ads head

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความล่มสลายของระบบทุนนิยมโลก ? ตอนจบ


ความล่มสลายของระบบทุนนิยมโลก ? ตอนจบ (ตีพิมพ์ใน “มติชนสุดสัปดาห์”)

December 26, 2008

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
ภาพจาก : http://talk.mthai.com 
 
      ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิกฤตในปัจจุบันส่งผลกระทบน้อยกว่าในอดีต คือ ข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งละเอียดยิบ ในอดีตเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา ผู้คนจะตื่นกลัวมาก เศรษฐีมีเงินย่อมไม่อาจแยกแยะถึงบริษัทที่กระทบหรือไม่กระทบ กระทบมากหรือกระทบน้อย ทุกคนต่างเหมารวมว่า แต่ละบริษัทเลวร้ายเหมือนกันหมด ยิ่งไม่ต้องพูดถึง การพิจารณาว่าบริษัทที่มีปัญหานั้น สามารถแยกส่วนสินทรัพย์ที่ดีมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง หรือกว่าจะรู้ว่าอะไรดีไม่ดี ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นมากมายแล้ว แต่ในปัจจุบันนั้น จอมคนอย่าง Warren Buffet สามารถแยกแยะได้ว่า Goldman Sachs ซึ่งแม้จะประสบปัญหาลุกลามตามวาณิชธนกิจรายอื่นไปด้วย แต่บริษัทนี้มีความโดดเด่นแตกต่างจากบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ที่สำคัญ บริษัทนี้ยังมีทีมงานและบุคลากรที่สุดยอดมากมาย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการนำเงินเข้ามาซื้อกิจการ จากการกระทำนี้ จึงเห็นได้ว่า กลไกการคัดเลือกคนเก่งและสินทรัพย์ดี ทำได้อย่างรวดเร็วฉับไว ความสูญเสียจึงจำกัดขนาดลง ที่สำคัญ Goldman Sachs ถ้าหากได้อัจฉริยะบุรุษอย่าง Buffett มาช่วยชี้แนะการบริหารและการลงทุน การเกิดใหม่อีกครั้งของ Goldman Sachs ย่อมเด่นล้ำแข็งแกร่งกว่าเดิม ที่สำคัญ ขณะที่วาณิชธนกิจอื่นย่ำแย่ จึงเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤตของ Goldman Sachs ที่จะหาประโยชน์ แน่นอนว่า วิกฤตครั้งนี้ย่อมทำให้ภาวะตลาดซบเซา แต่คู่แข่งที่อ่อนแอและลดน้อยลงน่าจะช่วยชดเชยสิ่งที่สูญเสียไปได้บ้าง

      เราจะเห็นได้ว่า วิกฤตแต่ละครั้ง ได้เผยให้โลกเห็นว่า มนุษย์คนใดมีความสามารถ มนุษย์คนใดด้อยความประสิทธิภาพ ผู้ บริหารระดับสูงของหลายธุรกิจนั้น ส่วนหนึ่งอาศัยการศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นสูง อาศัยลีลาภาษาและสมการคณิตศาสตร์ที่สลับซับซ้อนในการสร้างชื่อเสียงและความ มั่งคั่งให้ตนเอง เพราะในภาวะปกติและฟองสบู่เฟื่องฟู ไม่จำเป็นต้องอาศัยความสามารถมากมายในการสร้างผลกำไรให้บริษัท แต่ในที่สุด เมื่อวิกฤตอุบัติขึ้น จึงได้รู้ว่าภายใต้มนต์มายาของคำกล่าวสวยหรูนั้น สิ่งใดเป็นของจริง แน่นอนว่า คนเก่งชั้นเลิศบางคน อาจผิดพลาดใหลหลงไปบ้าง เพราะความเก่งนั้นยังไม่ถึงขั้นอัจฉริยะ แม้จะคาดการณ์และเตรียมป้องกันวิกฤตไว้แล้ว แต่ความเสียหายมากกว่าที่คิด จึงต้องล่มจมตามคนเก่งธรรมดาและคนเก่งจอมปลอมไปด้วย

