ads head

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

กับแกล้มข่าว: ‘เมื่อสับปะรดเริ่มไม่เป็นสับปะรด’ โรงงานหยุดผลิต-ชาวสวนเตรียมปิดถนน


กับแกล้มข่าว: ‘เมื่อสับปะรดเริ่มไม่เป็นสับปะรด’ โรงงานหยุดผลิต-ชาวสวนเตรียมปิดถนน

ประเด็น ‘สับปะรด’ กำลังฮอตฮิต เมื่อโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องทั่วประเทศพร้อมใจกันหยุดสายการผลิต เพราะประสบปัญหาปัญหาส่งออกและสินค้าเก่าค้างสต็อก และชาวไร่สับปะรดออกขู่ปิดถนนจี้รัฐเร่งแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด.. ลองมาดูเกร็ดตัวเลขว่าด้วยเรื่องนี้กัน
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 55 สำนักข่าวไทยรายงาน ว่านายสุรัตน์  มุนินทรวงศ์ นายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย และประธานกลุ่มผู้ปลูกสับปะรด จ.ประจวบคีรีขันธ์  เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ให้ความสนใจในการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 800 ล้านบาท เพื่อรับซื้อผลผลิตส่วนเกินทั่วประเทศกว่า 2 แสนตัน ออกนอกระบบ หลังจากที่สมาคมฯ ได้เสนอแผนเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตสับปะรดที่คาดว่าจะล้นกำลังการผลิต ของโรงงานในช่วงเดือน มี.ค.– มิ.ย.นี้ จำนวนกว่า 250,000 ตัน ในพื้นที่เพาะปลูก 15 จังหวัดทั่วประเทศ  โดยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่จดทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในราคา กก.ละ 4 บาท
แต่ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท ซื้อผลผลิตออกนอกระบบ โดยอ้างว่าจะนำเงินดังกล่าวไปให้โรงงานรับซื้อผลผลิตเพื่อนำไปแปรรูป แต่โรงงานแปรรูปได้ปฏิเสธ เนื่องจากขณะนี้ไม่มีโกดังเก็บสินค้า ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี และ จ.ราชบุรี พร้อมรวมตัวปิดถนนสายหลักในแต่ละพื้นที่ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด หลังจากโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องทั่วประเทศพร้อมใจกันหยุดสายการผลิต เนื่องจากประสบปัญหาภาวะการส่งออกและสินค้าเก่าค้างอยู่ในสตอกจำนวนมาก ทำให้โรงงานแจ้งงดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทั่วประเทศโดยไม่มีกำหนด
0 0 0
ตัวเลขที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมสับปะรดไทย มีดังนี้ …
ผลผลิตเพิ่มขึ้น
ผลผลิตสับปะรดที่ออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม 2555 ประมาณ 0.24 ล้านตัน หรือร้อยละ 9.57 ของปริมาณผลผลิตรวม 2.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 0.21 ล้านตัน ของเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 14.28 และเพิ่ม ขึ้นจาก  0.21 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 14.28
การส่งออกลดลง
ปี 2555 เดือนมกราคม มีการส่งออกสับปะรดสดและผลิตภัณฑ์รวม 0.173 ล้านตันสด ลดลงจาก 0.186 ล้านตันสด ของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 6.99
ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ในปี 2555 ว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกสับปะรดสดและผลิตภัณฑ์ของไทยจะมีแนวโน้มลดลงโดยมี สาเหตุมาจากสับปะรดกระป๋องซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ากาส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ประมาณ 66% ของมูลค่าการส่งออกสับปะรดทั้งหมด จะมีแนวโน้มลดลงประมาณ 15-20% เนื่องจากคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจของผู้นำเข้าที่สำคัญชะลอตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ทำให้มีกำลังซื้อลดลง
ราคาลดลง
ช่วงนี้มีผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดประมาณวันละ 8,000 — 8,500 ตัน ในขณะที่ โรงงานแปรรูปลดกำลังการผลิตลงเหลือวันละ 7,000 ตัน เนื่องจาก ประสบปัญหามีสต็อกสินค้าคงคลังจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการสั่งซื้อของตลาดต่างประเทศ ทำให้โรงงานกำหนดราคารับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรลดลง โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ สัปดาห์นี้  มีดังนี้
- สับปะรดโรงงานกิโลกรัมละ 2.92 บาท ลดลงจาก กิโลกรัมละ 3.09 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 5.50 และลดลงจากกิโลกรัมละ 6.46 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 51.80
- สับปะรดบริโภคกิโลกรัมละ 7.30 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 7.35 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.68 และลดลงจากกิโลกรัมละ 9.19 บาท ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20.56
ผลิตผลต่ำกว่าคู่แข่ง
ในปี 2553 พบ ว่าไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำและต้นทุนสูง โดยผลผลิตสับปะรดเฉลี่ยต่อไร่ของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำเพียง 3.7 ตัน/ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญอย่างฟิลิปปินส์ที่มีผลผลิตเฉลี่ย ต่อไร่ประมาณ 5.4 ตัน/ไร่ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของไทยนั้นสูงกว่าฟิลิปปินส์ ซึ่งต้นทุนการผลิตของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.8 บาท/กก.
ไทยเบอร์หนึ่งของโลก
ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสับปะรดกระป๋องอันดับ 1 ของโลกด้วยมูลค่าการส่งออกปีละ 20,000 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 ของมูลค่าตลาดสับปะรดโลกโดยในปี 2553 สับปะรดกระป๋องมีมูลค่าการส่งออกจำนวน 13,644 ล้านบาท สำหรับปี 2554 ส่งออกเพิ่มเป็น 19,131 ล้านบาท ส่วนน้ำสับปะรดกระป๋อง พบว่าปี 2553มีมูลค่าส่งออกจำนวน 6,614 ล้านบาท และปี 2554 มีมูลค่าส่งออกจำนวน 6,825 ล้านบาท
สหรัฐอเมริกาตลาดใหญ่สุด
ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้นำเข้าสับปะรดรายใหญ่ที่สุดในโลก และประเทศไทยก็ส่งออกสับปะรดไปยังสหรัฐฯ มากที่สุดด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่าในปี 2554 ตลาดส่งออกสับปะรดกระป๋องของไทย 5 อันดับแรกของ ได้แก่ สหรัฐฯ (ร้อยละ 23.4) เยอรมนี (ร้อยละ 8.5) รัสเซีย (ร้อยละ 5.2) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 4.6) และสเปน (ร้อยละ 4.5)
ในปี 2553 พบว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ ที่มีความต้องการสินค้าทั้งที่เน้นและไม่เน้นคุณภาพ แต่ต้องมีราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของสินค้า ซึ่งผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่จะนิยมสับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรดที่มีคุณภาพ โดยสับปะรดที่มีคุณภาพดีส่วนใหญ่จะนำเข้าจากไทย และฟิลิปปินส์เป็นหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น