ads head

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

The South Sea Bubble หายนะ "ฟองสบู่"



The South Sea Bubble หายนะ "ฟองสบู่"

ไม่ว่าจะยุค สมัยใด ก็มีสภาพไม่ต่างกันนัก เมื่อเทียบกับยุคตลาดหุ้น Wall Street อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือทางการสื่อสารที่ ทันสมัยกว่า ดีกว่า เร็วกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือ พฤติกรรมในการแสวงหาความร่ำรวย ดังเช่นกรณี The South Sea Bubble วิกฤตฟองสบู่ ที่เกิดขึ้นปลายศตวรรษที่ 17



“Nowhere does history indulge in repetitions so often or so uniformly as in Wall Street. When you read contemporary accounts of booms or panics, the one thing that strikes you most forcibly is how little either stock speculation or stock speculators today differ from yesterday. The game does not change and neither does human nature” Edwin Lefevre, Reminisxences of a Stock Operator (1923) 


ถ้านับย้อนเวลากลับไปได้สัก 299 ปี เราคงได้เห็นความวุ่นวายของผู้คนในยุคศตวรรษที่ 18 (1711) ต่างกำลังสาละวนและง่วนอยู่กับกระดาษนำโชค (paper fortune) ที่จะทำให้คนผู้นั้นกลายเป็นเศรษฐีได้ในชั่วพริบตาเพราะการเก็งกำไรในบริษัท ไม่ว่าจะยุคสมัยใดคงมีสภาพไม่ต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับยุคตลาดหุ้น Wall Street อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือทางการสื่อสารที่ทันสมัย กว่า ดีกว่า เร็วกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือ พฤติกรรมในการเสาะแสวงหาความร่ำรวย


ตัวอย่างประเทศที่ผงาดขึ้นมาได้จากการ เล่นหุ้นก็มีให้เห็น อย่างพี่เบิ้มสหรัฐอเมริกา ก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ จนก้าวขึ้นมายืนอยู่บนเวทีโลกได้ “การที่คนมะกันร่ำรวยกันอย่างดาษดื่นก็ไม่ใช่เพราะเล่นหุ้นหรอกหรือ ?”


John Maynard Keynes เคยแยกความต่างเอาไว้ระหว่างความลุ่มหลงใน “การประกอบการ” กับ “การเก็งกำไร” ว่า “การประกอบการ” เป็นการคาดเดาถึงความมั่งคั่งของสินทรัพย์ในชั่วชีวิตหนึ่งของคนเรา ตรงข้ามกับ “การเก็งกำไร” เป็นการคาดเดากิจกรรมทางจิตวิทยาของตลาด (ที่เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะออกหัวหรือก้อย) ความสนุกของการเล่นหุ้นมันอยู่ตรงนี้นี่เอง 


หายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงที่ ผ่านมาเหมือนเป็นการเอาหนังเก่ามาเล่าใหม่ สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่หลงใหลอยู่กับกิจกรรมที่จะสร้างความ มั่งคั่ง ไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 17 ต่อต้นศตวรรษที่ 18 ของการแห่แหนของผู้คนที่เข้าไปเก็งกำไรใน South Sea Company บริษัทสัญชาติอังกฤษ เพียงหมายมาดว่าจะได้กำไร แต่ซ้ำร้ายกลับกลายเป็นล่มจมในบัดดล 


กรณีตัวอย่างวิกฤตฟองสบู่ต่อไปนี้เป็น อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นกับอังกฤษ ซึ่งเวลานั้นได้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกแทนที่กรุง อัมสเตอร์ดัมไปเรียบร้อย (แต่น่าแปลกอยู่เหมือนกันว่า เมื่อใดก็ตามที่ประเทศหนึ่งประเทศใดย่างก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจทางการเงิน ความหยิ่งผยองก็มักจะมีมาก แล้วก็ล่มสลายไปเพราะเหตุด้านการเงินคล้ายๆ กัน ทั้งกรณี Tuilpmania ในเนเธอร์แลนด์ Mississippi ในฝรั่งเศส และ South Sea Company ในอังกฤษ) MBA จะมาช่วยตอกย้ำให้เห็นว่า “ประวัติศาสตร์ยังคงซ้ำรอยเดิม” เหมือนตอนนี้ที่ตลาดหุ้นวอลล์        สตรีทกำลังปั่นป่วนหนักอย่างที่เห็น 

