ads head

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

นักลงทุน 4 ประเภท: กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่งในศตวรรษที่ 21

นักลงทุน 4 ประเภท: กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่งในศตวรรษที่ 21

การลงทุน (Investment) ได้กลายเป็นเส้นทางสู่ความมั่งคั่งแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งน่าจับตามองยิ่ง โดยเฉพาะเมื่ออินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์สะดวกรวดเร็ว คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้มีเงินทองมหาศาล จึงสามารถเข้าร่วมในเกมแห่งความร่ำรวยนี้ได้
การลงทุนที่ดูเหมือน “รวยง่าย ไม่ต้องทำงานหนัก” ก็อาจไม่ได้เป็นสวรรค์สำหรับทุกคนเสมอไป เปรียบประดุจดั่งการแข่งขันช่วงชิงทางธุรกิจ ที่ต้องมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ ผู้ได้รับและผู้สูญเสีย ดังนั้น การลงทุนที่ไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำจึงเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น หากทว่า กลับต้องอาศัยความมานะทุ่มเทในการศึกษาเรียนรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและประสบกาณ์ ในการปฏิบัติ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการซื้อขายช่วงชิงความได้เปรียบ ตลอดจนการควบคุมจิตใจไม่ให้ถูกความโลภและความกลัวเข้าครอบงำ จึงจะสามารถฟันฝ่าไปสู่ผลกำไรตามที่มุ่งหวังไว้
1. นักลงทุนหุ้นปั่น
สิ่งที่ทำให้ “หุ้นปั่น” แตกต่างจากหุ้นประเภทอื่น ไม่ได้อยู่ที่การเคลื่อนไหวของราคาที่รวดเร็วเพียงอย่างเดียว เพราะแม้แต่หุ้นพื้นฐานดี ก็ยังมีช่วงเวลาที่ระดับราคามีความผันผวน หากทว่าความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ หุ้นปั่นถูกควบคุมโดยผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งทำให้ระดับราคามีความบิดเบือนจากกลไกตลาดค่อนข้างมากกว่าหุ้นปกติทั่วไป
หุ้นปั่นจึงนิยมเล่นกันในช่วงตลาดซบเซา หุ้นใหญ่หุ้นดีทั้งหลายล้วนไม่มีใครใส่ใจ จึงเป็นโอกาสที่ดีของหุ้นปั่นได้แสดงตัวโดดเด่น เพื่อยั่วเย้าให้นักลงทุนแมงเม่าทั้งหลายเข้ามาล้อเล่นไฟ
คำแนะนำในการเล่นหุ้นปั่น ย่อมไม่มีอะไรมาก เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับความเมตตาปราณีของนักลงทุนกลุ่มน้อยที่ควบคุม สถานการณ์อย่างเบ็ดเสร็จ

ที่มา http://www.siamintelligence.com/value-investor-in-21-century/
2. นักลงทุนหุ้นพื้นฐาน แบบสวนตลาด (Contrarian Value Investor)
เราคงหาคำนิยามให้กับ Value Investor ได้ยาก เพราะต่างคนก็ตีความแตกต่างกันไป หากทว่าสิ่งที่มีร่วมกันของนักลงทุนประเภทนี้ก็คือ การวิเคราะห์หุ้นว่าเป็นตัวแทนของธุรกิจ ดังนั้น จึงเลือกลงทุนในหุ้นเหมือนกับการเลือกลงทุนในธุรกิจ หากราคาที่ซื้อหุ้นน้อยกว่ามูลค่าของบริษัทนั้น ก็น่าจะเป็นการลงทุนที่สร้างผลกำไรให้ได้ในอนาคต