      แต่โลกของเรายังมีคนเก่งระดับอัจฉริยะซึ่งรอดพ้นปลอดภัยจากวิกฤตและผลกระทบ คนเหล่านี้เองที่มองเห็นและแยกความแตกต่างระหว่างคนเก่งชั้นเลิศกับคนเก่ง จอมปลอม สินทรัพย์ชั้นดีกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ พวกเขาจะเริ่มคัดเลือกคนเก่งชั้นเลิศเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ระบบใหม่ ดังนั้น ทุกคนควรจับตาดูว่า Buffett คาดการณ์ถูกต้องหรือไม่ที่เขามาโอบอุ้ม Goldman Sachs และ ควรติดตามต่อไปอีกว่า Buffett จะร่วมคัดเลือกให้ใครบริหารงาน และจะปลดคนที่ดูเหมือนเก่งแต่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความเก่งคนใดออกไปบ้าง

      กลไกคัดเลือกคนเก่งชั้นเลิศและสินทรัพย์ชั้นดีนี้เอง ที่ช่วยทำให้วิกฤตคลายความรุนแรงลง เพราะคนเก่งอัจฉริยะและคนเก่งชั้นเลิศนั้นจะร่วมกันใช้ความสามารถของตนพลิก ฟื้นวิกฤตของบริษัทขึ้นมา ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจติดตามมา แม้จะมีบริษัทจำนวนมากล่มสลายลง แต่บริษัทที่เหลือซึ่งมีคนเก่งชั้นเลิศรวมตัวกันจะเข้าครอบครองตลาดอันกว้าง ใหญ่ซึ่งบริษัทที่ล่มสลายได้ทิ้งมรดกไว้ ดังนั้น คุณภาพของสินค้าและบริการในช่วงนี้ จะมีคุณค่าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะผู้ด้อยประสิทธิภาพได้ถูกกำจัดไปแล้ว ยิ่งในยุคปัจจุบันที่การประกาศล้มละลาย การขายสินทรัพย์ และการเข้าซื้อกิจการเป็นไปอย่างรวดเร็ว โอกาสที่คนเก่งชั้นเลิศจะได้เข้ามาบริหารตลาดอันกว้างใหญ่และไร้คู่แข่งนี้ จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณภาพของบริษัทและเศรษฐกิจจึงสามารถได้รับการพัฒนาฟื้นฟูอย่างรวดเร็วทัน ท่วงที

      ที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องการชี้ให้เห็นว่า สรรพสิ่งในโลกนี้มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การใช้มุมมองเดิมมาวิเคราะห์สถานการณ์แบบเดิมซึ่งมีบริบทแตกต่างออกไป ย่อมอาจทำให้ผลการวิเคราะห์มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนกว่าที่ควรจะเป็นได้ มากมายนัก ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์มีความเข้าใจในระบบทุนนิยมไม่มากนัก จึงไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้องทันท่วงที แต่ในปัจจุบันนั้นบริบททั้งหลายได้เปลี่ยนแปลงไป มนุษย์มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับระบบทุนนิยมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในช่วงหลายสิบปีนี้ได้เกิดการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารหรือคลื่นลูกที่ 3 ขึ้นมา จึงทำให้การรับรู้ปัญหามีความลึกซึ้งครอบคลุมขึ้น ช่วยให้การตัดสินใจแยกแยะสินทรัพย์ทีดีออกจากสินทรัพย์ที่ไม่ดีทำได้ง่าย ขึ้น

      เช่นเดียวกัน การติดต่อสื่อสารที่ฉับไว ทำให้เกิดความร่วมมือกันของประเทศต่างๆทั่วโลก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถใช้ข้อมูลที่ชัดเจนรวดเร็วนี้บริหารจัดการแก้ไข วิกฤตได้อย่างทันท่วงที โดยมีความผิดพลาดที่ต่ำกว่าในอดีต เพราะคุณภาพของข้อมูลที่แม่นยำกว่า ยิ่งกว่านั้น ภาครัฐและเอกชนในทุกประเทศต่างร่วมมือกันอย่างเต็มที่ทั้งโดยตั้งใจและไม่ ตั้งใจ การเข้าซื้อกิจการของนักธุรกิจจากในและนอกประเทศ ล้วนได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าของกิจการและรัฐบาล ขณะที่ผู้มาซื้อกิจการย่อมสามารถตรวจสอบข้อมูลของบริษัทได้มากกว่าในอดีต จึงกล้าเข้ามาซื้อกิจการอย่างรวดเร็ว

