ads head

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ครบสิบปีวิกฤติฟองสบู่ มาเรียนรู้จากแนวทางเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ 2)





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเศรษฐกิจไทย (ตอนที่ 2)

      เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองสิริราช สมบัติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะยุติไปได้ไม่นานนั้น  จะพบว่าสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่ายากลำบาก ข้อมูลด้านประชากรเมื่อปี 2485 บ่งชี้ว่าโอกาสที่เด็กทารกจะเสียชีวิตก่อนอายุ 1 ขวบมีถึง 1 ใน 8 ( ปัจจุบันคือ 1 ต่อ 30 ) เด็กที่มีชีวิตรอดมาหลังจากนั้นก็ต้องเผชิญกับโรคภัยนานาชนิดซึ่งส่วนใหญ่ เป็นโรคติดต่อ ( โดยเฉพาะมาลาเรีย ) ในพื้นที่ชนบท ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่าร้อยละ 80 เต็มไปด้วยภัยจากโจรผู้ร้ายที่เพิ่มขึ้นมากหลังสงครามยุติ กิจกรรมการผลิตหลักในชนบทคือการทำนา ซึ่งทำได้เพียงปีละครั้งเดียวโดยใช้เวลาทำนาเพียงประมาณครึ่งปี สำหรับเวลาที่เหลือก็ยากที่จะหางานนอกภาคการเกษตร  การคมนาคมยากลำบากและเงินตราก็ขาดแคลนจนกระทั่งในหลายท้องที่ที่ห่างไกล ชาวชนบทต้องค้าขายแบบแลกเปลี่ยนสินค้ากันเองโดยตรง

      ในช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจของประเทศยังขึ้นอยู่กับการส่งออกผลิตผลจากภาคการเกษตรและการทำ เหมือง ( สินค้าออกที่สำคัญคือข้าว ไม้สัก ดีบุก และยางพารา ) แต่สถานการณ์โดยรวมทางการเงินการคลังก็อยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มูลค่าของเงินบาทลดลงเหลือเพียง 1 ใน 7 ของมูลค่าเดิมเมื่อสงครามยุติ และลงอีกร้อยละ 20 ในระยะ 2 ปีต่อมา ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และทำให้รายได้ที่แท้จริงของข้าราชการลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3 ของรายได้ช่วงก่อนสงคราม

      ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีที่พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์นั้น อาจจะมองเห็นได้ชัดเจนผ่านบันทึกของที่ปรึกษาทางการคลังของรัฐบาลไทย ที่ว่า “... ในเดือนพฤษภาคม พศ. 2489 ประเทศสยามได้เริ่มตั้งตัวจากที่ไม่มีอะไรเลย เงินคงคลังของรัฐบาลหมดเกลี้ยง ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของประเทศก็คือ ศักยภาพในการแสวงหาเงินตราต่างประเทศเข้ามาในอนาคตเท่านั้น ...”4

      ในด้านที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น หากพิจารณาจากพระราชประวัติตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพจนกระทั่งขึ้นครองราช สมบัติ ก็สามารถกล่าวได้ว่าทรงสัมผัสหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศและประชาชนชาว ไทยน้อยมาก เพราะนอกจากจะทรงถือกำเนิดในราชสกุลอันสูงของสังคมไทยซึ่งมีช่องว่างอย่าง มากต่อความสัมพันธ์กับประชาชนแล้ว ยังทรงพระราชสมภพและทรงใช้ชีวิตวัยเยาว์ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ 5 อย่างไรก็ตาม ชีวิตขณะทรงพระเยาว์ในต่างประเทศที่เรียบง่ายและประหยัดเช่นเดียวกับสามัญชน กับประสบการณ์ในสภาพสังคมที่แตกต่างจากประเทศไทย ( โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังปี 2476 ที่เสด็จไปประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจจนแข็งแกร่งขึ้นมาจากปัจจัยรากฐานทางการเกษตร ที่มีอยู่เดิมภายในประเทศ และภาคการเกษตรก็ยังคงมีความสำคัญอยู่มากทางเศรษฐกิจแม้จนทุกวันนี้ ) ก็อาจมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์, พระราชจริยาวัตร และแนวพระราชดำริในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทรงแสดงให้เห็นผ่านพระราชกรณียกิจต่างๆ ในช่วงเวลาต่อมา

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีโอกาสสัมผัสกับแผ่นดินและประชากรของพระองค์อย่าง จริงจัง ใกล้ชิด และต่อเนื่องตั้งแต่เสด็จนิวัติพระนครเมื่อปลายปี 2494 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากจังหวัดประจวบคิรีขันธ์อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังไกลกังวลซึ่ง เป็นที่ประทับชายทะเลในอำเภอหัวหิน ( เทียบได้กับ camp David ของประมุขประเทศสหรัฐอเมริกา ) โดยเมื่อเสด็จแปรพระราชฐานมายังพระราชวังแห่งนี้นับตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2495  ก็โปรดที่จะเสด็จฯเพื่อทรงเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ชนบทใกล้เคียง และเริ่มทรงสัมผัสกับปัญหาและความทุกข์ยากของประชาชน พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในยุคแรกๆ ก็เริ่มต้นในจังหวัดนี้

