เศรษฐกิจฟองสบู่
รศ.ธนรักษ์ เมฆขยาย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ. 2550
ที่มาhttp://topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/2011
ถ้านับตั้งแต่ทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นับเป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดของระบบเศรษฐกิจตกต่ำ สร้างความเสียหายต่อทุกชนชั้น ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างสูงสุด วิกฤตการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สมมติฐานคือ เป็นเรื่องของวัฎจักรเศรษฐกิจ เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค หรือเป็นเพราะภาคประชาชน อย่างไรก็ดี อาจกล่าวในเชิงลักษณะอาการได้ว่า เป็นเพราะ “ฟองสบู่แตก”
ความหมายของเศรษฐกิจฟองสบู่
การที่ เศรษฐกิจสาขาใดสาขาหนึ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ได้ผลตอบแทนมากกว่าสาขาอื่น และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เป็นสภาพที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตแบบลวงตา ซึ่งเฉพาะมูลค่าเท่านั้นสูงขึ้น ไม่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิต การจ้างงาน และรายได้ที่แท้จริงของประชาชนเพิ่มขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพื้นฐาน (Real Sector) เช่น ปรากฏการณ์ที่มูลค่าในทางเศรษฐกิจหรือทรัพยากรถูกดึงไปรวมกัน เมื่อเศรษฐกิจภาคการเงินการธนาคารพองขึ้นเสมือนลูกโป่งที่ลอยขึ้นไป สุดท้ายจะแตกและตกลงมาสู่พื้นฐานความจริง
เศรษฐกิจฟองสบู่ (Bubble Economy) หรือ สินทรัพย์ที่พองตัวขึ้นมา (Inflated Asset) เป็นภาวะบูม (Boom) ของเศรษฐกิจที่เกิดจากมายาภาพของคนที่เชื่อว่า ราคาสินค้าที่อยู่ในเศรษฐกิจสต็อก (Stock Economy) จะมีราคาสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทุกคนจึงแห่กันมาเล่นเกมเงินตรา (เก็งกำไร) เพื่อแสวงหา Capital Gain สะท้อนถึงเศรษฐกิจขยายตัวเพราะอุปสงค์เทียม
ประเภทของเศรษฐกิจฟองสบู่
ตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ 16 ในเมืองการค้าของยุโรปที่มีการขยายตัวของการค้า เคยเกิดการเก็งกำไร พร้อมๆ กับวิวัฒนาการของเศรษฐกิจทุนนิยม หลังจากนั้นฟองสบู่ได้ทวีความซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น เศรษฐกิจฟองสบู่อาจแบ่งตามลักษณะของกลุ่มคนที่ทำให้เกิดออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. มวลชนทั่วไปที่ไม่รู้ความ เริ่มจากการเป็นเศรษฐีในชั่วพริบตาของผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาเล่นเก็งกำไร ไปกระตุ้นความโลภของคนอื่นให้เข้ามาผสมโรง จนคลั่งไคล้ลุกลามไปทั่วภายในเวลาไม่นาน เช่น เหตุการณ์คลั่งไคล้ดอกทิวลิปที่ฮอลแลนด์ในศตวรรษที่ 17
2. มวลชนผู้มีอันจะกิน สร้างกระแสการเก็งกำไรเพื่อให้มีรายได้ที่ทัดเทียม และการเลียนแบบเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม เช่น เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อทศวรรษที่ 1920 เนื่องจากภาวะมอเตอร์ไรเซชั่น (ประชายานยนต์) ที่ผู้คนต้องการมีรถยนต์เป็นของตนเอง ทำให้เกิดกระแสการเก็งกำไร เพื่อนำผลได้มาซื้อรถยนต์เพื่อสร้างความทัดเทียมกันทางสังคม
3. บริษัทขนาดใหญ่ ระดมเงินจำนวนมหาศาลจากตลาดทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่ไม่นำเงินไปลงทุนทางการผลิตเช่นในอดีต กลับหมุนเงินจำนวนมหาศาลนี้มาเล่นเก็งกำไร ประกอบกับการเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้สร้างผลกำไรได้สูงกว่าจากการผลิต ต่อมาบริษัทอื่นๆ ทั้งใหญ่และเล็ก ต่างเอาอย่าง เช่น เศรษฐกิจฟองสบู่ช่วงครึ่งหลังทศวรรษที่ 1980
กลไกการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่
สามารถแบ่งตามวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเป็น 2 ห้วง ดังนี้
(1) ห้วงศตวรรษที่ 19 (ปี ค.ศ. 1800-1899)
แบ่งออกเป็น 8 ขั้นตอน ดังนี้
