ads head

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

วิกฤติไก่ล้นตลาดแผลงฤทธิ์

วิกฤติไก่ล้นตลาดแผลงฤทธิ์

ที่มา http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article
alt
อุตสาหกรรม ไก่เนื้อป่วน! ผลผลิตในประเทศล้นตลาด กดราคาในประเทศร่วง กระทบหนักตลาดส่งออก วงการแฉรายใหญ่บางรายขายตัดราคาทำเดือดร้อนทั้งวงการ ร้อง  "ยิ่งลักษณ์" เร่งเจรจาอียู-ญี่ปุ่น ไฟเขียวเปิดตลาดไก่สดช่วยเพิ่มยอดส่งออก ลุ้นครึ่งหลังส่งได้เพิ่ม 5 หมื่นตัน ชี้หวัดนกในไต้หวันไม่กระทบการตัดสินใจ

 นางฉวีวรรณ  คำพา ประธานกรรมการบริหาร ฉวีวรรณกรุ๊ป ในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่ผลผลิตไก่เนื้อของไทยอยู่ในภาวะล้นตลาด โดยล่าสุดมีผลผลิตออกสู่ตลาดเฉลี่ย 24 ล้านตัว/สัปดาห์ ขณะความต้องการของตลาดอยู่ที่ 18-19 ล้านตัว/สัปดาห์ เกินความต้องการอยู่ประมาณ 5 ล้านตัว/สัปดาห์ ส่งผลกระทบถึงราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม ณ เวลานี้เฉลี่ยอยู่ที่ 32-33 บาท/กก. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เฉลี่ยอยู่ที่  55 บาท/กก. สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ทั่วประเทศ

 จากราคาไก่ในประเทศที่ลดลงดังกล่าว ส่งผลให้ผู้นำเข้าใช้เป็นเหตุผลในการกดราคารับซื้อผลิตภัณฑ์ไก่จากไทย ขณะเดียวกันมีผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่ของไทยบางรายได้เสนอขายสินค้าราคา ต่ำด้วย ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นถูกต่อรองราคาตามไปด้วย  หากไม่ลดก็จะส่งผลต่อการสั่งซื้อ ภาพรวมเวลานี้จึงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ซึ่งสวนทางกับต้นทุนการผลิตด้านอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้นเป็น 300 บาท/วัน และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท

 "ราคาไก่ทั้งในและต่างประเทศขณะนี้ไม่ดี  เพราะผลผลิตล้นตลาด ส่งผลราคาส่งออกลดลงตามไปด้วยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าไก่พื้นฐาน เช่นไก่คลุกเกลือ แต่ไก่ที่มีมูลค่าเพิ่มที่มีคู่แข่งไม่มากก็ยังขายได้แต่ก็ถูกต่อรองราคา เช่นกัน ภาพสะท้อนความตกต่ำของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อเห็นได้จากราคาลูกไก่ก่อน หน้านี้เคยซื้อกันตัวละ 20-21 บาท เวลานี้เหลือตัวละ 9 บาท"

  ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน นางฉวีวรรณกล่าวว่า อยากขอวิงวอนให้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร" ได้เร่งเจรจากับสหภาพยุโรป(อียู) และญี่ปุ่น สองตลาดหลักส่งออกไก่ของไทยได้เปิดตลาดไก่สดแช่แข็งให้ไทยอีกครั้ง หลังจากที่ไทยไม่สามารถส่งออกไก่สดไปยังทั้งสองตลาดได้ตั้งแต่ปี 2547 จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก  แต่ขณะนี้ไทยได้ปลอดโรคไข้หวัดนกมานานกว่า 3 ปี ควรพิจารณาเปิดตลาดได้แล้ว

 ด้านนายคึกฤทธิ์  อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า จากการที่หน่วยงานด้านอาหาร และอนามัยสัตว์ (FVO) ของสหภาพยุโรปได้เดินทางมาตรวจประเมินสถานการณ์ของไทยก่อนรับพิจารณาเปิด ตลาดไก่สดแช่แข็งอีกครั้งในปีที่ผ่านมา รวมทั้งหน่วยงานด้านสุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ของกรรมาธิการยุโรป (DG SANCO) ได้เตรียมรายงานสถานการณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของหน่วยงานด้านการค้าของอียู คาดจะมีการประชุมกันในเดือนมีนาคมศกนี้ หากไทยได้รับการพิจารณาและมีการเปิดตลาดอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มั่นใจว่าในปีนี้จะช่วยเพิ่มยอดส่งออกไก่ไทยไปอียูอีกไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัน (ไทยมีโควตาส่งออกไก่สดไปอียู 92,610 ตัน ซึ่งได้รับมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ยังไม่สามารถใช้โควตาได้จากปัญหาไข้หวัดนก)

 "ความหวังเวลานี้ยัง 50 : 50 โดยจากเหตุการณ์ไข้หวัดนกในไต้หวันในขณะนี้คงไม่กระทบ ต่อการตัดสินใจของเขา เพราะอยู่ไกลจากไทย แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าอียูเขาจะมีอะไรมาต่อรองกับเราอีกหรือไม่ ที่ผ่านมาเขาก็อยากเจรจาเอฟทีเอกับไทย ซึ่งต้องเจรจาต่อรองกัน อย่างไรก็ดีหากเขาไฟเขียวเราก็คาดหวังญี่ปุ่นจะเปิดตลาดไก่สดให้เราอีก ประเทศหนึ่ง เพราะถ้าอียูประกาศญี่ปุ่นคงพิจารณา จากปัจจุบันเราสามารถส่งออกไก่สดได้แล้วในหลายตลาด อาทิ มาเลเซีย รัสเซีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ ฮ่องกง เวียดนาม เป็นต้น"

  อนึ่ง ในปี  2554 ไทยส่งออกสินค้าไก่ปริมาณ 460,000 ตัน มูลค่า 62,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่ส่งออก 435,059 ตัน มูลค่า 54,952 ล้านบาท)ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไก่แปรรูปสัดส่วน 95% และไก่สด 5%   ส่วนปี 2555 สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยตั้งเป้าส่งออกที่ปริมาณ 480,000 ตัน มูลค่า 64,000 ล้านบาท (ยังไม่กรณีหากอียูเปิดตลาดไก่สดให้ไทย)
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,720    8-10  มีนาคม  พ.ศ. 2555
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น