      บริบททั้งหลายที่ช่วยเสริมส่งกันนี้ ย่อมทำให้วิกฤตที่เกิดขึ้นมีขนาดและความรุนแรงลดลง และเศรษฐกิจอาจกลับดีขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่ หากใครยังคงมุมมองการวิเคราะห์แบบเดิมไว้ ย่อมพลาดโอกาสที่ดีในการแสวงหาประโยชน์จากวิกฤต ซึ่งสินทรัพย์ทั้งหลายมีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง และด้วยความรวดเร็วในการเข้าซื้อสินทรัพย์เช่นนี้เอง ทำให้วิกฤตยิ่งฟื้นตัวเร็วกว่าปกติ เพราะคนที่คิดว่าจะรอให้สินทรัพย์ราคาถูกลงกว่าเดิม ย่อมต้องเพิ่มความเร็วในการเข้าซื้อ เพราะอาจถูกคนอื่นชิงตัดหน้าไปก่อน

      บางคนอาจคิดว่า ภาวะล่มสลายของสถาบันการเงินระดับโลก ย่อมทำให้เม็ดเงินในการซื้อสินทรัพย์มีจำนวนไม่มากเพียงพอที่จะกอบกู้วิกฤต ได้ แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ความมั่งคั่งของโลกแม้ว่าจะมีค่าลดลงจากในช่วงฟองสบู่ แต่ย่อมมีมูลค่ามากกว่าเมื่อก่อนเกิดภาวะเฟื่องฟูของฟองสบู่ ยังไม่นับว่า สินทรัพย์ที่ถูกนำมาขายในภาวะแบบนี้นั้น มีราคาถูกกว่าความเป็นจริงในภาวะปกติ ที่สำคัญ ไม่จำเป็นเลยที่สินทรัพย์ทุกชนิดจะต้องได้รับการซื้อไป ขอเพียงสินทรัพย์ที่ดีในแต่ละธุรกิจได้รับการซื้อไป เพื่อนำมาปรับปรุงและดำเนินกิจการต่อไป ด้วยประโยชน์จากตลาดที่คู่แข่งลดลงและอ่อนแอ ผนวกกับความสามารถของผู้บริหารซึ่งได้รับการคัดเลือกมาแล้วว่าแข็งแกร่งแม้ ในภาวะวิกฤต ทั้งหมดย่อมช่วยให้สินทรัพย์ชั้นดีนั้นเติบโตขยายงานอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดสามารถกลับมาชดเชยความมั่งคั่งที่ถูกทำลายไปในช่วงฟองสบู่แตกได้ สำเร็จอย่างรวดเร็ว