The South Sea Bubble หายนะ "ฟองสบู่"

Origins of the South Sea Company 

โลกศตวรรษที่ 18 อังกฤษเพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินแทนที่กรุงอัมสเตอร์ดัม หลังจากยุคพวกดัตช์ครองโลกได้จบสิ้นไปเพราะความเสื่อมถอยทางการค้าเครื่อง เทศ ถูกแทนที่ด้วยการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ฝ้ายและเครื่องจักรไอน้ำกลายเป็นสินค้าสำคัญของโลกขึ้นมาทันที ศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่จึงอยู่ที่ City of London ขณะเดียวกัน อังกฤษสูญเงินไปกับการทำสงคราม Spanish Succession (1702-1713) เป็นจำนวนเงินมหาศาล โดยหมดไปกับการใช้เงินรักษากองกำลังพลกว่า 90,000 นาย กองเรืออีก 40,000 นาย คิดเฉลี่ยเบ็ดเสร็จแล้วอังกฤษเสียเงินไปกับการบริหารจัดการกองทัพประมาณ 9% ของรายได้ประชาชาติอังกฤษ


ในเวลานั้น South Sea Company ก็ก่อตั้งขึ้นมาด้วยกลโกงและนัยทางการเมือง โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและดำเนินกิจการได้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 1711 บริษัทมีสินทรัพย์ 2 อย่าง ได้แก่ 1. การค้าขายผูกขาดในอาณานิคมอเมริกาใต้ของสเปนรวมถึงการค้าทาส (ผลจากข้อตกลงในสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน) 2. รายได้ประจำปีจากกระทรวงการคลังเป็นเงิน 568,279 ปอนด์ ซึ่งมีรัฐบาลอังกฤษร่วมด้วย (ตอนนั้นอังกฤษก็กำลังแบกหนี้กองโตเท่าภูเขาไปเรียบร้อยแล้ว) 


John Blunt ขึ้น แท่นเป็นผู้บริหาร (โดยอาศัยการเลียนแบบแนวคิดการบริหาร Mississippi ของ John Law) บริษัทถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายโอนหนี้ของรัฐไปยังบริษัท South Sea Company โดยมีข้อแม้ว่าการแต่งตั้งผู้บริหารต้องไม่เป็นผู้อำนวยการจาก Bank of England และ The East India Company และบริษัทต้องมีหุ้นอย่างน้อย 3,000-5,000 ปอนด์เป็นอย่างต่ำ ขณะที่ผู้ถือหุ้นต้องมีอย่างน้อย 1,000 ปอนด์ เพื่อที่จะสามารถโหวตให้กับรัฐบาลและผู้บริหารของบริษัท


การปรับเปลี่ยนหนี้สินของรัฐบาลจึงเข้า ข่ายลักษณะถ่ายโอนไปยังหุ้นของบริษัท หนี้สินของรัฐ 100 ปอนด์ให้แลกเป็นหุ้นในบริษัท (ต่อ par) หนี้สินของรัฐบาลอังกฤษมีอยู่ประมาณ 50 ล้านปอนด์ จัดสรรปันส่วนยังเหลืออีก 18.3 ล้านปอนด์ ถือครองโดย 3 องค์กร ได้แก่ 3.4 ล้านถือโดย Bank of England 3.2 ล้านปอนด์ถือโดย East India Company และ 11.7 ล้านปอนด์เป็นของ The South Sea Company บริษัทจะได้รับดอกเบี้ย 6% ต่อปีจากรัฐบาล โดยจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3% ทุกกลางซัมเมอร์และคริสต์มาส ราคาหุ้นของบริษัท South Sea จึงเริ่มที่ 120 ปอนด์ ต่อ 100 พาร์ (มกราคม 1720) 


