ads head

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แผนกู้ “วิกฤตแบงก์สเปน” เงื่อนไขต่างไปจากกรีซ-ไอร์แลนด์



ที่มาที่ไปแผนกู้ “วิกฤตแบงก์สเปน” เงื่อนไขต่างไปจากกรีซ-ไอร์แลนด์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มิถุนายน 2555 02:39 น.
ชายผู้นี้ถือป้าย เขียนข้อความว่า “ช่วยผมด้วย” เพื่อขอเงินทองจากคนผ่านไปมา ที่บริเวณหน้าธนาคารแห่งหนึ่งในกรุงมาดริด เมื่อวันเสาร์(9) ภาพทำนองนี้มีให้เห็นตามเมืองต่างๆ ของสเปนเวลานี้ ภายหลังที่เศรษฐกิจย่ำแย่ สืบเนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ฟองสบู่แตก และพาให้ภาคการธนาคารซวนเซ
       บีบีซีนิวส์ - สเปนกลายเป็นสมาชิกชาติที่ 4 ของยูโรโซนที่ต้องขอความช่วยเหลือจากภายนอกเพื่อจัดการกับวิกฤตหนี้ อย่างไรก็ดี เงื่อนไขการอัดฉีดครั้งนี้ต่างจากกรณีการอุ้มกรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์
  
       ปัญหาใหญ่ของแดนกระทิงดุ คือ ธนาคาร ดังนั้นเงิน 100,000 ล้านยูโร (125,000 ล้านดอลลาร์) ที่จะได้รับจะนำไปอัดฉีดภาคการเงินภายในประเทศ
  
       เกิดอะไรขึ้นกับสเปน
  
       เรื่องราวของสเปนสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาของยูโรโซนกินลึกมากกว่าประเด็นการกู้ยืมเกินตัวของรัฐบาลที่ไร้วินัย รัฐบาลกรีซ โปรตุเกส และอิตาลีล้วนมีหนี้มากเกินไป แต่ยอดการกู้ยืมของรัฐบาลสเปนเป็น 0 มาตลอด เช่นเดียวกับงบประมาณที่อยู่ในสภาพสมดุลทุกปีจนกระทั่งก่อนวิกฤตการเงินโลก ปี 2008
  
       ก่อนปีดังกล่าวเศรษฐกิจสเปนยังเติบโตรวดเร็ว สัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีแนวโน้มลดลง ซึ่งตรงกันข้ามกับเยอรมนี
  
       ตอนที่สเปนเข้าร่วมระบบเงินสกุลเดียว ทางการมาดริดพยายามต้านทานแรงยั่วของเงินกู้ต้นทุนต่ำ แต่ประชาชนส่วนใหญ่รวมถึงแบงก์กลับไม่อาจทนทานไหว
  
       เศรษฐกิจแดนกระทิงดุบูมยาวนานจากฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัย ครัวเรือนสเปนกู้เงินซื้อบ้านก้อนใหญ่ขึ้น ราคาบ้านพุ่ง 44% ระหว่างปี 2004-2008 แต่แล้วก็ตกลง 25% หลังจากนั้น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่เติบโตเฉลี่ย 3.7% ต่อปีนับจากปี 1999-2007 ทว่าหลังจากนั้นกลับหดตัวลงปีละ 1%
  
       ดังนั้น แม้ทางการมาดริดยังมีหนี้ต่ำมาก แต่หนีไม่พ้นต้องกู้เงินมาจัดการกับการล่มสลายของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ภาวะถดถอย และอัตราว่างงานเลวร้ายที่สุดในยูโรโซน
  
       สถานการณ์นี้มีนัยอย่างไรต่อแบงก์
  
       ธุรกิจแบงก์เฟื่องฟูจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ล่ม ผู้กู้มากมายผิดนัดชำระหนี้และล้มละลาย มูลค่าสินทรัพย์ที่ค้ำประกันเงินกู้พลอยดิ่งลง
  
       นับตั้งแต่ภาวะถดถอยเริ่มต้นขึ้นซึ่งบางคนเชื่อว่าจะลากยาวถึงปีหน้า นั้น ยอดขาดทุนจากเงินกู้พอกพูนเนื่องจากผู้กู้ไม่มีปัญญาจ่ายคืน
  
       สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงจากข้อเท็จจริงที่ว่า แบงก์กู้เงินจากตลาดระหว่างประเทศมาปล่อยกู้ให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์และผู้ ซื้อบ้าน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่เสี่ยงมากกว่าการใช้เงินฝากในแบงก์
  