1. มีการสะสมความมั่งคั่งก่อนที่วัฎจักรเศรษฐกิจหนึ่งๆ จะเริ่มขึ้น ยิ่งถ้าสะสมก่อนห้วงบูม พอถึงห้วงบูม การเก็งกำไรยิ่งมีมากขึ้น ทำให้ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ (Panic) รุนแรงยิ่งขึ้น
2. มีปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าหลายๆ ปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน หรือเป็นปัจจัยที่ทรงพลัง เช่น ค่าเงินเยนญี่ปุ่นแข็งขึ้น จะผลักดันให้เศรษฐกิจโตแบบพุ่งโลด การเก็งกำไรเกิดขึ้นง่ายและรุนแรงกว่าปกติ
3. ราคาสินค้าแพงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจคึกคัก เกิดการขยายการผลิต การนำเข้าวัตถุดิบ การก่อสร้างโรงงาน การติดตั้งเครื่องจักร เศรษฐกิจจริงจะขยายตัวและต้องใช้เงินทุน การระดมเงินทุนโดยผ่านการออกพันธบัตรหรือตลาดหลักทรัพย์มีมากขึ้น
4. เกิดการเก็งกำไร ยิ่งภาวะเศรษฐกิจบูมนานต่อเนื่อง ราคาสินค้าจะยิ่งถีบตัวสูงขึ้นตาม ผู้คนแห่กันซื้อคุณสมบัติใหม่ของสินค้า โดยไม่เกี่ยวข้องกับคุณค่าใช้สอย (Use Value) อันเป็นคุณสมบัติเดิมของสินค้านั้น
5. การเคลื่อนไหวของเงินรวดเร็วมาก สินเชื่อขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเก็งกำไรขยายไปสู่หุ้นหรือพันธบัตร ความมั่งคั่งที่สะสมมา (ในขั้นตอนที่ 1) ถูกนำไปใช้เล่นเก็งกำไร
6. เกิดอุปสงค์เพิ่มเติมในภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะอุปสงค์ต่อสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากรายได้เพิ่มขึ้นจากกำไรที่ได้มาจากการเก็งกำไรระยะสั้นชั่วคราว
7. ทางการเข้าแทรกแซงการปล่อยสินเชื่อ เมื่อเห็นว่า ถึงขีดที่จะเป็นอันตรายต่อสถาบันการเงินทั้งระบบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามาควบคุมการปล่อยสินเชื่อ การพองตัวออกคล้ายฟองสบู่ของสินเชื่อถูกทำให้แฟบลง
8. อวสานของการเก็งกำไร อุปสงค์ในข้อที่ 6 จะสูญสลายไปก่อน ต่อมาการผลิตในภาคเศรษฐกิจจริงลดลง เกิดการว่างงาน ผลกระทบจากฟองสบู่แตกจะแผ่กระจายไปสู่ภาคเศรษฐกิจโดยรวม เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยาวนาน
(2) ห้วงศตวรรษที่ 20 (ปี ค.ศ. 1900-1999)
เงิน ในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ไม่ได้เป็นไปตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์คลาสสิก ที่เป็นแค่สื่อกลางแลกเปลี่ยนกับใช้สะสมทรัพย์ แต่เป็นทรัพย์ที่งอกเงยได้โดยตัวมันเอง เป็นทุนที่ทรงประสิทธิภาพในการสร้างความมั่งคั่ง ปรากฏการณ์ที่ทำให้ทฤษฏีมูลค่าเกิดจากแรงงานไม่อาจอธิบายได้มีอยู่ 3 กรณี คือ
1. แรงงานมนุษย์ถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์
2. ความเหลื่อมล้ำกันของค่าแรงสูงมาก
3. ราคามิได้ถูกกำหนดจากต้นทุนที่แท้จริงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความต้องการ (กฎอุปสงค์) และปริมาณสินค้า (กฎอุปทาน)
ต่อไปอธิบายกลไกการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ อาจแบ่งตามวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็น 4 ขั้น (ศุภวุฒิ สายเชื้อ 2543)
1. ก่อนจัดตั้งสถาบันการเงินหรือธนาคารออมทรัพย์ การสะสมทรัพย์เกิดขึ้นภายในตัวเศรษฐกิจจริง ในรูปของ ทองคำ เหรียญ อัญมณี ฯลฯ
2. มีสถาบันการเงิน แต่การฝากเงินยังเป็นเพื่อให้ธนาคารดูแลรักษาแทน ผู้ฝากนอกจากไม่ได้รับดอกเบี้ยแล้ว ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ธนาคารที่ช่วยดูแลรักษาให้ เมื่อจะนำเงินไปใช้ในการลงทุนจึงค่อยถอนออกมา
3. ธนาคารพาณิชย์เริ่มปล่อยกู้ ผู้ประกอบการนำเงินไปลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง สร้างงาน ผลิตสินค้า ก่อให้เกิดผลกำไร แล้วนำเงินมาใช้หนี้พร้อมดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝาก เพื่อระดมเงินฝาก
4. ปริมาณเงินตราใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การไหลเวียนของสินค้าและบริการคล่องตัว ภาคเศรษฐกิจจริงขยายตัว รายได้ของผู้คนเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราการบริโภค มีเงินออมเพิ่มขึ้นโดยสัมพัทธ์ ต่อมาผู้ประกอบการกลายเป็นบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่มีกำไรสะสมมากจนไม่ต้องกู้ ยืมจากธนาคาร
