ads head

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เล่าเรื่องฟองสบู่ ## Gold Rush, California



## เล่าเรื่องฟองสบู่ ## Gold Rush, California : ตื่นทอง และ 49ERs



การตื่นทองที่แคลิฟอร์เนียใน ค.ศ. 1849 ทำให้ดินแดนทางภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาขยายตัวอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าจะมีการตื่นทองอีกหลายครั้งทางภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา อาทิ ที่ Colorado Nevada Idaho Montana South Dakota และ Alaska



แต่ยังไม่เคยมีการตื่นทองครั้งใดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาที่สำคัญและมี ชื่อเสียงเท่าการตื่นทองที่แคลิฟอร์เนีย การพบทองของ James William Marshall นักบุกเบิกชาวอเมริกันเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1848 ทำให้นโยบายของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับดินแดนทางตะวันตกเปลี่ยนไป มาร์แชลล์พบทองโดยบังเอิญที่หุบเขา Coloma บริเวณ South Fork ของแม่น้ำ American ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง Sacramento ขณะรับจ้างสร้างโรงเลื่อยให้ Augustus Sutter ซึ่งอพยพจากสวิตเซอร์แลนด์มาทำไร่ในที่ดินผืนนี้ตั้งแต่แคลิฟอร์เนียยังเป็น ของเม็กซิโก

โรงเลื่อยของ Sutter


James William Marshall


Augustus Sutter


ช่วงแรก ๆ หลังจากพบทองทั้งคู่ตกลงเป็นหุ้นส่วนกัน และพยายามเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ แต่ข่าวรั่วออกไป ทำให้นักแสวงโชคแถบแคลิฟอร์เนียพากันบุกรุกเข้าไปขุดทองในที่ดินของซัตเตอร์ ในขณะที่คนทางภาคตะวันออกยังคิดว่าเรื่องนี้เป็นเพียงข่าวลือ เนื่องจากดินแดนแคลิฟอร์เนียยังไม่ได้รับการสถาปนาเป็นมลรัฐ การปกครองดูแลดินแดนจึงอยู่ในความดูแลของทหาร ผู้ว่าการทหารจึงเป็นทั้งผู้ปกครองดินแดนและผู้บัญชาการทหารในดินแดนนั้น ด้วย


ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1848 ผู้ว่าการทหาร (military govenor) ของแคลิฟอร์เนียในขณะนั้น Richard Barnes Mason รายงานให้กระทรวงสงครามของสหรัฐอเมริกาทราบว่าทองคำที่ร่อนได้จากแม่น้ำ แซคราเมนโตกับแม่น้ำ San Joaquin มีมูลค่าสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่สหรัฐอเมริกาต้องเสียไปในการทำสงครามเม็กซิโก ถึงกว่า 100 เท่าตัว และ ประธานาธิบดี James K. Polk ก็ได้รายงานเรื่องนี้ต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกา พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าแคลิฟอร์เนียจะทำให้สหรัฐอเมริกามั่งคั่งร่ำรวย จึงเกิดการตื่นทองครั้งใหญ่ทั่วสหรัฐอเมริกา เนื่องจากในเวลานั้นเศรษฐกิจทางภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกากำลังได้รับผล กระทบอย่างหนักจากสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโกที่เพิ่งสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1848 คนหนุ่มส่วนใหญ่ซึ่งแทบไม่มีโอกาสสร้างตัวพร้อมใจกันเดินทางไปขุดทองที่แคลิ ฟอร์เนียด้วยความหวังว่าจะร่ำรวยกลับมา การพบทองครั้งนี้จึงมีผลทางด้านจิตวิทยาต่อคนอเมริกันในช่วงนั้นเป็นอย่าง มาก





การตื่นทองที่แคลิฟอร์เนียเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ยิ่งใหญ่กว่าการตื่นทอง ครั้งใดๆ ไม่เพียงแต่คนทั่วสหรัฐอเมริกาจะทิ้งครอบครัวเดินทางไปแสวงโชคที่แคลิ ฟอร์เนีย แต่การพบทองที่แคลิฟอร์เนียยังดึงดูดคนจากทุกมุมโลกให้เดินทางมาที่นี่ จนแม้แต่พวกที่ไปไม่ได้ก็ยังร่วมกันตั้งสโมสรขึ้นมาหลายแห่ง เพื่อช่วยกันออกเงินส่งตัวแทนของตนไปขุดหาทองที่แคลิฟอร์เนีย

