ads head

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการลงทุน 3 แบบ เพื่อการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ

เทคนิคการลงทุน 3 แบบ เพื่อการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ


  ที่มา http://thaipropertyfund.com/2012/06/01/%E0%B9%80
บทความนี้แนะนำวิธีลงทุนอย่างง่าย 3 แบบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนรายย่อยประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้โดยไม่ต้อง วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารอะไรมากนัก เพียงแต่มีวินัยการลงทุนก็สามารถลงทุนได้อย่างสบายใจแล้ว
Dollar Cost Averaging (DCA)
วิธีแรกคือ Dollar Cost Averaging (DCA) ซึ่งเป็นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเป็นงวดๆ โดยผู้ลงทุนจะต้องแบ่งเงินลงทุนเป็นจำนวนเท่าๆ กัน และนำไปลงทุนเป็นประจำตามระยะเวลาที่กำหนดไว้เป็นงวดๆ เช่น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน โดยจะไม่สนใจว่าราคาหุ้น ณ ขณะนั้นเป็นเท่าไร
การลงทุนแบบนี้ช่วยจำกัดการซื้อขายของผู้ลงทุนรายย่อยที่มักเป็นไปตาม อารมณ์ (ความโลภและความกลัว) เช่น อยากซื้อหุ้นตามกระแสในเวลาที่หุ้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง และทำในสิ่งตรงกันข้ามคือขายทิ้งและหนีออกจากตลาดหุ้นในช่วงที่ทุกคนตื่น กลัวเมื่อดัชนีหุ้นดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ผลลัพธ์จากการซื้อขายตามอารมณ์คือการ “ซื้อแพงขายถูก” แต่วิธี DCA นี้จะเสมือนเป็นการสร้างวินัยให้เข้าลงทุนอย่างสม่ำเสมอและมีผลพลอยได้คือ การลดความเสี่ยงที่มีอยู่กับหุ้นไปในตัว ในยามที่ตลาดดี ราคาหุ้นแพง ผู้ลงทุนจะซื้อหุ้นได้น้อย แต่ในยามที่ตลาดไม่ดี ราคาหุ้นถูก ผู้ลงทุนก็จะซื้อหุ้นได้ในปริมาณที่มากขึ้นด้วยเงินจำนวนเดียวกัน เป็นการ ถัวเฉลี่ยต้นทุนการลงทุน ให้ลดลง โดยจำนวนหน่วยลงทุนในพอร์ตจะเพิ่มขึ้นทุกๆ งวด

