วิกฤตอิตาลี
ปัญหาวิกฤตในยุโรปได้เริ่มลุกลามไปยังประเทศอิตาลี สร้างความผันผวนให้กับตลาดหลักทรัพย์ของทุกประเทศ ยกระดับความกังวลใจของทุกคนกับปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐในยุโรปเพิ่มขึ้น ถ้ายังจำกันได้ หลายคนมุ่งหวังว่า วิกฤตภาคการคลังในสหภาพยุโรป น่าจะจบลงที่สเปน และสเปนจะเป็นสงครามด่านสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามไปมากกว่า นี้ แต่ล่าสุดดูเหมือนกับว่า ความมุ่งหวังดังกล่าวจะเริ่มเป็นหมัน เพราะนอกจากนักลงทุนจะเริ่มจับจ้องไปที่อิตาลีเพิ่มเติมแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว เช่น กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ก็วนกลับมาเป็นปัญหาให้แก้อีกรอบ
เกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ๆ ปัญหาจึงลุกลามขึ้น
ความจริง อิตาลีก็เป็นประเทศที่หลายๆ คน จับตามองอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากมีหนี้ภาครัฐสูงถึง 120% ของขนาดของประเทศ นับว่าเป็นประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูงเป็นอันดับสองรองจากกรีซ ซึ่งการที่มีหนี้สูงขนาดนี้ หมายความว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น อิตาลีก็จะมีปัญหาในการจ่ายหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ รวมทั้งเกิดปัญหาสภาพคล่องได้ง่าย
ยิ่งอิตาลีเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของสหภาพยุโรป และเป็นประเทศที่มีตลาดพันธบัตรใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ก็จะส่งผลกระทบไปอย่างกว้างขวาง
แต่ที่ทำให้คนกังวลใจก็คือ “อิตาลีจะสามารถดูแลปัญหาด้านการคลัง และสร้างวินัยทางการเงินให้เกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนคงความเชื่อมั่นในประเทศไว้ได้หรือไม่” เพราะยิ่งนับวัน วิกฤตก็ยิ่งวนเข้ามาใกล้อิตาลีมากขึ้น ยิ่งมีกรณีที่รัฐมนตรีคลังกับนายกรัฐมนตรีของอิตาลีออกมาทะเลาะกันผ่านหน้า สื่อ และหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์แผนการรัดเข็มขัดของอิตาลีที่รัฐนตรีคลังเสนอ ตลาดก็ยิ่งเริ่มกังวลใจ
ท้ายสุด เมื่อถูกซ้ำเติมจากการที่ กลต. ของอิตาลีออกมาเปลี่ยนกฏเกณฑ์ไม่ให้นักลงทุนเก็งกำไรในหุ้นของอิตาลี เมื่อ 10 กว่าวันที่แล้ว รวมทั้ง การลดอันดับเครดิตของประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป สถานการณ์ที่ล่อแหลมก็เลยกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้น
ทั้งหมดนี้ ทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของอิตาลีก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 4.6% มาเป็นประมาณ 6% และ ดัชนี CDS รัฐบาลอิตาลี 5 ปี เพิ่มจาก 125 จุด เป็น 306 จุดและในวันอังคารที่ผ่านมา ดัชนีหลักทรัพย์ของอิตาลีลดลงประมาณ 5% ในช่วงเปิดตลาดก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้น
หลายคนจึงเริ่มกังวลใจเรื่องอิตาลีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าลองไปดูแล้ว (1) ปัญหาหนี้ของอิตาลีเป็นปัญหาที่เกิดมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดิมที่เคยสูงถึง 122% (2) อิตาลีเองก็ไม่ได้มีการขาดดุลการคลังสูงมาก คือแค่ประมาณ 4.5% เท่านั้น ซึ่งการขาดดุลส่วนมากมาจากภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไป ถ้าหักดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายออกไป รัฐบาลก็อยู่ในระดับเกินดุลเล็กๆ (3) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอิตาลีก็ไม่สูงมากนัก แค่เพียง 3% เท่านั้น
นอกจากนี้ ตัวเลขด้านเศรษฐกิจของอิตาลีก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยอัตราการว่างงานของอิตาลี ก็ขึ้นมาที่ 8% ในปัจจุบันซึ่งไม่สูงมากนักเมือ่เทียบกับในอดีต และเศรษฐกิจของอิตาลีก็เริ่มขยายตัวที่ประมาณ 1%
เรียกได้ว่า มีหนี้ภาครัฐเหมือนกรีซ แต่โดยรวมแล้วดูรับได้
ในช่วงต่อไป อิตาลีจะรอดได้หรือไม่จะขึ้นอยู่กับ (1) ตัวของอิตาลีในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ซึ่งการที่รัฐบาลอิตาลีสามารถผ่านแผนการรัดเข็มขัดมาได้เมื่อสุดสัปดาห์ ที่ผ่านมา ก็เป็นก้าวแรกที่สำคัญ และ (2) การแก้ไขปัญหาของสหภาพยุโรปโดยรวม ที่จะหยุดยั้งวัฏจักรที่มาซ้ำเติมให้วิกฤตลุกลาม ที่พัดสะพือจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง วนเวียนไปมา
ที่มา:dr. kobsak
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น