ปี 1849 เกิดมีพวกนักแสวงโชคซึ่งเรียกกันว่า
นักขุดทองปี 49 หรือ 49ERs
(Forty Niners ที่มาของชื่อทีมอเมริกัน ฟุตบอล San Francisco 49ERs)






49ERs เดินทางไปแคลิฟอร์เนียถึงประมาณ 40,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันจากทุกหมู่บ้านซึ่งพากันทิ้งครอบครัวเดินทางไปแสวง โชคที่แคลิฟอร์เนีย คู่มือนักเดินทาง แผนที่ของแคลิฟอร์เนีย เครื่องมือขุดทอง และโกลโดมิเตอร์ (goldometer) ซึ่งโฆษณาว่าสามารถบอกได้ทันทีว่ามีทองอยู่ตรงไหน จึงมีวางขายแทบทุกหมู่บ้าน

ตรงนี้ในทางเศรษฐศาสตร์การพัฒนา เราเรียกว่า Backward Linkage ครับ เป็นการเชื่อมโยงไปข้างหลัง ได้แก่ ธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อ Support ธุรกิจที่กำลังเติบโต เช่น ธุรกิจเหล็กเติบโต รองรับ ธุรกิจรถยนต์ หรือในกรณีก็เช่นกัน ที่ธุรกิจอุปกรณ์หาทองเติบโต รองรับการตื่นทอง ส่วนการเชื่อมโยงไปข้างหน้าหรือ Forward Linkage ก็พวกร้านเครื่องประดับ ร้านหลอมทอง โรงรับจำนำ เป็นต้น

ตัวอย่างของคนที่ได้รับอานิสงค์จากยุคตื่นทอง และสามารรวยอย่างยั่งยืนได้ คือ Levi Strauss พ่อค้าชาว บาวาเรียน ผู้กำเนิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1829 เขาสูญเสียบิดา เมื่ออายุเพียง 16 ปี หลังจากนั้นเขาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลพร้อมมารดาและพี่สาว เพื่อมาสมทบกับพี่ชายอีกสองคน ที่บุกเบิกมาตั้งรกรากประกอบธุรกิจขายส่งในนิวยอร์ก เขาแยกตัวออกมาจากครอบครัว เดินทางออกสู่ทำเลของตนเอง ในปี 1853 เขาได้เดินทางจากตะวันออกสู่ตะวันตก ดินแดนที่ครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยทองคำล้ำค่าจำนวนมหาศาล แต่ในปีที่เขาเดินทางไปถึงเป็นช่วงที่การขุดทองเริ่มยากมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายได้ถูกจับจองขุดเอาทองออกไปหมดแล้ว เหลือแต่พื้นที่เข้าไปถึงได้อย่างยากลำบาก ประกอบกับการออกกฎหมายที่เคร่งครัดในการขุดทอง ทำให้นักแสวงโชครุ่นหลังต้องหันไปประกอบการอย่างอื่นแทน


Levi Strauss ไม่ได้มุ่งมั่นเข้ามาขุดทองเหมือนคนอื่นๆ เขาต้องการขยายธุรกิจขายส่งของครอบครัว เขาเริ่มขายทุกอย่างที่เป็นของแห้งตั้งแต่ อาหารแห้ง เสื้อผ้า ร่ม และผ้าเป็นม้วนๆ เป็นต้น นอกจากนั้นเขามีความคิดที่จะขายเต็นท์และผ้าใบคลุมรถให้แก่บรรดา 49ERs แต่ในไม่ช้าเขาพบว่า คนงานเหมืองเหล่านั้นต้องการกางเกงใช้งานที่ทนทานต่องานในเหมืองมากกว่า สินค้าอื่นๆ เขาจึงสั่งวัตถุดิบที่ใช้ในการตัดกางเกง โดยเฉพาะผ้าใบเข้ามาขายให้แก่ร้านตัดเสื้อผ้าในซานฟรานซิสโกเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนของบริษัทในนิวยอร์กจำหน่ายสินค้าส่งอื่นๆ ให้กับพื้นที่ในแคลิฟอร์เนียและตะวันตกของอเมริกา ภายใต้ชื่อบริษัทว่า "Levi Strauss" ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานกางเกงยีนส์อมตะของโลก

