั้น  ระบบเศรษฐกิจที่มีจุดเน้นอยู่ที่ภาคการเกษตรในชนบท ( ซึ่งบางครั้งก็เรียกกันว่า “เศรษฐกิจชุมชน” หรือ “เศรษฐกิจชุมชนชาวนา” ) ถูกนำเสนอให้เป็นอีกทางเลือกของระบบเศรษฐกิจ และได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้นทุกขณะ กระทั่งในที่สุด แนวคิดนี้ก็ถูกระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 พศ.2540-2544 ว่า “การพัฒนาในอนาคตจะเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในภูมิภาคและชนบท ให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยมีเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงเป็นตัวนำ และเป็นฐานในการยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต”

      อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจตามแนวคิดที่มุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งจากระดับ ชุมชนเช่นที่กล่าวมานี้ ก็เพิ่งได้รับการศึกษาและนำเสนอในประเทศไทยอย่างจริงจังและเป็นระบบโดยนัก วิชาการ นักคิด และนักพัฒนาชนบทเมื่อประมาณ 15 ปีมานี้เอง 19  การ ศึกษาดังกล่าวส่วนใหญ่ยังเป็นการอาศัยแนวคิดและทฤษฎีจากต่างประเทศ ตั้งเป็นสมมุติฐาน หรือศึกษาจากกรณีตัวอย่าง ซึ่งนับได้ว่าองค์ความรู้ว่าด้วยเศรษฐกิจชุมชนชาวนาไทยยังมีอยู่จำกัด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เองก็ได้ระบุว่าการศึกษาโดยรวมที่ผ่านมานั้น “ยังขาดการศึกษาตามสภาพความเป็นจริง...คือการทำความเข้าใจการทำมาหากินของ ชาวนา...ทิศทางการพัฒนาของครอบครัวและชุมชนชาวนา และความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจชาวนากับเศรษฐกิจแห่งชาติ” ทั้งยังเรียกร้องให้มีการศึกษาการประยุกต์ใช้ทฤษฎีกับชีวิตที่เป็นจริงใน ประเทศ 20

      ต่อข้อสังเกตของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นดัง กล่าว อาจถือได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงก้าวนำทางไปก่อนแล้ว ด้วยการพระราชทานแนวทางการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริด้านเศรษฐกิจของ พระองค์ออกเผยแพร่ในชื่อที่รู้จักกันว่า “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งเป็นประหนึ่งการนำผลการศึกษาทดลองสาขาต่างๆ ที่ดำเนินมาตลอดรัชสมัย สรุปเรียบเรียงออกมาเป็นแนวทางการประกอบอาชีพหาเลี้ยงชีวิต สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เป็นเจ้าของที่ดินแปลงเล็กจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ได้อย่างเป็นขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ให้พออยู่พอกินเลี้ยงตนเองได้ในระดับครอบครัว แล้วรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการผลิตและการตลาด ไปจนถึงการเชื่อมโยงการผลิตกับระบบธุรกิจขนาดใหญ่ ทรงคำนวนและระบุสัดส่วนการจัดการบริหารปัจจัยการผลิตแต่ละด้านอย่างละเอียด พร้อมทั้งสรุปแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้จริงในแต่ละขั้นตอน สำหรับเกษตรกรจะได้นำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการดำรงชีวิตของ ตนเองได้อย่างชัดเจน

      หากจะกล่าวโดยสรุป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแบ่งการปฏิบัติตามแนวทาง “ทฤษฎีใหม่” เป็น 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกมุ่งให้เกษตรกรเลี้ยงตัวเองได้ในระดับชีวิตที่ประหยัด โดยมีหลักสำคัญคือให้มีข้าวบริโภคพอเพียงตลอดปี จากข้อเท็จจริงที่ว่าเกษตรกรรายย่อยจะมีที่ดินโดยเฉลี่ยประมาณครอบครัวละ 15 ไร่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงคำนวนตามหลักวิชาการได้ผลออกมาว่าจะต้อง แบ่งที่ดินเพื่อใช้ทำนา 5 ไร่ จึงจะมีข้าวเพียงพอบริโภคทั้งปีสำหรับหนึ่งครอบครัว พื้นที่ที่เหลือนำมาใช้ปลูกพืชไร่หรือไม้ผลอีก 5 ไร่ ขุดสระเก็บน้ำ 3 ไร่ กับใช้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์อื่นๆ อีก 2 ไร่ ทั้งยังทรงคำนวนปริมาณน้ำฝนเปรียบเทียบกับความต้องการใช้น้ำสำหรับการเพาะ ปลูก ได้ข้อสรุปว่าสระน้ำควรลึกประมาณ 4 เมตร เพื่อให้ได้ความจุทั้งหมดประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถเก็บกักน้ำฝนจากธรรมชาติเอาไว้ใช้ประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อทรงคำนวนอัตราเฉลี่ยการระเหยของน้ำเปรียบเทียบกับปริมาตรกักเก็บแล้ว ก็ทรงพบว่าน้ำในสระของแต่ละครอบครัวจะไม่พอเพียงต่อการเพาะปลูกตลอดทั้งปี จำเป็นที่ทางราชการจะต้องช่วยจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม นอกจากนั้น ทางราชการหรือองค์กรเอกชนต่างๆ ยังจะต้องเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร ในการลงทุนเบื้องต้นด้วย

      รายละเอียดของทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประมวลจากผลการทดลองปฏิบัติในพื้นที่จริงนาน นับ 10 ปี โดยทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระ ราชกุศล นำไปซื้อที่ดินประมาณ 15 ไร่ในจังหวัดสระบุรี ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯประมาณ 100 กิโลเมตรเศษ และทรงทดลองพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวโดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุน จนสามารถทำการเพาะปลูก “...อย่างธรรมดาอย่างชาวบ้าน...” ในที่สุดก็ “...ได้ข้าวและได้ผัก ขายข้าวกับผักนี่มีกำไร... 2 หมื่นบาทต่อปี หมายความว่า โครงการนี้ใช้การได้...”21

      เมื่อเกษตรกร สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับครอบครัวแล้ว ก็สามารถดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 คือรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทั้งในด้านการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา รวมทั้งด้านสังคมและศาสนา โดยความร่วมมือของหน่วยราชการและองค์กรเอกชน

      ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสนอให้กลุ่มเกษตรกรติดต่อร่วมมือกับแหล่ง เงินและแหล่งพลังงาน ( เช่น ธนาคารและบริษัทน้ำมัน ) ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงการผลิตในระดับครอบครัวและชุมชนเข้ากับระบบทุนและระบบ เศรษฐกิจหลักได้ต่อไป 22

      ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการตามกระแสโลกมาอย่างต่อเนื่อง พระราชดำริและพระราชกรณียกิจด้านเศรษฐกิจตามแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวก็ดำเนินคู่กันตลอดมา และในท่ามกลางวิกฤติที่แผ่ขยายผลกระทบไปทั่วทั้งประเทศ  แนวพระราชดำริเดียวกันนี้เอง ก็ได้รับการยอมรับเป็นประหนึ่งดวงประทีปให้ประชาชาติไทยได้ส่องทางเพื่อก้าว ให้พ้นความมืดมิด ไปสู่อนาคตที่มีความสว่างไสวรอคอยอยู่เบื้องหน้า 23


ที่มา:http://www.oknation.net/blog/print.php?id=65802 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น