ads head

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิกฤติไอร์แลนด์ (Crisis in Ireland)



November 9, 2010
Posted by KOBSAK (ADMIN)

วิกฤติไอร์แลนด์ (Crisis in Ireland)

          ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าววิกฤตของ Ireland ได้ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำมาซึ่งความกังวลใจว่าจะลุกลามกลายเป็นวิกฤต และ IMF และ EU ส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยดูแลปัญหาอย่างเร่งด่วนนับแต่วันพฤหัสที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา วันนี้จะได้มาวิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดใน Ireland และนัยให้ทุกท่านฟัง
เกิดอะไรขึ้นที่ Ireland

          Ireland เป็นหนึ่งในประเทศในกลุ่มลูกหมู (PIIGS) ที่หลายคนมองว่าเป็นกลุ่มประเทศเจ้าปัญหาในสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้มี (1) ปัญหาหนี้ภาครัฐในระดับที่สูง หรือ (2) ปัญหาการขาดดุลการคลังในสัดส่วนที่สูงกว่าที่ทางสหภาพยุโรปได้ตกลงกันไว้

          สำหรับกรณีของ Ireland ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระดับของหนี้ภาครัฐ ซึ่ง Ireland จะมีหนี้ภาครัฐอยู่เพียง 82.9% ของ GDP ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งแม้ว่าสูงกว่าระดับที่ควรจะเป็น แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ยังอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศในสหภาพยุโรป และเมื่อเทียบกับกรีซที่มีหนี้ภาครัฐสูงถึง 124.9% ไอร์แลนด์ไม่ได้มีปัญหาหนี้ภาครัฐรุนแรงเท่ากับกรีซ



          ปัญหาอยู่ที่การขาดดุลการคลังในระดับที่ สูงมาก ที่ Ireland ขาดดุลการคลังถึง 14.7% เมื่อเทียบกับ 3% ที่ทางสหภายยุโรป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากเกิด วิกฤตการเงินในสหรัฐ ส่งผลให้ฟองสบู่อสังหาใน Ireland ซึ่งได้สะสมตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจดีดี จนหลายคนเรียก Ireland ว่า Economic Miracle ของยุโรป ก่อนปี 2008 แตกลงกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ โดย
          – ระดับราคาบ้านใน Ireland ที่ปรับตัวลดลงมาอย่างรวดเร็ว และทำให้สินเชื่อบ้านในไอร์แลนด์กำลังกลายเป็นหนี้เสียให้กับภาคธนาคาร พาณิชย์



          - ราคาหลักทรัพย์ใน Irish Stock Exchange ก็ปรับตัวลดลงมากเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญของ Ireland ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ท้ายสุดรัฐบาลต้องเข้าไปยึดสถาบันการเงินเกือบทั้งหมด มาเป็นของภาครัฐ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยจะมีก็เพียงแบงก์อันดับ 1 คือ Allied Irish Bank และแบงก์อันดับสอง Bank of Ireland ที่ยังมีเอกชนถือหุ้นอยู่บ้าง แต่รัฐก็เข้าไปช่วยจนทำให้รัฐมีหุ้นอยู่ประมาณ 70% และ 40% ตามลำดับแล้ว


          ทำไมรอบนี้ดูร้ายแรงต่อเนื่องกว่ากรณีกรีซ และมีการพูดกันในตลาดว่าอาจได้รับเงินช่วยเหลือถึง 90-130 พันล้านยูโร
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าปัญหาต่างกัน
          - ปัญหาของกรีซเป็นปัญหาด้านการคลัง
          - ปัญหาของ Ireland เป็นปัญหาฟองสบู่อสังหาแตก และทำให้แบงก์ล้ม