       เมื่อความเชื่อมั่นในตลาดทรุด แบงก์ยิ่งหาเงินมาอัดฉีดการดำเนินการได้ยากขึ้นและแพงขึ้น ปัจจุบันแบงก์สเปนมีหนี้สะสมมหาศาล บางคนคาดว่าอาจสูงถึง 180,000 ล้านยูโร
       กระนั้น ไม่ใช่ว่าทุกแบงก์ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ทั้งหมด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่าผู้เล่นรายใหญ่ เช่น ซานตานเดร์ และบีบีวีเอ มีสภาพที่มั่นคงและยืดหยุ่น
  
       รัฐช่วยแก้ไขอย่างไรบ้าง
  
       สเปนเริ่มปรับโครงสร้างภาคการธนาคารมาพักหนึ่งแล้ว แบงก์ขนาดเล็กและอ่อนแอจำนวนมากต้องผนวกกันหรือได้รับความช่วยเหลือจากแบงก์ ใหญ่ จำนวนสาขาลดลง 15% และมีการปลดพนักงาน 11%
  
       จนกระทั่งถึงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลอัดฉีดเงิน 34,000 ล้านยูโรให้แบงก์หลายแห่ง ในจำนวนนี้ไม่รวมเงิน 19,000 ล้านยูโรที่แบงเกีย แบงก์อันดับ 4 ของประเทศ ร้องขอเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนที่จะถูกโอนกิจการเป็นของรัฐไม่นาน
  
       ตัวแบงเกียเองมาจากการผนวกของแบงก์ระดับภูมิภาคหลายแห่งที่เล็กเกินกว่าจะต้านทานผลกระทบจากเศรษฐกิจขาลงได้
  
       ไอเอ็มเอฟระบุว่า ภาคการธนาคารสเปนต้องการเงินอัดฉีดอย่างน้อย 40,000 ล้านยูโรเพื่อฟื้นเสถียรภาพสถานะการเงินและปกป้องจากผลกระทบในอนาคต ตัวเลขนี้คาดว่าจะพุ่งกระฉูดเมื่อมีการรายงานผลการตรวจสอบบัญชีอิสระ 2 ฉบับปลายเดือนนี้
  
       เพื่อรองรับตัวเลขเหล่านี้ งบประมาณปีปัจจุบันของสเปนที่ถือว่าเข้มงวดที่สุดในรอบ 30 ปี จึงบรรจุการขึ้นภาษีและการลดการใช้จ่ายมูลค่า 27,000 ล้านยูโรไว้ด้วย
  
       ในภาวะที่เกิดวิกฤตศรัทธาในตลาดเกี่ยวกับสถานะของภาคการธนาคารและผล กระทบต่อสถานะการคลังของรัฐบาล การกู้ยืมในตลาดของสเปนจึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น
  
       ทำนองเดียวกับสถาบันการเงินกระทำกับลูกค้าที่ขาดความน่าเชื่อถือ นักลงทุนกำลังเรียกร้องอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากแนวโน้มความเสี่ยงที่เพิ่ม ขึ้น ผลลัพธ์คือสเปนต้องหันไปหากองทุนฉุกเฉินจากพันธมิตรในยูโรโซน
  
       กลไกการทำงานของแผนการอัดฉีดเป็นอย่างไร
  
       มีแนวโน้มว่าสเปนต้องกู้เงิน 100,000 ล้านยูโร แต่รัฐบาลยืนยันว่านี่ไม่ใช่มาตรการอุ้มหรือช่วยชีวิต และต่างจากความช่วยเหลือที่กรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ได้รับในหลายแง่มุม
       เงินกู้จะมาจากกองทุนของยูโรโซนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยชาติสมาชิก ที่มีปัญหาด้านการเงินคือ กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (เอฟเอสเอฟ) และกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) โดยที่กองทุนหลังนี้จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม
  
       ในกรณีก่อนๆ นั้น เงินอัดฉีดจะมาจาก 3 ฝ่าย อันประกอบด้วย สหภาพยุโรป (อียู) ไอเอ็มเอฟ และยูโรโซน
  
       นอกจากนี้ เงินช่วยเหลือก้อนนี้ยังโฟกัสเป็นพิเศษที่ธนาคารสเปน ไม่ใช่เศรษฐกิจโดยรวมผ่านการอัดฉีดให้รัฐบาลกลางซึ่งสเปนพยายามหลีกเลี่ยง เนื่องจากมาตรการอุ้มมักมาพร้อมข้อเรียกร้องในการลดการใช้จ่ายและขึ้นภาษี
  
       แต่เงื่อนไขครั้งนี้จะเน้นที่ภาคการเงิน กระนั้นรัฐบาลสเปนจะเป็นผู้ลงนามข้อตกลงและรับประกันเงินกู้


ที่มา:http://www.manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น