จุดแข็งของนักลงทุนประเภทนี้ คือ เลือกซื้อหุ้นได้ในราคาที่ต่ำ ดังนั้น หากตลาดฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหรือหุ้นที่ซื้อไปมีผลประกอบการดีอย่างต่อ เนื่อง ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากเข้ามาแย่งกันซื้อหุ้นตัวนี้ นักลงทุนแบบสวนตลาดที่ซื้อหุ้นไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีใครสนใจ ก็จะได้กำไรมหาศาล สมดังที่รอคอย
หากทว่าจุดอ่อนของนักลงทุนประเภทนี้ก็คือ การที่หุ้นลงมาราคาต่ำให้เราเลือกซื้อ ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นหุ้นที่ดีจริง บางทีอาจเพราะบริษัทนี้มีข้อมูลบางอย่างที่เราไม่รู้ก็เป็นได้ หรือแม้กระทั่งการประเมินอนาคตบริษัทของเรายังกระทำได้ไม่รอบคอบ จึงทำให้ผิดพลาดไป
นักลงทุนแบบ Contrarian Value Investor ที่เลือกซื้อหุ้นซึ่งคิดว่าดี ในช่วงตลาดขาลง ย่อมต้องอาศัยสติปัญญาและการค้นคว้ามหาศาล เพราะเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ซึ่งอาจต้องลามไปถึงการวิเคราะหคู่แข่งและภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมด้วย ดังนั้น นักลงทุนรายย่อย จึงมักเสียเปรียบนักลงทุนรายใหญ่ที่สามารถลงทุนในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ดี กว่า
การลงทุนในช่วงตลาดขาลง แม้ว่าเราเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานกิจการดีได้ถูกต้อง แต่ราคาที่ซื้อไว้ต่ำแล้ว ก็อาจต่ำลงไปได้อีก เพราะนักลงทุนคนอื่นเกิดความกลัวจึงขายลงมาโดยไม่สนใจพื้นฐาน ทำให้นักลงทุนประเภทนี้ต้องอดทนกับการถือหุ้นเป็นเวลานาน จึงทำให้เสียโอกาสในการซื้อหุ้นที่ดีตัวอื่นไป
โดยเฉพาะเมื่อตลาดกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง แต่หุ้นของเราไม่ใช่หุ้นที่ตลาดสนใจ ก็จะต้องอดทนถือต่อไป
บางทีคนที่เล่นหุ้นตัวอื่นซึ่งตลาดในช่วงขาขึ้นสนใจมากกว่า อาจทำกำไรต่อครั้งได้น้อยกว่า แต่เมื่อทบรวมกันหลายครั้ง ทั้งรายวัน รายเดือน รายปี ก็อาจมากกว่านักลงทุนที่ซื้อหุ้นดีราคาต่ำ ซึ่งได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่ต้องใช้เวลาหลายปี
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนประเภทนี้ก็มีข้อได้เปรียบกว่านักลงทุนที่แห่ตามตลาด ก็คือ ความสงบนิ่งของจิตใจไม่หวั่นไหวไปตามข่าวดีข่าวร้ายที่เข้ามากระทบ ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ เพราะพวกที่คิดว่าเข้าใจตลาดดี จึงเข้าไปซื้อขายทุกครั้งที่มีความเคลื่อนไหวของราคา สุดท้ายมักเป็นฝ่ายปราชัย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมจิตใจให้เป็นกลางได้ ไม่ฉิบหายเพราะความโลภก็ต้องย่อยยับเพราะความกลัว
หากทว่า การไม่หวั่นไหว ก็อาจกลายเป็นผลร้ายได้ เมื่อพื้นฐานธุรกิจของหุ้นที่เราเคยคิดว่าดี มีความเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เมื่อถึงเวลานั้นการตัดสินใจขายหุ้นออกไปก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา แม้ว่าจะต้องขาดทุนและเจ็บช้ำบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของการลงทุน
สิ่งที่จะช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับนักลงทุนแบบ Contrarian Value Investor ก็คือ การเลือกหุ้นที่มีสภาพคล่องพอสมควร(liquidity) แม้ว่าในสายตาของนักลงทุนประเภทนี้ที่เคร่งครัดจะมองว่า หุ้นที่มีสภาพคล่องดี มักมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป หากทว่า ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งธุรกิจมีความผันผวนมากกว่าเดิม การเตรียมทางหนีทีไล่ที่ดีไว้ ทั้งการตัดขาดทุนและเคลื่อนย้ายกำไรไปลงทุนหุ้นตัวอื่น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
อย่าให้คุณต้องประสบกับภาวะที่ว่า หุ้นมีกำไร แต่ไม่มีใครสนใจซื้อต่อจากคุณ
3. นักลงทุนหุ้นพื้นฐาน แบบตามตลาด (Bullish Value Investor)
นักลงทุนประเภทนี้ มีความคล้ายคลึงกับนักลงทุนประเภทที่ 2 คือ เลือกซื้อหุ้นที่คิดว่าน่าจะมีอนาคตทางธุรกิจที่สดใส หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในภาวะปกติ
หากทว่า นักลงทุน Bullish Value Investor จะไม่ยอมเสี่ยงซื้อหุ้นในช่วงตลาดขาลง ที่คนส่วนใหญ่กำลังเทขายอย่างเมามัน เพราะเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าหุ้นตัวนี้จะกลับขึ้นมาเมื่อไร หากซื้อไปแล้วหุ้นยังลงต่อ ก็อาจทำให้เสียโอกาสในการนำเงินไปซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดีตัวอื่น ซึ่งอาจจะกลับขึ้นมาได้ก่อน ทำกำไร 1 iv[ แล้วค่อยย้อนคืนมาซื้อหุ้นตัวนี้ที่ยังเชื่องช้าไม่ไปไหนก็ยังไม่สายเกินไป
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การที่หุ้นพื้นฐานดีที่เราเล็งไว้ ถูกเทขายจนราคาลดต่ำลงมา ก็อาจเป็นเพราะว่านักลงทุนคนอื่นมองว่าหุ้นตัวนี้ไม่ได้มีธุรกิจที่สดใส เหมือนดั่งที่เราคิด ดังนั้น การที่ปล่อยให้หุ้นตัวนี้กลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งแล้วค่อยซื้อตาม ก็อาจเป็นการยืนยันว่ามีคนอย่างน้อยจำนวนหนึ่งที่เห็นด้วยกับเราว่าหุ้นตัว นี้มีอนาคตที่ดี
นี่คือ บทพิสูจน์คุณค่าของหุ้นแบบหนึ่ง เพราะการวิเคราะห์ธุรกิจและสภาพการแข่งขันของเราอาจไม่รอบด้านพอ อาจมีแง่มุมที่คิดไม่ถึง การมีนักลงทุนคนอื่นมาร่วมตรวจสอบซื้อหุ้นตัวนี้ก่อนหน้าเรา ก็อาจเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายออกไป เพื่อเพิ่มความมั่นใจและลดความเสี่ยงที่เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาด
จุดอ่อนของการลงทุนแบบ Bullish Value Investor คือ การรอให้นักลงทุนคนอื่นเป็นผู้บุกเบิกตลาดก่อน จึงอาจทำให้ได้หุ้นที่มีราคาสูงขึ้นอีกนิด ดังนั้น หากขายที่ราคาเท่ากัน นักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะได้กำไรที่น้อยกว่า
