ads head

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิกฤตโปรตุเกส



March 30, 2011
Posted by KOBSAK (ADMIN)

วิกฤตโปรตุเกส

คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับดร. กอบ
          เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว สายตานักลงทุนเริ่มไปจับจ้องที่โปรตุเกสอีกครั้ง โดยหลายๆ คนมีคำถามที่อยู่ในใจว่า “ยังเหลือเวลาอีกนานแค่ไหน ก่อนโปรตุเกสจะเข้ารับการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและ IMF

เกิดอะไรขึ้น
          โปรตุเกสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเปราะบางมากทางเศรษฐกิจ จากปัญหาด้านต่างๆ นับแต่

          (1) การที่เศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพ แข่งขันไม่ได้ ขยายตัวไม่ดีเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป           (2) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในระดับสูง รวมทั้ง (3) การกู้ยืมจากต่างประเทศ จนมีหนี้ภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก

          ครั้นวิกฤตในสหรัฐและยุโรปได้ปะทุขึ้น เศรษฐกิจโปรตุเกสได้ชะลอตัวลง ประสบปัญหาการว่างงาน นำไปสู่ปัญหาด้านการคลัง โดยมีการขาดดุลในระดับที่สูง จนกลายเป็นเป้าหมายของนักลงทุนในการเก็งกำไร และเล็งว่าโปรตุเกสจะเป็นประเทศต่อไปที่จะเกิดวิกฤต อัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลกู้ยืมจากตลาดจึงพุ่งขึ้นสูงมากกว่าระดับ 7% ซึ่งเป็นระดับสำคัญที่เคยทำให้กรีซและไอร์แลนด์ต้องเกิดวิกฤตมาแล้ว
          ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลโปรตุเกสจึงได้พยายามที่จะประคับประคองตน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาด้านการคลัง สามารถทำให้วินัยทางการคลังเกิดขึ้น และสามารถคืนหนี้ได้ด้วยตนเองไม่ต้องไปขอความช่วยเหลือจาก สหภาพยุโรปและ IMF
แต่ล่าสุด การลาออกของนายกรัฐมนตรี หลังรัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบแผนการรัดเข็มขัดของทางรัฐบาลที่จะลดการใช้จ่าย ของภาครัฐ และเก็บภาษีเพิ่มเติม ได้มาซ้ำเติมให้ปัญหามีความหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น

จะเกิดอะไรต่อไป
          สิ่งที่ท้าทายในช่วงต่อไปคือ รัฐบาลชั่วคราวของโปรตุเกสจะสามารถกู้ยืมเงินมาคืนหนี้ที่ครบกำหนดชำระจำนวน 4.3 พันล้านยูโร ในเดือนเมษายน และ4.9 พันล้านยูโร ในเดือนมิถุนายน พร้อมดอกเบี้ยอีก 3 พันล้านยูโร ได้หรือไม่ และต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่เท่าไร ท่ามกลางปัญหาด้านต่างๆ ที่คุกคามอยู่ โดยเฉพาะจาก



          (1) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่พากันประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสลง โดย S&P ลดอันดับโปรตุเกสลง 2 ขั้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็น BBB ทั้งยังขู่ว่าจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออีกในเร็วๆ นี้ ซึ่งเรื่องนี้กำลังส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกส เพราะ LCH.Clearnet (ซึ่งทำหน้าที่เหมือนศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ของประเทศไทย) ประกาศว่า ไม่ให้ใช้พันธบัตรของรัฐบาลโปรตุเกสเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมต่อ ไป
          (2) สถาบันการเงินในโปรตุเกสที่ขาดสภาพคล่อง ในอดีตสถาบันการเงินเหล่านี้ได้กู้ยืมเงินมาเพื่อปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนมาก โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของสถาบันการเงินบางแห่งเคยสูงถึงประมาณ 200% ทำให้มีความเสี่ยงต่อการที่นักลงทุนจะเรียกเงินกู้ยืมคืน ล่าสุด สถาบันการเงินในโปรตุเกสต้องหันไปพึ่งพาสภาพคล่องจากธนาคารกลางของยุโรป ประมาณ 41 พันล้านยูโร (สูงเป็นอันดับที่ 4 รองจากไอร์แลนด์ กรีซ สเปน) เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปกู้ยืมตลาดการเงินระหว่างประเทศอีกต่อไป

          เรียกได้ว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเริ่มสุกงอมมาก รอวันเวลาที่จะปะทุขึ้นมาเป็นวิกฤต ก็เพียงแต่ว่าจะเมื่อไรเท่านั้นเอง และยิ่งรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพเช่นนี้ ยิ่งเป็นเป้าหมายในการเก็งกำไรมากขึ้นเท่านั้น
          ส่วนผลกระทบต่อประเทศต่างๆ รวมถึงไทยนั้น โชคดีที่โปรตุเกสเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก ไม่มีปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับไอร์แลนด์ และไม่ได้มีปัญหาหนี้ภาครัฐรุนแรงเหมือนกรีซ อีกทั้งตลาดได้รับรู้ข่าวและเตรียมใจไว้ก่อนแล้วระดับหนึ่ง ผลกระทบของวิกฤตในโปรตุเกสจึงน่าจะอยู่ในวงจำกัด ที่เราน่ากังวลใจกันจริงๆ ก็คือ สเปน ซึ่งอยู่ข้างๆ และหลายคนมองว่าจะเป็นคิวต่อไปที่อาจเกิดวิกฤต ว่าจะถูกกระทบอย่างไร จะยืนหยัดอยู่ได้หรือไม่ เพราะสเปนใหญ่กว่าโปรตุเกสมาก ถ้าสเปนเป็นอะไรไป ก็จะมีผลพวงตามมาอีกมาก ก็ขอเอาใจช่วยครับ



ที่มา:http://www.oknation.net/ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น