การขุดทองที่แคลิฟอร์เนียในช่วงแรกได้ทองเป็นจำนวนมาก โดยใช้เพียงภาชนะก้นแบนตักดินไปล้างในแม่น้ำที่อยู่ใกล้ ๆ ให้ดินหลุดไปเหลือแต่ผงทองตกอยู่ที่ก้นภาชนะ



การร่อนทองแบบดั้งเดิม



ต่อมาเพื่อให้ร่อนทองได้มากขึ้นจึงใช้พลั่วตักดินใส่รางยาว ๆ แล้วใช้น้ำล้างให้ดินหลุดไปจนหมดเหลือแต่ผงทอง




การขุดทองได้ง่าย ๆ โดยแทบไม่ต้องลงทุนเลยนี้ทำให้คนที่มาที่นี่มือเปล่าร่ำรวยขึ้นได้ในพริบตา ในช่วง 5 ปีแรกของการตื่นทองนักขุดทองสามารถขุดทองได้เป็นมูลค่ารวมกันถึงกว่า 200 ล้าน USD

การพบทองที่แคลิฟอร์เนียมีผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหลายด้าน กล่าวคือทำให้ประเทศนี้มั่งคั่งอย่างมาก และยังทำให้ธุรกิจเดินเรือเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะค่าเดินทางและค่าขนส่งสินค้าไปยังแคลิฟอร์เนียในช่วงที่มีการ ตื่นทองจูงใจให้นักธุรกิจชาวอเมริกันหันมาต่อเรือมากขึ้น จนทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นคู่แข่งทางด้านพาณิชย์นาวีของอังกฤษและชาติที่ เป็นนักเดินเรืออื่น ๆ เพราะเรือเหล่านี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เดินทางไปแคลิฟอร์เนียเท่านั้น แต่ยังเดินทางไปประเทศจีนเพื่อหาซื้อสินค้าประเภทใบชาและผ้าไหม และเดินทางไปออสเตรเลียเพื่อหาซื้อข้าวสาลีและทองคำด้วย



ในช่วงทศวรรษ 1850 ซึ่งกำลังมีการตื่นทองที่แคลิฟอร์เนียทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษซึ่งเป็นคู่ แข่งกันทางการค้า ต่างพยายามหาเส้นทางเดินเรือที่สามารถช่วยให้การเดินทางติดต่อระหว่าง มหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 1840 ชาวอเมริกันที่เดินทางจากนิวยอร์กไปแคลิฟอร์เนียหากไม่เดินทางทางบกด้วย เกวียนประทุน ก็จะต้องเดินทางอ้อมแหลม Cape Horn ซึ่งอยู่ตรงปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้ หรือเดินทางด้วยเรือไปยังคอคอดบริเวณอเมริกากลางซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นดินแคบ ๆ คั่นอยู่ระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นจึงเดินทางทางบกข้ามคอคอดดังกล่าว หรือใช้เรือแคนูล่องไปตามแม่น้ำผ่านป่าทึบของอเมริกากลางไปขึ้นเรือที่ Panama City ทางริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก วิธีนี้แม้จะทุ่นเวลากว่าวิธีอื่น ๆ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากเช่นเดียวกับการเดินทางอ้อมแหลมฮอร์น และยังต้องเสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนสัตว์ร้ายในป่าขณะเดินทางไปเมืองปานามาซิตี