The South Sea Bubble หายนะ "ฟองสบู่"


ทั้งนี้ เบื้องหลังการติดสินบนมีพวกรัฐสภาและนักการเมืองเข้ามาเอี่ยวด้วย โดยต่อมาในภายหลังมีการเปิดเผยรายชื่อพวกที่ติดสินบน พบว่า มีสมาชิกทั้ง 27 คนของ House of Commons, สมาชิก 6 คนของ House of Lord รวมถึงรัฐมนตรีอีกเพียบ เรื่อยไปจนถึงกษัตริย์และเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) 


การติดสินบนคนวงในทำให้ราคาหุ้นของ บริษัทพุ่งขึ้นเป็น 2 เท่า ยิ่งหุ้นพุ่งขึ้นมากเท่าไหร่ ย่อมหมายความว่าบริษัทจะได้รับกำไรและหนี้สินของรัฐก็จะเบาบางลงไป บริษัทก็จะแบกภาระหนี้ของรัฐบาลในราคาที่ถูกลง ราคาหุ้นขึ้นลงนั้นไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาดล้วนๆ แต่เป็นการเสาะแสวงหาผลกำไรจากคนวงใน ยิ่งนักลงทุนคนใดที่ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดมากเพียงใด หรือมีสายสัมพันธ์ที่ต่อเชื่อมวงในได้ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะจะได้รับข้อมูลการซื้อขายหุ้นที่แม่นยำและถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้นการตัดสินใจของรัฐสภาครั้งสุดท้ายมีผลต่อการปรับเปลี่ยนราคา หุ้น ทำให้การติดสินบนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในการซื้อขายหุ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้บริษัทสามารถออกหุ้นกู้และหุ้นสามัญขายได้โดยไม่จำกัด เพื่อระดมทุนสำหรับสร้างกองเรือพาณิชย์ข้ามทวีป

South Sea Bubble

พฤติกรรมของมนุษย์ในช่วงศตวรรษที่ 18 ดูไม่ผิดเพี้ยนไปเลยแม้แต่น้อยกับมนุษย์ยุคดิจิตอล คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักลงทุนต่างปรารถนาครอบครองสินทรัพย์ที่ทำให้เกิด สภาพคล่อง (liquid) หรือ ถ่ายโอนได้ง่าย (easily transferable) ด้วยกันทั้งนั้น เรียกว่าอยากได้แบบซื้อง่ายขายคล่องว่าอย่างนั้นเถอะ และประเภทที่ว่าจะทำให้เกิดรายได้ที่มั่นคงกลับมาเป็นรูปเงินทุนได้ก็ยิ่งดี เพราะไม่เฉพาะกษัตริย์ นักการเมือง แทบทุกคนก็อยากโดดเข้าเล่นหุ้นกับ South Sea Company แล้วใครจะไปคิดว่า ผู้หญิงสมัยนั้นจะมีความรู้เรื่องการเล่นหุ้น เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็จะได้เห็นก็คราวนี้ล่ะ 


โดยเฉพาะพวก “Widows and Orphans” ดูรายชื่อของ Lord Sunderland ที่บันทึกไว้ว่ามีหญิงประมาณ 35 คน    ก็เข้ามาเล่นหุ้นกับบริษัท อย่าง Mary Wortley (คนที่คิดค้นวัคซีนไข้ทรพิษ) เข้าช้อนซื้อหุ้นในบริษัท สตรีหลายคนในราชวงศ์ Princess of Wales ก็จัดว่าเป็นนักเก็งกำไรมือฉมัง รวมไปถึง the Duchesses of Rutland and Marlborough บางคนถึงกับเช่าร้านค้าในเมืองเพื่อไว้เป็นที่ดื่มชาและเล่นหุ้นในเวลาว่าง (หญิงสาวที่มาจาก the West End) 