          เวลาที่มีปัญหาด้านการคลัง สิ่งที่เกิดขึ้น จะค่อยๆ เกิด ไม่เร็ว และหัวใจสำคัญก็คือการดูแลให้รัฐบาลมีเงินที่เพียงพอที่จะจ่ายคืนหนี้ภาครัฐ ที่ครบกำหนดในช่วงต่อไป
          ด้านการคลังของไอร์แลนด์ รัฐบาลขาดดุลมากก็จริง จากเศรษฐกิจที่ซบเซาลงหลังฟองสบู่แตก และจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาก จากประมาณ 4% เป็นประมาณ 14% ทำให้รัฐบาลมีภาระมากขึ้นในการใช้จ่าย และจัดเก็บภาษีได้ไม่มากเช่นเดิม ตรงนี้ หมายความว่ารัฐบาลจะต้องพยายามรัดเข็มขัด ลดเงินเดือนข้าราชการ และลดการใช้จ่าย เพื่อให้การขาดดุลภาคการคลังไม่มากอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งรัฐบาลของไอร์แลนด์ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงให้โลกเห็นถึงวินัยการ คลังของตน ในช่วงที่ผ่านมา


แต่ความพยายามในการแสดงถึงวินัยทางการคลังกลับไม่ได้ผลมาก เพราะปัญหาจริงๆ ของไอร์แลนด์อยู่ที่แบงก์ โดยเฉพาะหนี้เสียที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูและฟองสบู่ ภาคอสังหาริมทรัพย์แตก (ซึ่งกรีซไม่ได้มีปัญหาในลักษณะนี้) จากปัญหานี้ ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลไอร์แลนด์ จึงต้องมีการประกาศยึดแบงก์เกือบทั้งหมดของประเทศมาเป็นของภาครัฐ และมีการประกาศจัดตั้ง NAMA ซึ่งเป็น Bad Bank เข้ามาจัดการบริหารปัญหาต่างๆ
และที่น่าสนใจก็คือ ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้เข้ายึดแบงก์ต่างๆ เหล่านี้เรียบร้อยแล้วเป็นส่วนมาก ปัญหาภาคสถาบันการเงินของไอร์แลนด์ ยังคงก่อตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด CDS ของสถาบันการเงินเหล่านี้ ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว



          สงครามที่กำลังต่อสู้กันอยู่ในขณะนี้ ก็คือ สงครามของความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินเหล่านี้  ที่ทำให้มีการถอนเงินฝากจากสถาบันการเงินเหล่านี้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ ผ่านมา ในกรณีของ Allied Irish Bank มีเงินฝากหายไป 13 พันล้านยูโรหรือ 20% ของยอดเงินฝากจากปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วน Bank of Irish เงินฝากลดลงไปประมาณ 10 พันล้านยูโร

          ตรงนี้ ผู้ฝากเงินบางกลุ่มมีการพยายามที่จะแลกเปลี่ยนเงินฝากจากยูโรเป็นเงินปอนด์ ที่น่ากังวลใจก็คือ การถอนเงินเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ไอร์แลนด์ได้ประกาศคุ้มครองเงินฝาก และการกู้ยืมของสถาบันการเงินเหล่านี้แล้ว แต่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ไม่เชื่อ

          ด้วยเหตุนี้ จากปัญหาความไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงิน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ดูเหมือนกับว่า เร็ว แรง และแก้ยากกว่ากรณีของ กรีซ ซึ่งเป็นปัญหาด้านการคลัง
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
          
          หัวใจสำคัญคือการดูแลให้ความเชื่อมั่นเกิดขึ้น
ตรงนี้ ความไม่เชื่อมั่นส่วนหนึ่งมาจาก ความไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดูแลไว้ได้ แม้ว่ารัฐบาลจะใส่เงินเข้าไปมาก เพราะ

