ads head

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คดีแชร์ชม้อย



 คดีแชร์ชม้อย

          ในสังคมยุคปัจจุบันยังคงมีประชาชนจำนวนไม่น้อย ตกเป็นเหยื่อขบวนการฉ้อโกงหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะลักษณะการชักชวนร่วมลุงทุนในธุรกิจ รูปแบบ  “แชร์ลูกโซ่” ที่เน้นโฆษณาชวนเชื่อเรื่องผลตอบแทนที่ให้สูงกว่าสถาบันการเงินถูกกฎหมายพึง จ่ายได้ เพื่อหลอกล่อให้เหยื่อเกิดความดึงดูดใจและคล้อยตาม ดังจะเห็นที่เป็นข่าวครึกโครมที่นสพ.เดลินิวส์ เกาะติดนำเสนอในขณะนี้ กับขบวนการต้มตุ๋น แชร์ลอตเตอรี่ ผู้ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นคนในระบบข้าราชการ ที่กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอก ก็ต้องสูญเสียเงินที่อดออมมานานแทบทั้งชีวิตไปแล้ว

          วันนี้  “เปิดแฟ้มคดีเก่า” จึงขอหยิบยกคดีตัวอย่าง ที่ถือว่าเป็นมหากาพย์ เป็นปฐมบทให้ศึกษากลโกงของระบบ “แชร์ลูกโซ่” ได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือคดีแชร์น้ำมัน “แม่ชม้อย” ที่เลื่องชื่อ สามารถตุ๋นเงินเหยื่อรวมกว่า  4 พันล้านบาทนั่นเอง คดีนี้ต้องย้อนกลับไปเกือบ 30 ปีที่แล้ว ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2525 นางชม้อย ทิพย์โส ชาว จ.สิงห์บุรี อดีตพนักงานองค์การเชื้อเพลิง ได้อุปโลกน์ตั้งบริษัทเกี่ยวกับน้ำมันปิโตรเลียมฯ อ้างว่า “ได้กระทำกิจการซื้อขายน้ำมัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดบรรดาเหยื่อให้นำเงินมาร่วมลงทุนด้วย แต่แท้จริงแล้วนั้นไม่ได้มีการประกอบการจริงแต่อย่างใด !”

          ทั้งนี้มีกำหนดอ้างข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับหากนำเงินมาร่วม ลงทุนด้วย พร้อมทำความเข้าใจง่าย ๆ ในทำนองว่าเหมือนกับการเล่นแชร์ อาทิ นำเงินมาลงทุนรถบรรทุกน้ำมัน คันละประมาณ 160,500 บาท จะได้ผลตอบแทนในลักษณะดอกเบี้ย ร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 78 ต่อปี (ถือว่าดอกเบี้ยสูงกว่าสถาบันการเงิน) ประชาชนที่หลงเชื่อนำเงินมาร่วมลงทุนในระยะแรก  ต่างได้ผลประโยชน์ตอบแทนตรงตามเวลาสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังสามารถถอนเงินต้นคืนได้ตลอดเวลา  ส่งผลทำให้เริ่มมีการพูดกันปากต่อปากเกี่ยวกับการลงทุนแชร์น้ำมันดังกล่าว สุดท้ายกลายเป็นเริ่มเรียกติดปากว่า แชร์แม่ชม้อย เนื่องจากได้รับความนิยมจนจำนวนลูกแชร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

          ประชาชนนับหมื่นจะเรียกว่าแทบทุกสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ฯลฯ ต่างหลงเชื่อนำเงินไปเข้าร่วม จนทำให้มียอดเงินสะพัดในบัญชีหลายพันล้านบาท  แม้ในการร่วมลงทุนกับแชร์แม่ชม้อย

          ภายหลังจากธุรกิจก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ทำให้การจัดสรรคิวรับผลประโยชน์เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นโดยไม่รู้เนื้อรู้ ตัว โดยมีการจัดตั้งระบบ “หัวหน้าสาย”เข้ามาร่วมปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนขยายโอกาสสร้างเงินไปสู่ “ชนชั้นกลาง” โดยแบ่งการลงทุนเพิ่มขึ้นในลักษณะเป็น “ล้อ” กล่าวคือรถบรรทุก 1 คัน จะมี 4 ล้อ  จากที่เคยให้ร่วมลงทุนเป็น คันรถบรรทุก ก็จะแบ่งให้ผู้มีเงินน้อย สามารถเลือกลงทุน 1 ใน 4  ของรถบรรทุก ยิ่งส่งผลทำให้จำนวนคนลงทุนสูงขึ้นถึงกว่า 1.6 หมื่นคน แม้ผู้คนมีรายได้น้อยก็ไปขวนขวายหาเงินมาร่วมเล่นแชร์แม่ชม้อย สุดท้ายยอดเงินสูงกว่า 4 พันล้านบาท