ยิ่งกว่านั้น การที่มีคนอื่นซื้อหุ้นไปก่อนเรา แล้วดันราคาขึ้นมาให้ดูเป็นขาขึ้น (Bullish) ก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นตัวนี้จะเป็นหุ้นดีหรือระดับราคาจะพุ่งขึ้นต่อไป เพราะก็มีหลายครั้งที่นักลงทุนตามแห่กันไปโดยที่ไม่ได้วิเคราะห์อย่างรอบคอบ เลย
จุดแข็งของนักลงทุนประเภทนี้ก็คือ การไม่ต้องเสียเวลารอคอยกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งนานเกินไป เพราะหากหุ้นที่คิดว่าดีตัวนั้นยังอยู่ในช่วงสร้างฐานเพื่อทะยานขึ้นก็จะยัง ไม่ลงทุน และหันไปลงเงินกับหุ้นดีที่ทะยานขึ้นมาพิสูจน์ตัวเองแล้ว ดังนั้น แม้อาจจะทำกำไรได้น้อยกว่าเพราะซื้อที่ราคาสูงกว่า แต่ก็มีช่วงเวลาลงทุนที่สั้นกว่า ซึ่งถ้าทบกันหลายรอบในแต่ละปี ก็อาจทำกำไรได้มากกว่านักลงทุนContrarian Value Investor ที่ซื้อราคาต่ำแต่ต้องรอคอยหลายปีได้
อย่างไรก็ตาม การซื้อหุ้นในช่วงตลาดขาขึ้น ก็อาจทำให้มีเวลาในการตัดสินใจที่น้อยกว่าปกติ หลายครั้งที่นักลงทุนประเภท Bullish Value Investor ต้องเผลอไผลไปซื้อหุ้นซึ่งมีพื้นฐานธุรกิจที่ดีน้อยกว่า เพียงเพราะว่าหุ้นตัวนี้วิ่งขึ้นมาก่อน จึงทำให้พลาดโอกาสที่ดีกว่าไป ยิ่งกว่านั้นเมื่อการซื้อขายเปลี่ยนหุ้นกระทำบ่อยครั้ง ก็ติดเป็นนิสัยที่ต้องมีหุ้นให้เล่นตลอดเวลา ดังนั้น ในยามที่ไม่มีหุ้นพื้นฐานดีให้เล่นอีกแล้ว หลายครั้งก็จะหันไปหาหุ้นธรรมดาทั่วไปหรือแม้กระทั่งหุ้นปั่น ซึ่งสุดท้ายก็จะทำให้กลยุทธ์และการคิดวิเคราะห์มีความสับสน ซึ่งอาจนำไปสู่หายนะทางการลงทุนได้
4. นักลงทุนหุ้นพื้นฐาน แบบชั่วคราว (Temporal Value Investor)
นักลงทุนประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อย ที่มีเงินลงทุนจำกัด หากทว่ามีความต้องการรวยเร็ว คิดว่าจะสามารถทำเงินได้หลายร้อยเปอร์เซนต์ ภายในเวลาไม่นานนัก ซึ่งสุดท้ายก็จะได้พบว่า โลกความจริงไม่ได้งดงามดั่งฝัน
ในช่วงตลาดขาขึ้น ทุกสิ่งย่อมสวยงาม จะลงทุนในหุ้นอะไรก็ดูดีไปหมด แม้ว่าซื้อแล้วราคาจะตกลงมา แต่ไม่กี่วันก็กลับขึ้นไป จนกระทั่งทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ
เมื่อตลาดค่อยๆเปลี่ยนเป็นขาลง นักลงทุนประเภทนี้ ก็ยังติดในมุมมองที่สวยงามของช่วงขาขึ้น จึงค่อยๆติดหุ้นที่ยอดดอยทีละน้อย แต่ก็ยังไม่ยอมขาย โดยนิยมหลอกตัวเองว่าเป็นการลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี (Value Stock) สุดท้ายเมื่อเผชิญกับภาวะตลาดที่มีการเทขายอย่างหนักหน่วง นักลงทุนแบบ Temporal Value Investor ก็จะเริ่มได้คิด เริ่มหวาดกลัว แล้วก็ตัดสินใจขายออกไปในที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการขาดทุนมหาศาลมากกว่า 30 เปอร์เซนต์ เพราะได้ปล่อยให้อาการขาดทุนได้เรื้อรังมานาน
ที่น่าเศร้าก็คือ เมื่อตัดสินใจขายออกไป ตลาดก็ใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว หุ้นที่ขายไปเริ่มวกกลับขึ้นมา เพราะเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี เพียงแต่อยู่ในภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยจึงทำให้ลงหนักเกินไป สุดท้ายนักลงทุนรายใหญ่ที่พึ่งลิ้มรสชาติความเจ็บปวดก็ไม่กล้าที่จะซื้อคืน โดยเฉพาะเมื่อราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เกินกว่าจุดที่ตนเองเคยขายขาดทุนไป ก็เลยได้แต่เฝ้ามองแล้วปล่อยโอกาสผ่านเลยไป