ปริมาณเงินที่อยู่ในสภาพคล่องจำนวนมหาศาลนี้ต้องดิ้นรน หาทางออก โดยนำไปเก็งกำไรในเศรษฐกิจสต็อก ต่อมาเติบโตอย่างเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์จากเศรษฐกิจจริงและมีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่กลายเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดนไปโดยอัตโนมัติ
การเกิดและแตกเศรษฐกิจฟองสบู่
กรณีฟองสบู่แตกในปี 2540 อธิบายได้ 3 ระยะ ดังนี้
1. การก่อตัวของฟองสบู่
ใน ห้วงปี 2527-2529 เศรษฐกิจไทยยังตกต่ำ เกิดปัญหาสถาบันการเงิน (“ราชาเงินทุน”) ล้ม จนเป็นที่มาของการเกิดโครงการ 4 เมษายน 2527 โดยรัฐบาลต้องไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และหั่นงบประมาณรายจ่ายในปี 2528 และ 2529 ติดต่อกัน เพื่อรักษาวินัยการเงินและการคลัง
ก่อนเข้าสู่ปี 2530 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว พอดีกับนักลงทุนจากญี่ปุ่นหนีพิษเงินเยนที่ปรับตัวสูงขึ้นเท่าตัวในช่วงไม่ กี่ปีก่อนหน้า ได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเพื่อการส่งออกเข้ามา ตามมาด้วยนักลงทุนจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนาประเทศจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม และภาคบริการ จนกลายเป็นภาวะ “บูม” ทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา
2. การพองตัวของฟองสบู่
ความ ต้องการที่ดินเพื่อตั้ง โรงงาน สำนักงาน สนามกอล์ฟ รีสอร์ท ที่อยู่อาศัย โรงแรม ฯลฯ เพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจซื้อขายที่ดินเติบโตขึ้น พวกนายหน้าค้าที่ดินได้กำไรอย่างงดงามในชั่วข้ามคืน เกิดเศรษฐีใหม่กว่า 200,000 คนที่ร่ำรวยจากการค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และการเล่นหุ้น มีการปั่นราคาที่ดิน ทำให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมเป็นร้อยเท่า
สภาพ คล่องทางการเงินมีสูงมาก เงินนอกประเทศสามารถเข้าง่ายออกง่าย อัตราดอกเบี้ยเพียง 11.5% ธนาคารพาณิชย์สนับสนุนการปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินกันอย่างเต็มที่ แสดงว่า ส่งเสริมพวกนักเก็งกำไรให้เข้ามาสู่ธุรกิจฟองสบู่
ต้นปี 2533 ความเคลื่อนไหวของการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มแผ่วลง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ตามจำนวนโครงการลงทุนที่เริ่มก่อสร้าง รัฐบาลโดยผ่าน ธปท.ได้ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินให้ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ ก่อประโยชน์ต่อการเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะที่นำไปเก็งกำไร ประจวบกับสงครามอ่าวเปอร์เซียในช่วงปลายปี 2533 ทำให้การเก็งกำไรหดหายไป ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ราคาที่ดินเข้าสู่ภาวะทรงตัวและหยุดเคลื่อนไหว
ขณะ ที่ฟองสบู่ลูกที่หนึ่งเริ่มแตก กลับปรากฏว่า มีกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติที่มีความพร้อมทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีทันสมัย ได้เข้ามาลงทุนอยู่ตลอดเวลาในช่วงปี 2534 เป็นการต่ออายุให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่นและฮ่องกงเข้ามา “ร่วมทุน” กับกลุ่มตระกูลดังๆ
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ได้กระหน่ำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้หยุดชะงักอีกครั้งหลังจากที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัว
ต่อมาเกิดปัจจัยกระตุ้นทำให้ผู้ประกอบ การธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแหล่งเงินทุนใหม่ ดอกเบี้ยต่ำ มากระตุ้นขยาย “ฟองสบู่” ให้พองโตขึ้นและใหญ่กว่าเดิมได้อีกครั้ง ดังนี้