Value Averaging (VA)
วิธีที่สองคือ Value Averaging (VA) เป็นกลยุทธ์ที่คิดค้นโดย ดร. ไมเคิล เอเดลสัน (Michael E. Edleson) จากบริษัทมอร์แกนสแตนเลย์ โดยในอดีตท่านเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) แนวคิดนี้ดังกล่าวต่อยอดมาจากวิธีการลงทุนแบบ DCA ซึ่งเน้นการซื้อขายหน่วยลงทุนหรือหุ้น ด้วยเงินลงทุนที่เท่ากันอย่างสม่ำเสมอ แต่ต่างกันตรงที่ VA จะควบคุมให้มูลค่าสุทธิของพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ พูดง่ายๆ ก็คือ DCA เน้น “ต้นทาง” คือเงินลงทุนที่ผู้ลงทุนต้องใส่ไป ส่วน VA เน้น “ปลายทาง” คือมูลค่าพอร์ตการลงทุน
วิธี VA นี้ก็ไม่ยากอะไรเลย ก่อนอื่นนักลงทุนต้องกำหนดเป้าหมายว่า มูลค่าพอร์ตจะต้องเพิ่มขึ้นเท่าๆ กันในแต่ละงวดการลงทุนเป็นจำนวนเท่าใด เช่น งวดแรกตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 บาท งวดถัดตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มเป็น 20,000 บาท งวดต่อไปเป็น 30,000 บาท และทวีคูณของ 10,000 บาทอย่างนี้ไปเรื่อยๆ และด้วยเหตุว่าราคาหุ้นหรือหน่วยลงทุนมีขึ้นมีลงตลอดเวลา ดังนั้น ภายใต้วิธี VA นี้ เงินที่เราเพิ่มเข้าไปในพอร์ตจะแตกต่างกันไปในแต่ละงวด
สมมติว่าในงวดแรก ราคาหุ้นหรือหน่วยลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาท เราใช้เงินลงทุน 10,000 บาท ก็จะได้มา 1,000 หน่วย พอมาถึงกำหนดที่ต้องลงทุนในงวดที่สอง ราคาหุ้นหรือหน่วยลงทุนลดลงเป็น 8 บาท มูลค่าของพอร์ตเราก็จะลดลงมาเหลือ 8,000 บาท ดังนั้น เราต้องลงทุนในงวดที่สองอีก 12,000 บาท เพื่อให้มูลค่ารวมของพอร์ตเพิ่มเป็น 20,000 บาทตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ผลก็คือ เราจะได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนเพิ่มมา 1,500 หน่วย ที่ต้นทุน 8 บาท
พอถึงงวดที่สาม มูลค่าพอร์ตลงทุนที่ตั้งใจไว้ต้องเป็น 30,000 บาท ปรากฏว่าราคาพุ่งขึ้นไปเป็น 12.50 บาท ทำให้มูลค่าพอร์ตของเราเพิ่มขึ้นมาเป็น 31,250 บาท งวดนี้นอกจากไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มแล้ว แต่เราต้องขายออก 1,250 บาท เพื่อให้ได้มูลค่าของพอร์ตเป็นตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้
ถ้ามองเฉพาะด้าน VA จริงๆ ตามทฤษฎี เป็นการใช้เงินที่มากขึ้นเพื่อที่จะไปลงทุนในภาวะที่ตลาดเอื้ออำนวยคือ สินทรัพย์ราคาถูกลง และในกรณีที่ตลาดปรับตัวขึ้น สินทรัพย์แพงขึ้น ก็ไม่ต้องไปลงทุนตามกระแสมากแค่นั้นเอง สิ่งที่น่าสนใจคือ VA จะมีทั้งการซื้อเพิ่มและขายออกในบางงวด จำนวนหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ได้มาในแต่ละงวดจึงมีเพิ่มและลดตามภาวะตลาด จากตัวอย่างที่แสดงไว้ข้างต้นนั้น ผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า เวลาตลาดขาขึ้น วิธี VA นี้จะบังคับให้เรารับรู้กำไรโดยอัตโนมัติ ขณะที่ในระยะยาวแล้วมูลค่าพอร์ตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอตามเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ตั้งแต่ตอนแรก

Portfolio Rebalancing
วิธีที่สามคือ Portfolio Rebalancing ซึ่งเป็นหลักการ ปรับพอร์ตการลงทุนที่เหมาะกับผู้มีเงินลงทุนเป็นก้อนอยู่แล้วและต้องการ จัดการการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว วิธีนี้ต่างจาก DCA และ VA คือไม่ได้เป็นการใส่เงินเพิ่มทุกงวดหรือตั้งเป้าให้มูลค่าสุทธิของพอร์ตโต ขึ้นตามระยะเวลา แต่จะกำหนดมูลค่าพอร์ตที่เราต้องการ “คงไว้” ในช่วงเวลาหนึ่ง และทำการซื้อเข้าขายออกเมื่อมูลค่าตลาดของพอร์ตการลงทุนลดลงหรือเพิ่มขึ้น จากจุดที่เราต้องการ เรียกว่าเป็นการ “ปรับสมดุล” หรือ rebalance นั่นเอง ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติจะกำหนดขอบเขตไว้ว่ามูลค่าการลงทุนจะเบี่ยงเบนไปจากที่เรากำหนด ได้เท่าใด เช่น 5%, 10%, หรือ 20% ของมูลค่าที่เราเริ่มลงทุน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำการปรับสมดุลทุกครั้งที่มูลค่าพอร์ตเปลี่ยนแปลง
ตั้งอย่างการใช้วิธี Portfolio Rebalancing อธิบายได้ดังนี้ สมมติว่าเรามีเงินลงทุนในหุ้นจำนวน 10,000 บาท และกำหนดเป้าหมายว่าจะปรับพอร์ตเมื่อมูลค่าตลาดเปลี่ยนแปลงไป 20% ซึ่งหมายความว่า (1) ถ้ามูลค่าตลาดของพอร์ตเพิ่มขึ้น 20% เป็น 12,000 บาท ให้ขายทำกำไรออกมา 2,000 บาท เพื่อให้เงินลงทุนเหลือ 10,000 บาทเท่าเดิม และเก็บเงินสดไว้ (2) ถ้ามูลค่าตลาดของพอร์ตลดลง 20% เหลือ 8,000 บาท ให้นำเงินสด 2,000 บาทมาซื้อหุ้นเพิ่ม เพื่อให้เงินลงทุนรวมเป็น 10,000 บาท
ทำตามแนวทางนี้ไปเรื่อยๆ จนเมื่อไหร่ที่มีเงินสดในมือเยอะขึ้น หรือมีแหล่งเงินเก็บอื่นที่พร้อมจะนำลงทุนมากขึ้นแล้ว ก็ให้กำหนดเงินลงทุนตั้งต้นใหม่หรือปรับเป้าหมายเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลง ได้ตามความเหมาะสม แนวทางนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนหุ้นเป็นรายตัวหรือลงทุนในกองทุน รวมก็ได้
Portfolio Rebalancing เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเวลาตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น เราก็มีโอกาสได้ขายทำกำไรและเตรียมเงินสดไว้ลงทุนเมื่อราคาปรับตัวลดลง โดยรวมแล้วทำให้เราได้ซื้อเมื่อหุ้นตกและขายเมื่อหุ้นขึ้น หรือที่เรียกว่า “ซื้อถูกขายแพง” นั่นเอง การใช้กลยุทธ์นี้เงื่อนไขเล็กน้อยคือ เราควรมีการสำรองเงินไว้พอสมควรเผื่อใส่เงินเพิ่มเมื่อหุ้นตก หากท่านจะเริ่มต้นใช้วิธีนี้ แนะนำให้สำรองเงินไว้ 40 – 60%ของมูลค่าเงินลงทุน

