ads head

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ฟองสบู่น้ำมันแตกแล้ว?


    ฟองสบู่น้ำมันแตกแล้ว?


    สมสกุล เผ่าจินดามุข


    กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : 6 เดือนก่อน หากไปถามคนทั้งในวงการและนอกวงการคงไม่มีใครเชื่อว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูงสุด 44 บาทกว่า เมื่อ 7 กรกฎาคม 2551 จะหล่นมาเหลือ 19 บาทกว่าเช่นเดียวกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 และเบนซินธรรมดาที่ปรับลดลงมาเกินครึ่งหนึ่ง จากราคาสูงสุดเมื่อกลางปี

    มันน่าฉงน หากย้อนพิจารณาราคาน้ำมันที่ต้องใช้เวลา 3 ปีถึงปรับเพิ่มขึ้นมา 1 เท่าตัว แต่ใช้เวลาเพียง 6 เดือนลดลงอยู่ระดับเดียวกับ 3 ปีที่แล้ว

    ไม่นานมานี้ นักวิจัยจากสวิตเซอร์แลนด์ และจีน ศึกษาการปรับตัวของราคาน้ำมันโดยดูเทียบกับอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลกย้อนหลังไป 4 ปี ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า "พวกเรากำลังอยู่ในช่วงฟองสบู่น้ำมัน"

 
ภาพจาก: http://www.goldhips.com

    ทำไมนะหรือครับ ก็เพราะกราฟแสดงการปรับตัวของราคาน้ำมันฟ้องชัดว่า ราคาน้ำมันพุ่งเร็วกว่าระดับเอ็กซ์โพเนนเชียล พูดอีกอย่าง ก็คือ ราคาน้ำมันช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุปสงค์/อุปทานเลย แต่เป็นเพราะการเก็งกำไรมากกว่า

    เอฟ. วิลเลียม อิงดาลห์ จากโกลบอล รีเสิร์ช เจ้าของงานเขียนเรื่อง Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order (PlutoPress), and Seeds of Destruction: The Hidden Agenda of Genetic Manipulation ได้เสนองานวิเคราะห์บนเวบไซต์โกลบอล รีเสิร์ช เรื่อง "เป็นไปได้ที่ 60% ของราคาน้ำมันทุกวันนี้เกิดจากการเก็งกำไร" โดยเชื่อว่าราคาน้ำมันปัจจุบันไม่ได้มาจากความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน แต่ถูกควบคุมจากระบบตลาดเงินที่ละเอียดอ่อน และถูกคุมจากบริษัทน้ำมันอังกฤษและสหรัฐรายใหญ่ 4 ราย

"อย่างน้อย 60% ของราคาน้ำมันที่ระดับ 128 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ล้วนมาจากแรงการเก็งกำไรของเฮดจ์ฟันด์ กลุ่มการเงินและนักค้าของธนาคารรายใหญ่ และจากการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าอย่างไม่ถูกต้องตามกฎข้อบังคับ ในตลาดลอนดอน ไอซีอี ฟิวเจอร์ส กับตลาดล่วงหน้าไนเมกซ์ รวมถึงการเทรดผ่านอินเตอร์แบงก์กับหน้าเคาน์เตอร์ หรือโอทีซี เพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ" อิงดาลห์อธิบาย

    ข้อมูลที่พวกเขานำมาวิเคราะห์นอกจากราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ยังนำอัตราแลกเปลี่ยนสกุลดอลลาร์ ยูโร และสกุลหลักอื่นมาประกอบการวิเคราะห์ด้วย เพื่อยืนยันว่า ราคาที่ปรับขึ้นรวดเร็วไม่เกี่ยวกับการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์ และยังพอตรวจสอบอุปสงค์และอุปทานน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันในประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างจีนและอินเดีย

    ทั้งนี้เอกสารของ ดร.เคน โคยามา ผู้อำนวยการและสมาชิกคณะกรรมการ หน่วยวิจัยอุตสาหกรรมและการวางแผน จากสถาบันเศรษฐกิจการพลังงานของญี่ปุ่น หรือ ไออีอีเจ หนึ่งในผู้ร่วมงานสัมมนาของธนาคารโลก ซึ่งให้ข้อมูลเรื่อง "ราคาน้ำมันกับตลาดน้ำมันทั่วโลก" วิเคราะห์ที่มาและผลกระทบของการไหลเวียนของเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันว่า นอกเหนือจากผู้ซื้อและผู้ขายในอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีผู้เล่นรายใหญ่จากตลาดเงินแยกเป็น 3 กลุ่มดังนี้