เมื่อนักลงทุนประเภทนี้มีประสบการณ์มากขึ้น บางครั้งก็จะกัดฟันถือหุ้นที่ติดดอยในช่วงตลาดขาขึ้น โดยไม่หวั่นว่าราคาจะลงมาเท่าใด แม้จะขาดทุนถึง 70 เปอร์เซนต์ก็ยังอดทน หากทว่าเมื่อตลาดวกกลับขึ้นมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง หุ้นของตนเองกลับขึ้นมาเพียงเล็กน้อยหรือบางครั้งก็ลงต่ออีกด้วย กว่าจะค้นพบว่าหุ้นที่เลือกนั้นไม่ใช่ Value Stock อย่างที่คิด ก็ต้องเจ็บตัวเลียแผลใจอีกครั้ง
ทางออกของนักลงทุนประเภทนี้ก็คือ เลือกที่จะเป็นนักลงทุนแบบ Contrarian Value Investor หรือ Bullish Value Investor ตามแต่ความถนัด อย่าคิดฝันรวยเร็วเล่นหุ้นตามกระแสรายวัน โดยไม่ไตร่ตรองสภาพความเป็นจริงอย่างรอบด้านเสียก่อน
โดยสภาพแวดล้อมที่จำกัดทั้งด้านการเงินและการวิเคราะห์ค้นหาข้อมูล นักลงทุนรายย่อยจึงน่าจะเลือกวิถีแบบ Bullish Value Investor ซึ่งทำให้ไม่ต้องรอคอยยาวนานเกินไป และมีคนช่วยพิสูจน์หุ้นกรุยทางให้ก่อนแล้ว ที่สำคัญก็คือ การเลือกเล่นหุ้นในตลาดขาขึ้น จะทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดของหุ้นในตลาดขาลงที่ส่วน ใหญ่จะต้องขาดทุนทางบัญชีก่อนแล้วจึงค่อยกำไรจริง โดยเฉพาะเมื่อความมีเงินน้อยของนักลงทุนรายย่อย ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากกว่านักลงทุนรายใหญ่ที่สายป่านยาวกว่า มีข้อมูลเชิงลึกและเหตุผลในการวิเคราะห์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ Bullish Value Investor ก็ต้องอาศัยความยังยั้งชั่งใจในการไม่เล่นหุ้นบางตัวที่พื้นฐานไม่ดีนัก ที่สำคัญยังไม่ควรซื้อขายบ่อยครั้งเกินไป เพราะอาจจะพลาดโอกาสในการทำกำไรมหาศาลได้ เพราะเมื่อขายหุ้นไปแล้วหุ้นกลับขึ้นไปเกินราคาที่เคยซื้อไว้ นักลงทุนโดยมากก็มักไม่กล้าซื้อคืน ปล่อยให้กำไรที่จะได้นับจากนี้ต้องเลือนหายไป
หากว่าไม่สามารถทำใจให้สงบนิ่งไม่หวั่นไหวไปกับข่าวดีข่าวร้ายและความผันผวน ของราคาหุ้นได้ นักลงทุนรายย่อยก็อาจเลือกลงทุนแบบ Contrarian Value Investor ที่เน้นการทำกำไรรอบใหญ่รอบเดียวเลย โดยไม่ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาอย่างสม่ำเสมอ เพียงแต่ต้องติดตามพื้นฐานกิจการของบริษัทที่ลงทุนไปอย่างใกล้ชิด เพราะหากว่าหุ้นที่เคยคิดว่าดีกลับกลายเป็นหุ้นที่มีอนาคตไม่สดใส ก็จะได้รีบขายออกไป ก่อนที่การขาดทุนจะลุกลามบานปลายไป
สุดท้ายแล้ว แต่ละคนก็จะมีความถนัดรักชอบแตกต่างกันไป จึงควรแสวงหา “วิถีการลงทุน” ที่สอดคล้องกับนิสัยใจคอ โดยที่อาจไม่จำเป็นต้องเลือกรูปแบบทั้ง 4 ที่นำเสนอในบทความนี้เลยก็ได้ หรือ อาจเป็นการผสมผสานแต่ละรูปแบบให้เป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง
สิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากให้คิดกันไว้ก็คือ การลงทุนที่ดี ไม่เคยเกิดขึ้นจากความโลภที่เกินขอบเขต โดยเฉพาะนักลงทุนระดับ Buffett ที่เป็นตำนานอันดับหนึ่งของวงการลงทุน ก็มีผลตอบแทนเฉลี่ยไม่เกิน 40 เปอร์เซนต์ต่อปี ดังนั้น หากปีใดเราทำกำไรได้เกิน 40 เปอร์เซนต์ก็อย่าพึ่งลำพองใจ ให้เตรียมสติไว้รับมือกับปีที่เลวร้ายบ้าง
ไม่มีใครเป็นผู้ชนะตลอดกาล แต่คนที่ยึดติดกับชัยชนะในอดีตของตน ย่อมทำให้จิตใจยึดติด ไม่เปิดกว้างต่อความจริงแบบใหม่ ในที่สุดก็จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ย่อยยับ
สิ่งสำคัญที่ทำให้ Buffett เป็นอภิมหาเศรษฐีมากกว่านักลงทุนที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีกว่า จึงไม่ใช่ฝีมือในการลงทุน หากทว่าเป็นความล้ำเลิศในการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับการลงทุน แม้ว่าจะทำกำไรจากการลงทุนได้เพียง 40 เปอร์เซนต์ต่อปี แต่เนื่องจากฐานเงินลงทุนที่ระดมมาได้จากหลากหลายกลยุทธ์มีขนาดที่มหาศาล กว่านักลงทุนคนอื่นหลายร้อยเท่า จึงทำให้ Buffett ได้รับชัยชนะไปในท้ายที่สุด
กลยุทธ์ที่คิดว่า “การลงทุน เป็นเพียงช่องทางหนึ่งในการทำให้รายได้ที่มีพอกพูนกว่าฝากเงินในธนาคาร” จึงน่าจะดีกว่าวิธีคิดแบบว่า “เราไม่ต้องทำธุรกิจให้เหนื่อยยากอีกต่อไป อาศัยเงินลงทุนเพียงน้อยนิด ก็จะสร้างผลกำไรมหาศาลได้ โดยการฝึกฝนตัวเองให้เป็นอัจฉริยะด้านการลงทุน” เพราะความจริงได้พิสูจน์แล้วว่า Buffett ไม่ได้รวยเหนือกว่านักลงทุนรายอื่นเพราะผลตอบแทนจากการลงทุน หากทว่ามาจากการสร้างธุรกิจที่ทำให้สามารถระดมเงินสดมาลงทุนได้มหาศาลกว่า นักลงทุนรายอื่นนั่นเอง
การเป็นนักลงทุนที่ดี จึงต้องควบคู่ไปกับการเป็นนักธุรกิจที่ดี หรืออย่างน้อยก็เป็นลูกจ้างที่ดี เพราะแม้ว่าทั้งสองแนวทางจะใช้ทักษะที่แตกต่างกัน แต่ก็มีบางอย่างที่ช่วยเสริมประสานกัน โดยเฉพาะการฝึกฝนบ่มเพาะตัวเองผ่านการสร้างธุรกิจ ย่อมทำให้เราเข้าใจความจริงของชีวิตได้ดีขึ้น รู้ว่าชีวิตมีหลายฤดูกาล ทั้งในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูลูกค้าแย่งกันอุดหนุน และในช่วงซบเซาที่ลูกค้าหนีหาย ที่สำคัญยังต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ให้ถูกความโลภและความกลัวชักนำ ไป ทั้งในการเจรจาต่อรองกับลูกค้าและในการตัดสินใจเพิ่มหรือลดขนาดการลงทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
ในขณะที่การเป็นลูกจ้างที่ดี ก็จะช่วยให้เราฝึกฝนวินัยในตัวเอง ไม่ผันผวนไปกับสิ่งล่อตาล่อใจ จนกระทั่งสูญเสียแผนการที่ตั้งใจไว้ ที่สำคัญยังต้องสร้างสมดุลระหว่างความคิดสร้างสรรค์เพื่อค้นพบคุณค่าใหม่และ ระเบียบวิธีในการค้นหาข้อมูลหลักฐานที่ครบถ้วนรอบด้านเพื่อให้การทำงานมี ประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งหมดนี้ จึงน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น