      ยังไม่นับว่า ทุกรอบวิกฤตได้เกิดการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ขึ้น มา และจนถึงทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจโลกได้มีความหลากหลายของธุรกิจอย่างมากมาย ภาวะวิกฤตของระบบการเงินโลก ย่อมส่งผลต่อภาคธุรกิจไปทั่วโลก แต่หลายธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน และบางธุรกิจกลับสามารถแสวงหาประโยชน์จากวิกฤตอีกด้วย โดยเฉพาะการ เชื่อมโยงของธุรกิจทั่วโลก ซึ่งในมุมหนึ่งย่อมทำให้วิกฤตลามออกไปเป็นวงกว้าง แต่ในอีกมุมหนึ่งธุรกิจที่เข้มแข็ง สามารถเข้ามาทดแทนและซื้อกิจการจากบริษัทที่ย่ำแย่ได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ภาวะวิกฤตบรรเทาลง ขณะที่ธุรกิจชั้นเลิศนั้นยังอาจผลิตความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากการซื้อกิจการ และนำมาปรับปรุงต่อยอดผสานพลังกับธุรกิจเดิมของตน จึงยิ่งลดทอนความรุนแรงของวิกฤตลงอีกชั้นหนึ่ง ที่สำคัญ ระบบป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลาย ได้ทำให้ธุรกิจจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบไม่มากนักจากวิกฤติที่เกิดขึ้น
บริบท ที่กล่าวไปทั้งหมด ซึ่งเกิดจากการพัฒนาความซับซ้อนลุ่มลึกของธุรกิจและอารยธรรมมนุษย์ โดยเฉพาะการปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร อาจทำให้วิกฤตมีความรุนแรงน้อยกว่าที่คิดและจบสิ้นเร็วกว่าที่คาดได้
      ข่าวร้ายสำหรับผู้สาปแช่งระบบทุนนิยม คือ ระบบนี้มีการปรับตัวและแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน แม้จะเผชิญวิกฤตอันหนักหน่วงอย่างในวันนี้ แต่ข่าวดี คือ ระบบทุนนิยมแบบดั้งเดิมตามตำรานั้นได้ล่มสลายไปนานแล้ว เพราะระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันได้มีพลวัตไปไกลกว่าทุนนิยมในอดีตมากมายนัก โดยเฉพาะบทบาทของภาครัฐที่เข้ามาแทรกแซงด้านสวัสดิการสังคมอย่างขนานใหญ่ การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางที่มีความรู้ ซึ่งบางครั้งมีบทบาทในองค์กรมากกว่าเจ้าของทุน การเกิดขึ้นของแนวคิดธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เกิดจากความเมตตาปราณีของนายทุนหรือผู้บริหารที่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งบังเอิญรู้สึกสงสารคนยากจน แต่เกิดจากปฏิสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของผู้เล่นแต่ละรายในโลกของเรา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ผลประโยชน์ของชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจขัดกับชนชั้นสูงอีกกลุ่มหนึ่ง ได้สร้างประโยชน์ให้กับคนยากจน รวมถึงขนาดของบริษัทและตลาดที่กว้างใหญ่ขึ้น ทำให้การสร้างธรรมาภิบาล ความน่าเชื่อถือใน Brand หรือแม้กระทั่ง CSR ได้ให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อบริษัทมากกว่ารูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมที่อาจเน้น แต่ผลกำไรระยะสั้นเพียงอย่างเดียว

      แน่นอนว่า การกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบยังคงดำรงอยู่ แต่มันได้แปลงรูปเปลี่ยนร่างไปจากเดิมมากมาย บางทีเราอาจต้องมีชื่อเรียกใหม่ให้กับระบบใหม่นี้ และก็ต้องมีคนที่มาตามสาปแช่งระบบใหม่ขึ้นอีก ที่สำคัญ คือ การกดขี่ขูดรีดไม่ได้สถิตย์อยู่ในระบบทุนนิยมเท่านั้น ระบบทั้งหลายในอดีตต่างได้ขูดรีดกดขี่ชนชั้นล่างมาอย่างยาวนาน บางทีอาจจะยิ่งกว่าทุนนิยมด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เรามองเห็นได้ชัดเจนในวันนี้ คือ ชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของมนุษย์มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างเทียบ ไม่ติด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงอิสระเสรีภาพในดำรงชีวิต เสพรับความสุข และการเดินทางไปยังที่ต่างๆทั่วโลก

      ระบบทาสในเรือนเบี้ย ไพร่ติดที่ดิน หรือแม้แต่กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องทำงานอย่างยาวนานนับ 10 ชั่วโมงได้ผ่านพ้นไปหมดสิ้นแล้ว แน่นอนว่า การทำงานของคนระดับล่าง ยังคงน่าเบื่อและหนักหน่วง แต่ระบบในปัจจุบันยังเปิดโอกาสให้ชีวิตได้เสพสุขจากคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เดิม ทั้งการลิ้มรสอาหารชั้นดีนอกบ้าน การชมภาพยนตร์ที่มีระบบเสียงยอดเยี่ยม รวมถึงการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อสนทนารื่นรมย์กับเพื่อนฝูง คนรัก และพ่อแม่ ทั้งหมดอาจถูกโจมตีว่าเป็นเพียงการเสพสุขขั้นต่ำ แต่ใครจะเถียงได้บ้างว่า ความสุขเหล่านี้ ในอดีตชนชั้นล่างไม่เคยมีโอกาสได้ลิ้มรสเลย ไม่เคยมีระบบอื่นใดในอดีตที่ให้ประชาชนคนชั้นล่างได้มากเท่านี้ ระบบทุนนิยมที่หลายคนประณามนี้เองที่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา แน่นอนว่าคงไม่ใช่ความใจดีของใครคนหนึ่ง แต่เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนซึ่งยาวเกินกว่าบทความชิ้นนี้จะ วิเคราะห์ให้เห็น