    กลุ่มแรกกองทุนบำเหน็จบำนาญ (เพนชั่นฟันด์) มีเงินลงทุนในตลาด 16-17 ล้านล้านดอลลาร์ กลุ่มสองกองทุนรัฐมีเงินลงทุน 2-3 ล้านล้านดอลลาร์ และสุดท้ายเฮดจ์ฟันด์มีเงินลงทุนกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งผู้เล่นรายใหญ่ทั้ง 3 รายต่างมีแผนการลงทุนแตกต่างกัน แต่ทั้ง 3 กลุ่มมีจุดประสงค์เดียวกันคือโยกเงินจากตลาดหุ้น ตราสารหนี้และตลาดเงิน ที่หนีปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ปล่อยกู้ลูกค้ามีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ไปหาผลตอบแทนจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันมากขึ้น
    จากแบบจำลองที่ต่างกัน 3 บริบท ได้ข้อสรุปอย่างเดียว คือ "ฟองสบู่" เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าราคาอนาคตจะสูงขึ้น เลยกระพือให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยไม่มีเหตุผลด้านพื้นฐานรองรับ

    จุดสังเกตที่สำคัญ คือ ปี 2547 และ 2548 อุปสงค์และอุปทานน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้นเหมือนกันหมด พอมาต้นปี 2549 อุปทานเริ่มตกลง อีก 2-3 เดือนต่อมาอุปสงค์ลดลงตาม และหลังจากนั้น 6 เดือน ราคาน้ำมันถึงเริ่มลดลง

    ช่วงระหว่างกลางปี 2549 ถึงต้นปี 2550 อุปสงค์กับอุปทานเริ่มผันผวน จากนั้นอุปสงค์ อุปทาน และราคาน้ำมันทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องทำสถิติสูงสุดรอบใหม่สุดเป็นประวัติการณ์

    ด้าน ศจ.โรเบิร์ต ไวเนอร์ นักวิชาการจาก จอร์จ วอชิงตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศสหรัฐ เห็นสอดคล้องกับ ดร.โคยามาว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาราคาน้ำมันผันผวนมาก ราคาน้ำมันดิบกระโดดจาก 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลช่วงปลายทศวรรษหลังปี 2533 มาอยู่ที่กว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้

    ทั้งนี้ ศจ.ไวเนอร์ให้ความเห็นในข้อสงสัยกองทุนรัฐมีส่วนเก็งกำไร ดันราคาน้ำมันสูงขึ้นว่า เป็นเรื่องยากในการจับตาติดตามดูปฏิกิริยาของกลุ่มเก็งกำไร และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์ได้ ในเรื่องการเทรดของกลุ่มเก็งกำไรซึ่งเป็นกลุ่มไม่เกี่ยวข้องการค้ากับการพาณิชย์ และจากสถิติการเทรดของกลุ่มผู้จัดการกองทุนในตลาดน้ำมันตอนนี้ยังไม่มาก และอยู่ระดับปานกลาง หมายความว่ากิจกรรมกลุ่มเก็งกำไรเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งการซื้อและขาย 

    ครั้นลองเอาอุปทานและอุปสงค์ล่าสุด (ก.ค.) มาเทียบกัน ก็มาเจอว่าอุปทานสูงเกินกว่าอุปสงค์ถึงครึ่งล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ราคาดันทะลึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมา ดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ส่งผลต่อราคาน้ำมันน้อยมาก นักวิจัยเลยตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างมาก น่าจะมาจากที่อื่นที่ไม่ใช่อุปสงค์/อุปทาน

    และได้คำตอบสุดท้าย ว่า เป็นเรื่องของการเก็งกำไร เป็นเพราะการบริโภคข่าวลือหนาหูว่าน้ำมันใกล้หมดโลกทำให้ราคาสูงขึ้น

    ส่วนปัจจัยหนุนอื่น อาจเป็นเพราะนักลงทุนกำลังมองหาผลตอบแทนรายได้สูงสุดจากการลงทุนหลังจากฟองสบู่เศรษฐกิจสหรัฐ แตกไปแล้ว 3 ฟอง (ฟองสบู่อินเทอร์เน็ตปี 2540 ฟองสบู่อสังหาฯ ปี 2549 และปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพปี 2550)

    บางส่วนหันมาเก็งกำไรหลังรัฐบาลสหรัฐยกเลิกกฎระเบียบการค้าน้ำมันล่วงหน้าเมื่อต้นปี 2549 ซึ่งตอนนั้นทำให้เกิดความผันผวนขึ้นช่วงสั้นๆ สุดท้าย นักลงทุนอาจวิตกว่า ค่าเงินดอลลาร์อ่อนอาจกระตุ้นให้คนหันไปทำประกันความเสี่ยงเผื่อราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นในอนาคต

    ตอนนี้อาจพูดไม่ได้เต็มปากว่า ฟองสบู่น้ำมันแตกแล้ว แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 6 เดือน พอให้ข้อสรุปบางอย่างได้บ้าง

ที่มา:http://www.bangkokbiznews.com
       http://www.nidambe11.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น