           หนึ่ง – แบงก์ทั้ง 5 มียอดเงินฝาก/กู้ยืมรวมกันประมาณ 350 พันล้านยูโร หรือประมาณ 2 เท่าของ GDP ของไอร์แลนด์ เรียกได้ว่าใหญ่มาก ใหญ่กว่าที่รัฐบาลจะอุ้มไว้ได้ และจะนำไปสู่การลดอันดับ Rating ของรัฐบาลไอร์แลนด์ต่อไป และความกังวลใจถึงความสามารถของไอร์แลนด์ที่จะจ่ายหนี้คืน
ซึ่งหนี้เสียสำหรับแบงก์ในไอร์แลนด์ที่ เกิดขึ้นในช่วงแรก มาจากบริษัทอสังหาขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ แต่ตอนนี้ หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน ราคาบ้านลดลงมาก ผู้บริโภคที่กู้ซื้อบ้านก็ไม่กำลังจ่ายคืนหนี้เช่นกัน ทำให้ฐานะของสถาบันการเงินในไอร์แลนด์ง่อนแง่นมากกว่าเดิม และความเสียหายที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปเพิ่มทุนให้แบงก์เหล่านี้อาจจะมากกว่า ที่คาดไว้

          สอง – ไอร์แลนด์ไม่สามารถพิมพ์เงินยูโรได้เอง เวลาที่แบงก์ขาดสภาพคล่อง แบงก์ก็ไปเอาที่ธนาคารกลาง แต่ว่าในกรณีนี้ ธนาคารกลางไม่สามารถพิมพ์เงินได้ ก็ต้องไปเอาจาก ECB ต่อ ซึ่งสองเดือนที่ผ่านมา ไอร์แลนด์ ได้กู้ยืมสภาพคล่องจาก ECB ถึง 130 พันล้านยูโร (กลายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่ต้องพึงพาสภาพคล่องจาก ECB โดยรองลงมาคือ กรีซที่ 92 พัรล้านยูโร และสเปนที่ 70 พันล้านยูโร

          สาม – คำถามคือ ECB จะช่วยแค่ไหน ถ้าไอร์แลนด์มาพึ่งเรื่องสภาพคล่องมากถึงขนาดนี้ เพราะเวลาเกิด Bank run ไม่มีใครรู้ว่าเงินจะไหลออกไปและจะต้องช่วยแค่ไหน  ECB ก็ออกมาบ่นเรื่องนี้ ว่ากงวลใจว่าถ้าช่วยอย่างไม่มีข้อจำกัดก็จะเป็นภาระในภายหลัง  ซึ่งความกังวลใจเกิดจากความไม่แน่นอนในการช่วยเหลือ และความไม่แน่นอนเชิงนโยบายเกี่ยวกับว่าอนาคตคืออะไร และจะทำอย่างไรถ้าแบงก์ล้มจริงๆ (จนมีบางคนไปสร้างข่าวลือว่า อาจจะต้องออกจากยูโร ถ้า ECB ไม่ช่วย คนก็ยิ่งกลัวไปต่างๆ นานา) ตรงนี้ก็เลยเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม

          สี่ วิกฤตได้เริ่มไปจากเศรษฐกิจไปสู่การเมือง การประท้วง และคำถามเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งทำให้การแก้ไขยากขึ้นไปอีก



ตรงนี้ สิ่งที่ต้องทำโดยเร็ว ก็คือ ความชัดเจนของนโยบาย โดยเฉพาะของ ECB และเงินช่วยเหลือที่จะต้องมากพอ พอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคนได้ ซึ่งยากกว่ากรณีของกรีซ เพราะว่าเงินที่จะจ่ายออกไป จะขึ้นกับขนาดของการแห่ถอนเงิน ไม่ได้ขึ้นกับภาคการคลัง และเป้าหมายต่อไป ของนักเก็งกำไร คือ โปรตุเกส ซึ่งจาก CDS และส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยกับเยอรมันอยู่ในระดับที่สูงไม่แพ้ไอร์แลนด์ เช่นกัน ทำให้น่าติดตามอย่างยิ่งว่าจะเกิดอะไรขึ้นครับ



ที่มา:http://www.kobsak.com
ON Air in Money Wake Up at The Money Channel
(Monday, November 22, 2010)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น