และแม้ประเทศ Colombia ซึ่งขณะนั้นมีอำนาจเหนือคอคอด จะเคยลงนามในสนธิสัญญา Bidlack–Millarino Treaty ตั้งแต่ ค.ศ. 1846 ยินยอมให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสร้างทางรถไฟข้ามคอคอดดังกล่าวแลกเปลี่ยนกับการ ที่สหรัฐอเมริการับรองอำนาจของโคลัมเบียเหนือดินแดนปานามา แต่ทางรถไฟข้ามคอคอดซึ่งสามารถช่วยให้การเดินทางไปต่อเรือที่เมืองปานามาซิ ตีสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น สร้างเสร็จไม่ทันขนส่ง พวก 49ERs เพราะเริ่มสร้างใน ค.ศ. 1850 และไปสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1855 เมื่อกระแสการตื่นทองที่แคลิฟอร์เนียเริ่มจางลงแล้ว



นอกจากนี้ การขยายตัวของการเดินเรือในช่วงที่มีการตื่นทองยังทำให้ภาคพื้นทวีปนี้เติบ โตอย่างรวดเร็ว และแม้การเดินทางทางเรือจากภาคตะวันออกไปภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาจะเสีย ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเดินทางทางบกด้วยเกวียนประทุน แต่พวก 49ERs จำนวนไม่น้อยก็ยังเลือกเดินทางด้วยวิธีนี้ นักธุรกิจชาวนิวยอร์กหลายคนจึงตั้งบริษัทเดินเรือขึ้นมาจัดการเดินทางให้นัก แสวงโชคที่ต้องการเดินทางไปแคลิฟอร์เนียโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มคิดเรื่องการขุดคลองตรงจุดใดจุด หนึ่งของอเมริกากลางซึ่งมีลักษณะเป็นคอคอด เพื่อให้กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาสามารถเดินทางจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปยัง มหาสมุทรแปซิฟิกได้เร็วขึ้น



การตื่นทองมีความสำคัญต่อความเจริญของดินแดนทางภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา เป็นอย่างมาก เพราะทำให้มีเมืองสำคัญ ๆ เกิดขึ้นทางแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง San Francisco ซึ่งกลายเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดของแถบชายฝั่งแปซิฟิก เนื่องจากนักบุกเบิกหลายคนเมื่อเดินทางทางเรือมาขึ้นฝั่งที่เมืองนี้แล้ว เล็งเห็นว่าการขายเครื่องมือขุดทองและเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ให้นักขุดทอง ทำเงินได้มากกว่าโดยเสี่ยงอันตรายน้อยกว่าการขุดทอง จึงปักหลักทำธุรกิจอยู่ ณ ที่นี้





ซานฟรานซิสโกจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของแถบตะวันตกไกลในเวลาอันรวด เร็วในขณะเดียวกัน การตื่นทองยังมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของแคลิ ฟอร์เนีย ทำให้แคลิฟอร์เนียมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 15,000 คนเป็น 250,000 คนในเวลาเพียง 4 ปี จึงได้รับการสถาปนาให้เป็นมลรัฐที่ไม่มีทาสใน ค.ศ. 1850 จากดินแดนที่เคยเงียบเหงาของเม็กซิโก แคลิฟอร์เนียกลายเป็นมลรัฐที่มั่งคั่งร่ำรวยมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา สมกับที่ได้รับสมญานามว่า มลรัฐทองคำ (Golden State)



นอกจากนี้ การพบทองในมลรัฐนี้ยังทำให้รัฐสภาสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นชอบโครงการสร้าง ทางรถไฟสายข้ามทวีปเชื่อมภาคตะวันออกกับภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเข้าด้วย กันปัจจุบันแม้กระแสการตื่นทองที่แคลิฟอร์เนียจะสิ้นสุดลงแล้ว เรื่องราวของนักขุดทองการแสวงโชค ความมั่งคั่งชั่วข้ามคืน รวมทั้งชื่อเสียงของแคลิฟอร์เนียในยุคนี้ ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญ
เรื่อยมาในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา.



ขอบคุณบทความ : กุลวดี มกราภิรมย์ สาขามานุษยวิทยา ม.ก.
ข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ : Wikipedia และ Google
_________________
ที่มา:http://www.soccersuck.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น