      ข่าวร้ายยิ่งกว่าสำหรับทั้งผู้ที่ชื่นชอบและผู้ที่คัดค้านระบบทุนนิยมซึ่ง ได้กลายรูปไปจนจำไม่ได้แล้ว คือ ความล่มสลายที่จะนำมาสู่อารยธรรมมนุษย์ทั้งมวล ไม่ใช่เพียงแต่ระบบทุนนิยมเท่านั้น นั่นคือ วิกฤตสิ่งแวดงล้อมที่ทรุดโทรมลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นผลมาจากระบบทุนนิยม
อีกตัวแปรหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความล่มสลายของระบบทุนนิยม คือ สงคราม ซึ่งหากเกิดขึ้นอีกครั้ง โลกของเราอาจล่มสลายได้ เพราะเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างกว่าเดิม

      แต่ข่าวร้ายที่สุดคือ หากอารยธรรมและทุนนิยมไม่ได้ล่มสลายลงอย่างที่คิด แต่กลับเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าเดิมภายหลังวิกฤต เหมือนที่เคยเกิดมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว จะต้องมีผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก ที่ไม่อาจอยู่รอดได้ในระบบที่มั่งคั่งขึ้นนี้ โดยอาจถูกทำร้ายจากวิกฤตในระบบแต่ละครั้ง หรืออาจพ่ายแพ้ในการแข่งขันทั้งในยามปรกติและในยามฟองสบู่เฟื่องฟู ความจริงแล้วถ้าโลกล่มสลายลงเสียเลย ทุกคนคงเลวร้ายเท่ากันหมด ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน แต่กลายเป็นว่า ในระบบทุนนิยมที่พัฒนาตัวเองตลอดเวลานี้ คนจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้แพ้ และนี่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์ตลอดมา คำทำนายอันเลวร้ายของนักคิดทั้งหลายไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ชะตาชีวิตอันเลวร้ายของผู้แพ้กลับเกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะยาวไกลไปถึงอนาคตกาล
แม้กระนั้น ผู้พ่ายแพ้ในแต่ละรอบของวิกฤตและความเฟื่องฟูนั้น จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าผู้พ่ายแพ้ในรอบก่อนหน้าเสมอ ตามการยกระดับของอารยธรรมตลอดเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา แน่นอนว่า ส่วนแบ่งที่ได้รับย่อมไม่น่าอภิรมย์นัก แต่ก็ยังดีกว่าความอดอยากล้มตายของผู้แพ้ในอดีตหลายพันปีที่ผ่านมา
      ข่าวดีที่สุด คือ ผู้ชนะในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะต้องชนะตลอดไป โดยมีวิกฤตซับไพร์มเป็นตัวอย่างสอนใจที่ดีที่สุด สถาบันการเงินอายุยืนยาวนับร้อยปี และดูเหมือนยิ่งรุ่งโรจน์เรืองรองกว่าเดิมในช่วงฟองสบู่ซับไพร์ม ยังกลับพลิกผันล่มสลายลงในชั่วพริบตาได้ แต่ตราบใดที่อารยธรรมมนุษย์ยังคงยกระดับความมั่งคั่งและคุณภาพขึ้นตลอดเวลา (แม้จะมีช่วงตกต่ำเป็นระยะ) ทุกคนย่อมมีโอกาสที่จะรุ่งเรืองมั่งคั่งขึ้นมาบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับความสำเร็จ โอกาสยิ่งใหญ่เช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้แต่เฉพาะผู้ที่สั่งสมความสามารถ ความรู้ และทีมงานคนเก่งมาอย่างดี ซึ่งย่อมสามารถแสวงหาโอกาสในทุกรอบวิกฤต เพื่อจะกลายเป็นผู้บุกเบิกยุคใหม่ที่ดีกว่าเดิม



ความล่มสลายของระบบทุนนิยมโลก ? ตอนจบ (ตีพิมพ์ใน “มติชนสุดสัปดาห์”) | Siam Intelligence Unit

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น