          การเจริญเติบโตที่พุ่งกระโดดนี้ก็ทำให้วันเวลาแห่งจุดจบของแชร์แม่ชม้อยมา ถึงกาลอวสานไปในตัว เนื่องจากจำนวนผู้ลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมทำให้เงินปันผลกับบรรดาลูกแชร์สูงขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน เรื่องนี้แม่ชม้อยก็พอจะทราบดี เพราะการที่แชร์น้ำมันยืนหยัดอยู่ได้มาเป็นเวลานานนั้น  ก็เนื่องมาจากระบบ “ลูกโซ่“ ที่นำเงินจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ มาจัดสรรคิวแบ่งจ่ายให้ผู้ลงทุนรายเก่าในลักษณะหมุนเวียนกันนั่นเอง

          อีกทั้งในภายหลังกรมสรรพากร เริ่มเข้ามาตรวจสอบธุรกิจแชร์แม่ชม้อย เบื้องต้นพบว่าไม่ได้มีการประกอบการจริงจึงทำให้ผู้ร่วมลงทุนเคลือบแคลง สงสัย หวั่นว่าตัวเองจะกลายเป็นเหยื่อตุ๋นจึงเริ่มทยอยเดินทางเข้าแจ้งความ เนื่องจากทราบว่า บรรดา หัวหน้าสาย เริ่มไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ นอกจากนี้ยังระแคะระคายว่า แม่ชม้อยนำเงินบางส่วน ไปซื้อทรัพย์สินมีค่าจำนวนมากปกปิดอำพรางซุกซ่อนไว้ แต่ด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาสมัยนั้น ข้อหาฉ้อโกงประชาชน ไม่อยู่ในข่ายที่จะสามารถลงโทษได้ รัฐบาลจึงต้องออกพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาใช้บังคับ

          กระทั่งวันที่ 26 มิ.ย. 2528 ตำรวจกองปราบปราม จึงนำกำลังจับกุมแม่ชม้อย พร้อมพวกได้ในที่สุด อีกทั้งนำกำลังขยายผลออกติดตามหาทรัพย์สินตามจุดต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ที่ตกตะลึงก็คือตำรวจสามารถติดตามจำนวนเงินสดมหาศาล ห่อพลาสติกแล้วฝังดินไว้ในบ้านพักของสามีใหม่แม่ชม้อย ใน จ.สิงห์บุรี ด้วย

          คดีแชร์แม่ชม้อย เมื่อคดีถึงชั้นศาล ใช้เวลาในการสืบพยานนานถึง 4 ปี จนเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2532 ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้นางชม้อย และพวกรวม 10 คน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุกเป็นเวลา 117,595 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อีก 36,410 ปี รวมจำคุก 154,005 ปี แต่ประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ลงโทษรวมกันทุกกระทงแล้วไม่เกิน 20 ปี  ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกนางชม้อยและพวกเป็นเวลา 20  ปี และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชนไปรวม 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี  ต่อมาภายหลังนางชม้อย จำคุกจริงเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษไปเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2536 ที่ผ่านมา

          คดีนี้จึงถือเป็นคดีตัวอย่าง สำหรับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี ที่จะช่วยคอยเตือนสติ หากจะกระทำการใดต้องมีความรอบคอบ ควรศึกษาทั้งผลดีผลเสียให้ละเอียด เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพหัวหมอ ต่างสรรหาวิธีมาลวงตุ๋นเอาเงินประชาชนหลากหลายรูปแบบ โดยอาศัยความโลภของเหยื่อเป็นหลัก ยิ่งปัจจุบันความเจริญทางด้านเทคโนโลยีก้าวไกล จึงกลายเป็นช่องทางการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้ตกเป็นเหยื่อหลงกลได้ง่ายยิ่งขึ้น ด้วย.

วรลักษณ์ อโนทัยสินทวี ข้อมูล / ผาณิต นิลนคร รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น