วิธีไหนมีประสิทธิภาพที่สุด
มาถึงจุดนี้ ผู้อ่านก็คงมีคำถามว่าถ้านำแต่ละวิธีไปใช้แล้วจะให้ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่าง ไร บทความนี้จึงขออธิบายคร่าวๆ ด้วยการนำข้อมูลดัชนี SET50 Index ในช่วง 5 ปีย้อนหลังมาเปรียบเทียบกันกับการลงทุนแบบธรรมดา คือการซื้อแล้วถือโดยไม่ได้ปรับพอร์ต (LumpSum Investment) โดยกำหนดสมมติฐานว่า
1. Lump Sum Investment (LS) ลงทุนต้นปีๆ ละ 120,000 บาท
2. Dollar Cost Averaging (DCA) ลงทุนทุกเดือนๆ ละ 10,000 บาท
3. Value Averaging (VA) คุมให้มูลค่าพอร์ตแต่ละเดือนโตเท่าๆ กัน เดือนละ 10,000 บาท
4. Rebalancing (REBAL) ลงทุนต้นปีๆ ละ 120,000 บาท และปรับพอร์ตระหว่างปี สมมติใช้เกณฑ์ +/- 20%
ผลการทดลองเป็นดังนี้

§         ช่วงตลาดมีแนวโน้มขาขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ปี 2550, 2552, และ 2553 วิธี Lump Sum จะให้ผลตอบแทนมากกว่าวิธีอื่น ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะลงทุนตั้งแต่ต้นปีและไม่ได้ปรับพอร์ตขาย อะไรออกเลย ต่างจาก DCA และ VA ที่ทยอยเข้า ไม่ได้ลงทุนเป็นก้อนมาตั้งแต่ต้นปี และต่างจาก Rebalancing ซึ่งมีการขายทำกำไรบางครั้ง
§         ในปีที่ตลาดหุ้นตก วิธี DCA และ VA จะให้ผลขาดทุนน้อยกว่า เพราะเป็นการทยอยลงทุน ขณะที่วิธี Rebalancing ให้ผลขาดทุนใกล้เคียงกับ Lump Sum เพราะลงทุนตั้งแต่ต้นปีเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ Rebalancing จะปรับซื้อเข้าขายออกเป็นบางช่วง ช่วยลดผลกระทบลงบ้าง
§         อีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ การลงทุนแบบ VA จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า DCA กล่าวคือในปีที่หุ้นขึ้นจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า และในปีที่หุ้นตก จะให้ผลขาดทุนน้อยกว่า
โดยสรุป สำหรับผู้ที่ต้องการออมเงินด้วยการลงทุนในหุ้นแล้ว วิธีแบบ DCA และ VA จะเป็นวิธีที่ไม่หวือหวามากนัก ช่วยให้เงินลงทุนปลอดภัยในระยะยาว ลองเลือกดูครับว่าวิธีไหนที่เหมาะกับตัวเรา
โดย : วิศวกร ปันยารชุน ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น