1. ประกาศหลักเกณฑ์มาตรฐานการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ทำให้การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีที่ดินหรือทรัพย์สินค้ำประกัน ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 50% จากเดิมที่ให้เป็นความเสี่ยง 100% ยิ่งทำให้สินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์มีมากขึ้น
2. การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศสามารถเปิดให้บริการวิเทศธนกิจ (BIBF) ซึ่งบริการให้กู้เงินและรับฝากเงินตราต่างประเทศได้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536
3. คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้บริษัทสามารถออกตราสารได้ ตั้งแต่ปี 2536 กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงกลับมาทุ่มเทลงทุนในโครงการใหม่ๆ อย่างคึกคัก เกิดภาวการณ์ซื้อที่ดินเพื่อกักตุนไว้เป็นแลนด์แบงก์ (Land Bank) ตามข้อกำหนดของ ก.ล.ต.
4. ปลายปี 2536 กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศหลักเกณฑ์ให้บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกัน วินาศภัยสามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการพัฒนาที่ดิน รวมทั้งสินเชื่อรายย่อย และยังยินยอมให้ปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนต่างๆ ได้ถึง 30% ของสินทรัพย์ในบริษัทประกัน จากเดิมเพียง 10%
อาจกล่าว ได้ว่า เป็นความผิดพลาดของทางการที่ดำเนินนโยบายสนับสนุนฟองสบู่ แทนที่จะปรามปราบฟองสบู่ ผลจึงเป็นความหายนะทางเศรษฐกิจในอีก 4 ปีต่อมา เมื่อฟองสบู่ลูกที่สองแตกอย่างถาวร
3. สภาวะฟองสบู่แตก
เมื่อทาง การจำเป็นต้องตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท และดำเนินการปิด 56 สถาบันการเงิน ระบบการเงินจึงเข้าสู่ภาวะวิกฤต สถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง ทั้งๆ ที่สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของ ธปท.และกระทรวงการคลัง ขณะที่อีกด้านหนึ่งมาจาก ขาดความสามารถ ความโลภ ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารเงิน และการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประชาชน นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขาดความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินไทย
นโยบายการเงินที่เห็นได้ชัด คือ การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (ตะกร้าเงิน) อิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลานานถึง 10 กว่าปี โดยไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
การส่ง สัญญาณเตือนภัยล่าช้า วิเคราะห์สถานการณ์ผิดพลาด เช่น การใช้นโยบายเปิดเสรีทางการเงินเพราะต้องการเร่งระดมทุนจากต่างประเทศเข้า มาขยายการลงทุน เนื่องจากเงินออมในประเทศไม่เพียงพอ ต่อมาเมื่อเงินทุนไหลเข้ามามากจนกระตุ้นให้เกิด “ฟองสบู่” ลูกใหม่ ธปท.กลับควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ และมิได้ตระหนักถึงภัยอันตราย สถาบันการเงินไทยหันไปพึ่งพาเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยอาศัยส่วนต่างค่อนข้างมากของอัตราดอกเบี้ยมาทำกำไรจำนวนมหาศาล ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำตัวเป็น “เสือนอนกิน”
ปริมาณ เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ ในปี 2530 มีเพียง 27.6 พันล้านบาท หลังเปิดเสรีทางการเงินในปี 2536 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 260.9 พันล้านบาท หรือเกือบ 20 เท่าในช่วงเวลาเพียง 7-8 ปี และกว่า 90% เป็นการนำเข้าเงินทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์
เงินทุนนำ เข้าจากต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้น เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อระยะยาวในประเทศ ส่วนใหญ่กระจุกตัวที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน และหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงในช่วงฟองสบู่พองตัว เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นจุดเริ่มฟองสบู่แตก จึงลุกลามไปถึงสถาบันการเงิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น