มีเหตุผลตั้งมากมายที่ทำให้ประดาผู้หญิง เหล่านั้นกระโจนเข้าสู่ตลาดหุ้นกันอย่างครึกโครม เพราะปัญหาด้านเพศ ชนชั้น เชื้อชาติไม่เป็นอุปสรรคกีดขวางการเข้าสู่ตลาดหุ้น ใน Ten Years on Wall Street (1870) William Fowler บอกว่า ดีซะอีก เพราะลักษณะนิสัยของผู้หญิง เช่น ความอดทน เหมาะอย่างยิ่งที่จะเข้าเก็งกำไรเพื่อทำให้ชีวิตมีสีสันมากขึ้น อย่าง Sarah, Duchess of Marlborough ขายหุ้นได้กำไรเกือบ 100,000 ปอนด์ 


South Sea Crash

จะว่าไปแล้วบรรดาร้านค้าทั้งหมดที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารชั้นยอดไม่นับร้านทำผมของคุณผู้หญิง ก็น่าจะเป็น “Coffee House” ของ อังกฤษในสมัยนั้น ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุม พบปะ และสังสรรค์ ของนายหน้าค้าหุ้นในลอนดอน แหล่งที่รวบรวมเรื่องราวทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม Coffee House บางแห่งถึงกับสร้างแหล่งข่าวของตนเองขึ้นมาส่งข่าวไปยังผู้ที่ให้ความ อุปถัมภ์ ใครอยากรู้เรื่องไหน ก็ต้องไปนั่งอยู่ตาม Coffee House ก็จะได้รู้ 


สภากาแฟไม่ว่าจะที่ไหนก็น่าจะมีลักษณะ คล้ายคลึงกัน เป็นแหล่งที่ซุบซิบนินทาและแพร่กระจายข่าวลือ ขณะเดียวกันราคาหุ้นพุ่งทะยานขึ้นไปกว่า 200% ภายในเวลาไม่กี่เดือนเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความมั่นอกมั่นใจของผู้คน ที่เห็นว่าบริษัทได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาล ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจมากขึ้น และการซื้อหุ้นก็ทำได้ง่ายเพียงแค่วางเงินดาวน์ 20% และจ่ายยอดที่ค้างอยู่ทุกเดือน ทำให้คนมีรายได้น้อยก็เล่นหุ้นได้ จนราคาหุ้นสู่สุดยอดเหนือกว่า    ราคาพาร์หลายร้อยเท่า (เทียบดูมูลค่าโดยเฉลี่ยของ South Sea Company อยู่ที่ 2,593 ขณะที่ Bank of England อยู่ที่ 2,357 บริษัท East India Company อยู่ที่ 3,423) ทุกคนต่างรวยกันทั่วหน้า 


และแล้วความเฟื่องฟูก็อยู่ได้ไม่นาน ด้วยนิสัยของคนอังกฤษเป็นคนที่ชอบเมาท์ ชอบแพร่ข่าวลือ ข่าวลือก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว การขายหุ้นของผู้บริหารและผู้ที่ร่วมก่อตั้งกลายเป็นเรื่องที่พูดกันในวง ร้านกาแฟ อีกทั้งมีการออกมาแฉโพยว่าบริษัทมีแต่กระดาษเปล่า ไม่มีเรือสักลำหรือสินค้าใดๆ ที่เข้าไปเก็งกำไร ทำให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนก หุ้นตกลงอย่างรวดเร็วจาก 900 ปอนด์ มาอยู่ที่ 290 ปอนด์ และหล่นมาอยู่ที่ 180 ปอนด์ ต่างคนต่างคิดว่าหมดหวังที่จะกระโดดเข้าไปเล่น เพราะขืนเข้าไปเล่นต่อก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ผู้คนถอนหุ้นออกเกือบหมด เหมือนที่ The Archbishop of Dublin บันทึก ไว้ช่วงเดือนพฤษภาคมว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่เล่นหุ้นบริษัทต่างตื่นตระหนกและ พากันคิดว่า “well aware it will not succeed, but hope to sell before the price fall” แต่บางคนที่ไหวตัวไม่ทันก็มีเหมือนกัน 