      การเสด็จเยี่ยมราษฎร ค่อยๆขยายขอบข่ายออกไปในจังหวัดต่างๆ ทั่วพื้นที่ภาคกลาง แล้วขยายออกไปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ เริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ( 2498 ) ภาคเหนือ ( 2499 ) และภาคใต้ ( 2502 ) ซึ่งการเสด็จเยี่ยมราษฎรในทั่วทุกภูมิภาคนี้ ต่อมาจะกลายเป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญมาตลอดรัชสมัย ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีการก่อสร้างพระราชฐานต่างจังหวัดในทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นการเปิดโอกาสให้ทรงใช้เวลาใกล้ชิดกับประชาชนในต่างจังหวัดยิ่งขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว จะทรงใช้เวลาในการแปรพระราชฐานไปยังจังหวัดต่างๆ ราว 7 - 8 เดือนในแต่ละปี

      ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรู้จักและเข้าใจพื้นฐานอันแท้จริงของแผ่นดินและประชากรในราชอาณาจักรของ พระองค์มากขึ้นทุกขณะ นำมาซึ่งพระราชกรณียกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนทั่วทั้ง ประเทศ  

      หากใช้คำนิยามของวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ว่าด้วย “การวางแผนและการบริหารจัดการกิจกรรมด้านการผลิต และการกระจายสินค้าและบริการที่ผลิตได้ไปสู่ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสนองความต้องการของสมาชิกในสังคมให้ดีที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้” มาเป็นกรอบพิจารณาพระราชกรณียกิจและแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวที่ทรงดำเนินผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ  ซึ่งอาจแยกให้เห็นเด่นชัดเป็น 2 กลุ่ม คือโครงการศึกษาวิจัย และโครงการปฏิบัติการพัฒนา  จะพบว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแทบทั้งหมด ล้วนมีเป้าหมายหลักในการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งและ มั่นคง

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานของภาคการเกษตร 6 ด้วยเหตุดังกล่าว จึงสนพระราชหฤทัยในด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก ทรงริเริ่มโครงการทั้งทางด้านการวิจัยและด้านการพัฒนาในชนบทของทุกภูมิภาค โดยมีจุดเน้นที่ปัจจัยหลักในการผลิตสำหรับภาคการเกษตร 5 ประการ คือแหล่งน้ำ ที่ดินทำกิน ทุน เทคโนโลยี และตลาด อย่างครบวงจร 7

      ในบรรดาปัจจัยหลักทั้ง 5 ประการดังกล่าวนี้ การพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทาน อาจถือได้ว่าเป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง ทรงพระราชทานพระราชดำริและทรงกระตุ้นหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้มีการ ดำเนินงานในด้านนี้ตั้งแต่ในระยะต้นรัชกาลจนถึงปัจจุบัน ด้วยทรงถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดทั้งในการดำรงชีวิตและการประกอบ อาชีพ ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทานสัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศที่ว่า “...THE MINIMUM INCLUDES WATER TO DRINK AND WATER TO IRRIGATE THE FIELDS. THESE BASICS ARE LACKED BY THE VILLAGERS AND THAT IS WHY WE MUST GIVE THEM...” 8

      ในด้านทุน, ที่ดิน และการตลาด นอกจากจะทรงพระราชทานพระราชดำริต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ เกษตรกรแล้ว   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นผู้นำในการพระราชทานทั้งเงินทุนและ ที่ดินสำหรับส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการจัดการผลิต ในรูปของสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งทรงสนับสนุนให้มีช่องทางการตลาดที่กว้างขวางและหลากหลาย ซึ่งในปัจจุบัน มีชุมชนและกลุ่มสหกรณ์จำนวนหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานป้อนสู่ตลาดได้ทั้งประเทศ 9

      พระราชกรณียกิจเท่าที่กล่าวมานี้ หากมองอย่างผิวเผิน ก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งยกระดับเศรษฐกิจพื้นฐานในภาคการเกษตร โดยมอบ ( หรือทรงอำนวยการให้มีการมอบ ) ปัจจัยต่างๆอย่างสำเร็จรูปในลักษณะของการบริจาคสู่ผู้ยากไร้โดยผู้ที่มี อำนาจและกำลังทรัพย์มากกว่า และอาจส่งผลให้เกษตรกรในชนบทเคยชินกับการคอยรับความช่วยเหลือ  ซึ่งผู้สื่อข่าวจากนิตยสาร FAR EASTERN ECONOMIC REVIEW  ซึ่งมีโอกาสตามเสด็จขณะเสด็จทรงงานในชนบทพร้อมทั้งได้รับพระราชทานสัมภาษณ์ ได้เคยนำเสนอประเด็นปัญหาและคำตอบในเรื่องดังกล่าวนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า
 ... A RECURRENT TROUBLE WITH ALL AID PROGRAMMES IS DANGER THAT THEY WILL CREATE AN ATTITUDE OF DEPENDENCY - DO NOT GIVE PEOPLE FISH, AS THE SAYING GOES: BETTER GIVE THEM A ROD AND LINE, AND TEACH THEM HOW TO FISH. WERE HIS EFFORTS APPRECIATED? WERE THE VILLAGES GRATEFUL? “NO ONE REALLY APPRECIATES,” HE ( พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ) SAID , “THEY ALWAYS WANT MORE. THAT IS WHY THEY MUST BE ENCOURAGED TO MAKE THEMSELVES SELF- SUPPORTING, TO STAND ON THEIR OWN FEET. THAT IS WHY IT IS IMPORTANT NOT TO GIVE TOO MUCH AND EVEN MORE IMPORTANT NOT TO PROMISE TOO MUCH ...” 10

ที่มา:http://www.oknation.net/blog/print.php?id=65802 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น