ads head

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิกฤต "ดูไบ เวิลด์" บทเรียนอาหรับ บทเรียนเศรษฐกิจโลก


วิกฤต "ดูไบ เวิลด์" บทเรียนอาหรับ บทเรียนเศรษฐกิจโลก


ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4163


              
           วิกฤตของกลุ่มบริษัท ดูไบ เวิลด์ กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกอย่างเหนือความคาดหมาย แม้ว่านักวิเคราะห์ที่ติดตามเศรษฐกิจของดูไบและโลกอาหรับทั้งภูมิภาค จะมั่นใจว่า ที่สุดแล้วรัฐบาลและธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ย่อมต้องทุ่มเทความพยายามเพื่อโอบอุ้มรัฐที่เคยแข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางการค้าและการเงินของตะวันออกกลางให้อยู่รอดได้ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤต "ดูไบ เวิลด์" เป็นบทเรียนราคาแพงของรัฐดูไบ ที่มีบทบาทสำคัญเคียงคู่มากับอาบูดาบี รัฐที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดและของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองด้วย 

           ในแง่ของรัฐดูไบ แม้วางตำแหน่งรัฐเป็นเสมือนประตูของโลกอาหรับ เป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าระหว่างประเทศ โดยอาศัยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง และคุณภาพของทุนมนุษย์ในรัฐ ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคลากรที่ตัดสินใจเลือกที่จะอาศัยอยู่และดำเนินชีวิตในรัฐนี้ 

           อย่างไรก็ตามความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของดูไบเติบโตจากการก่อหนี้มากเกินตัวของกลุ่มทุนเสาหลัก โดยเฉพาะดูไบ เวิลด์ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ในรัฐที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ของยุคบูมทางเศรษฐกิจ 

           ดูไบ เวิลด์ มีหนี้สินที่แบกรับภาระอยู่ทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านดอลลาร์ นับถึงวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างแหล่งข่าววงการธนาคารในดูไบระบุว่า ในจำนวนนั้นราว 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นหนี้ที่เกิดจากบริษัทในเครือ อาทิ ดีบี เวิลด์ ซึ่งมีศักยภาพทางการเงินมากเพียงพอที่จะชำระเงินกู้ของตัวเองได้ แต่อีก 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ที่เหลือ เป็นหนี้ที่น่าวิตกกังวลมากกว่า

           กลุ่มทุนดูไบ เวิลด์ ขยายอาณาจักรและมีการเติบโตรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ก่อหนี้มากเกินไป เห็นได้จากก่อหนี้เพื่อมาสนับสนุนโครงการยักษ์ที่หลายฝ่ายคลางแคลงใจต่อฐานะทางการเงิน อาทิ โครงการก่อสร้างตึกระฟ้า 810 เมตร "เบอร์จ ดูไบ" ซึ่งเป็นตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลก จนถึงโครงการก่อสร้างก่อตามแนวชายฝั่ง เพื่อเป็นที่ตั้งของวิลล่าหรูหราที่มีความยาวนับเป็นไมล์ ๆ 

ในปัจุบันได้เปลี่ยนชื่อตึกมาเป็น “เบิร์จ คาลิฟา” (Burj Khalifa) หรือชื่อเต็มๆว่า “ชีค คาลิฟาร์ บิน ซาย์เอ็ด อัล-นาห์ยัน ทาวเวอร์” ซึ่งตั้งชื่อตามประธานาธิบดีของ UAEเพื่อเป็นการให้เกียรติในฐานะผู้นำประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และผู้นำของนครรัฐอาบู ดาบี

           วอลล์สตรีต เจอร์นัล ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน รายงานอ้างมุมมองของบริษัทคอลลิเยส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในปี 2552 จะมีการยกเลิกหรือเลื่อนโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายร้อยโครงการ แต่คาดว่าการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ จะทำให้อุปทานของพื้นที่สำนักงานในดูไบเพิ่มเป็น 2 เท่า ภายในปี 2554 

           จากการศึกษาของบริษัทนี้ยังพบว่า อัตราการเข้าถือครองพื้นที่สำนักงานในอาคารที่สร้างเสร็จอยู่ที่ระดับแค่ 41% เท่านั้น ขณะที่นับถึงสิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมาราคาพื้นที่สำนักงานดิ่งลงราว 58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

           นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาคมที่ปรึกษาและวิศวกรรมซึ่งเป็นสมาคมตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างอังกฤษเปิดเผยว่า บริษัทต่าง ๆ ในดูไบเป็นหนี้บริษัทรับเหมา เฉพาะจากอังกฤษประเทศเดียวรวม 200 ล้านปอนด์ 

           กุญแจสำคัญที่มีผลต่ออนาคตของดูไบขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างดูไบและรัฐอาบูดาบี ซึ่งปกครองโดยราชวงศ์นาฮายัน พระญาติของชีค มัคตูม ผู้ครองรัฐดูไบ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจตะวันออกกลางต่างเชื่อมั่นว่า ในที่สุดแล้ว อาบูดาบีซึ่งมีความมั่งคั่งทางการเงินมากกว่า เนื่องจากครอบครองแหล่งน้ำมัน 1 ใน 10 ของโลก ทั้งยังเป็นเจ้าของกองทุนเพื่อความมั่งคั่งที่มีเงินทุนในมือกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์ จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ให้กับดูไบ 

           ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐสองรัฐมีหลายสิ่งหลายอย่างเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง หากดูไบล้มละลาย อาบูดาบีเองย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบไปได้
           ที่น่าสนใจ คือ บทเรียนของดูไบ เวิลด์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่กลับเป็นภาพสะท้อนบทเรียนของชาติอาหรับ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาหรับ 6 ชาติที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นต่อกันอย่างมาก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน กาตาร์ คูเวต และโอมาน ซึ่งรวมกลุ่มกันในชื่อกลุ่มความร่วมมือประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย (GCC)
           วิกฤตปัญหาทางการเงินเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่ม GCC มาระยะหนึ่ง เว็บไซต์อาหรับ นิวส์ เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า เชื่อกันว่าอาบูดาบีเคยอนุมัติเงินกู้เพิ่มเติมให้แก่ซาอุดีอาระเบีย ในปี 2541 เพื่อช่วยให้ประเทศนี้รอดพ้นจากวิกฤตสภาพคล่อง และเมื่อ ปีที่แล้วในช่วงที่ธนาคารกลัฟ อินเตอร์เนชั่นแนล แบงก์ ซึ่งถือหุ้นร่วมโดย 6 ชาติสมาชิก กลุ่มจีซีซีมีปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากมีความเสี่ยงผูกพันกับหนี้มีปัญหาจำนวนหนึ่ง ก็มีรายงานว่า รัฐบาลซาอุฯได้เข้าซื้อหุ้นเกือบทั้งหมดของธนาคารรายนี้ มาถือครองไว้อย่างเงียบ ๆ 

           อีกกรณีหนึ่ง คือ เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลอาหรับเหล่านี้ได้เข้าแทรกแซงตลาดการเงินหลายครั้ง โดยเฉพาะในกาตาร์และคูเวต ให้รอดพ้นจากผลกระทบของวิกฤตการเงินโลก แต่ในบางกรณี อาทิ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของกลุ่มซาอัด กรุ๊ป พบว่ารัฐบาลไม่มีแนวโน้มจะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
           กระนั้นอาหรับ นิวส์ ยังรายงานอ้างความเห็นนักวิเคราะห์รายหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มจีซีซีอาจดำเนินมาตรการเพื่อโอบอุ้มกิจการในกรณีของดูไบ เวิลด์ 

           ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่มีรายงานว่า ทั้งอาบูดาบีและประเทศอื่น ๆ แถบอ่าวเปอร์เซียต่างหาทางที่จะจำกัดผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ และได้แต่คาดหวังว่านักลงทุนจะไม่เข้าใจสับสนระหว่างปัญหาของดูไบและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มจีซีซี ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งกว่า จนกว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะหาทางแก้ไขวิกฤต ดูไบ เวิลด์ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ 

           อีกพัฒนาการหนึ่งที่น่าจับตามอง คือ ปฏิกิริยาของตลาดการเงินโลก ที่ตอบสนองแบบทันทีทันใด ต่อข่าววิกฤตดูไบ เวิลด์ และความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นตามมา 

           ทิเซียนา โบนาพาเช่ หัวหน้าหน่วยงานวิเคราะห์และนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายและการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤตดูไบว่า ณ ขณะนี้คิดว่าเป็นปัญหาเล็กและสามารถควบคุมได้ 

           "แต่ปัญหาดูไบทำให้เราตระหนักว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบางอยู่ และเป็นบทเรียนแก่ประเทศที่เร่งขยายเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการสร้างหนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะต้องชดใช้หนี้ดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ" โบนาพาเช่กล่าว 

           สอดคล้องกับรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีที่ว่า ปัญหาหนี้ในลักษณะที่ดูไบ กำลังเผชิญอยู่นั้น เป็นภัยคุกคามใหม่ต่อฐานะการเงินของประเทศร่ำรวยที่มีการกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย เพื่อนำพาเศรษฐกิจของประเทศ ให้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

           เอเอฟพีได้อ้างคำเตือนขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่ว่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชั้นนำ 30 ชาติของโลกจะเผชิญปัญหาหนี่พุ่งขึ้นเกิน 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายในปี 2553 มากเกือบเป็น 2 เท่าของเมื่อ 20 ปีก่อน
ในจำนวนนั้นหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นคาดว่าจะพุ่งขึ้นถึงระดับ 200% ต่อจีดีพีในปีหน้า ขณะที่ตัวเลขประมาณการหนี้สาธารณะของอิตาลีและกรีซอาจพอกพูนขึ้นเป็น 127% และ 118% ตามลำดับ 

           ไม่เพียงแค่นี้ ปฏิกิริยาในตลาดพันธบัตรรัฐบาลซึ่งพบว่าต้นทุนในการประกันการผิดนัดชำระหนี้ของหลายประเทศได้พุ่งทะยานขึ้นอย่างผิดตา ในจำนวนนั้นรวมถึงฮังการี ตุรกี บัลแกเรีย บราซิล เม็กซิโก และรัสเซีย อันเป็นผลมาจากกระแสวิตกกังวลว่า ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจมีปัญหาในการชำระหนี้ได้ตามกำหนด แม้ว่าเศรษฐกิจในขณะนี้จะฟื้นตัวแล้วก็ตาม

ที่มา:http://www.nidambe11.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น