มาดูตัวอย่างนักเล่นหุ้นที่แทบสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะการเข้าไปเก็งกำไรใน South Sea Company กัน อย่าง Sir Justus Beck ผู้อำนวยการธนาคารกลางอังกฤษ ล้มละลายสูญเงินไปถึง 347,000 ปอนด์ The Duke of Chandos เสียเงินไปกับการเสี่ยงโชคบนกระดาษเปล่า 700,000 ปอนด์ ไม่เว้นแม้แต่ Sir Isaac Newton ก็กระโจนเข้าสู่เกมนี้ แต่โชคยังดีที่เสียเงินไปเพียงแค่ 20,000 ปอนด์ เพราะไหวตัวทันขายหุ้นออกก่อนและกลับเข้าไปเล่นใหม่อีกครั้งเมื่อหุ้นพีคสุด ขีด หรือกับบางคนที่หมดเนื้อหมดตัวแทบอยากฆ่าตัวตาย เหมือนมนุษย์พอศอนี้ เช่น Eustace Budgell (Addison’s nephew) หลังผ่านวิกฤตมาได้ก็เขียนบทความไว้เตือนใจชื่อ “The Art of Growing Rich” (ใน Spectator)   

บทเรียนจาก South Sea Company 


บทเรียนความล่มสลายของ South Sea Company ยังคงเป็นเครื่องเตือนใจให้เห็นถึงความอลหม่าน เบื้องหลังความฉ้อฉล พฤติกรรมความตื่นตระหนกของมนุษย์ และความไม่เชื่อมั่นศรัทธาที่มีวันหมดไปได้ อลัน กรีนสแปน เคยเตือนสติเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาหลังเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่ดอท คอมไว้ว่า “ระบบตลาดทั้งหมดขึ้นอยู่กับความไว้ใจ คำๆ นี้มันหมายถึงเพื่อนร่วมงานและความไว้ใจที่แฝงอยู่กับคนที่เราทำธุรกิจด้วย การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลและการหลอกลวงเป็นการทำลายระบบตลาดทุนทั้งหมด และยิ่งไปกว่านั้นคือระบบโครงสร้างของสังคม” 


จริงอย่างที่อดีตประธาน FED กล่าวไว้ หลายเหตุการณ์ไม่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับระบบตลาดเงินตลาดทุน เรื่องการทำธุรกิจ แม้แต่เรื่องการเมือง ถ้าไม่มีความไว้ใจ เชื่อใจกัน ก็มีอันต้องล่มจมเพราะความขัดแย้ง ไม่แปลกหาก South Sea Company จะมลายหายวับไปต่อหน้าต่อตา ทั้ง John Blunt นักการเมือง นักเก็งกำไร ที่คิดว่า “เงิน” เป็นทั้งหมด แต่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ทั้งหมดในทางการค้า แต่เป็นเพียงตัวแปรหนึ่งทางการค้าต่างหาก และที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจหรือการลงทุนใดๆ ก็ตาม ขอได้โปรดจงจำไว้ว่า “There is no way you can buck the market.” Margaret Thatcher (1988) เพราะการลงทุนก็คือความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ต้องไตร่ตรองและพิจารณาให้ดีในทุกครั้ง

______________________________
เรียบเรียง โดย ธนาวรรณ อยู่ประยงค์
http://www.mbamagazine.net/index.php/finance-blog/128-the-south-sea-bubble-qq

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น