ads head

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิกฤตเศรษฐกิจและความหายนะของตลาดหุ้นสหรัฐ ปี ค.ศ. 1929





  • 42
The Great Depression
        หลายครั้งที่การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจของประเทศก่อให้เกิด ภาพลวงตาของความมั่งคั่งและการเก็งกำไรที่เกินขอบเขตในตลาดหุ้นได้นำไปสู่ สภาวะฟองสบู่ ขณะที่เบื้องหลังนั้น มีปัญหาหลายอย่างแฝงตัวอยู่ และกว่าที่จะมีใครตระหนักได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ความหายนะก็อาจมาเยือนแล้ว
        
        หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผ่านไป บรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรปอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ที่เข้าร่วมในสงครามต่างเสียหายเป็นอันมาก ในขณะที่สหรัฐซึ่งเข้าร่วมรบด้วยเช่นกัน กลับเสียหายไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศร่วมรบอื่นๆ โดยในสงครามครั้งนี้ มีชาวอเมริกันเสียชีวิตเพียง 320,000 คน ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมันนีสูญเสียประชากรไปมากถึง 6.2 ล้าน และ 7.2 ล้าน ตามลำดับ ส่วนอังกฤษก็สูญเสียประชากรไปมากถึง 3 ล้านคน ซึ่งประชากรที่ล้มตายไปเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นทหาร ซึ่งอยู่ในวัยทำงานแทบทั้งสิ้น การสูญเสียประชากรวัยทำงานจำนวนมากเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการฟื้นฟู เศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงหลังสงครามเป็นอย่างมาก
        ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศในยุโรป ต่างก็กู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลจากสหรัฐมาใช้ในการทำสงคราม พอมาถึงปี ค.ศ. 1919 ประเทศเหล่านี้ก็เป็นหนี้สหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนนับหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งหนี้สินเหล่านี้ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเยอรมันนีกู้ยืมเงินจากสหรัฐมาใช้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้ฝรั่งเศส
        การที่สหรัฐมีสถานภาพเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ของยุโรป ทำให้ดุลอำนาจทางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้ยืนยันให้บรรดาลูกหนี้ของตนชำระค่าสินค้าและอาหารที่นำเข้า เป็นเงินสด ประกอบกับการที่ธุรกิจต่างๆในยุโรปกำลังย่ำแย่ ได้เปิดโอกาสให้นักธุรกิจของสหรัฐขยายการลงทุนเข้าไปในยุโรปได้มากขึ้น จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐในระยะนั้นเฟื่องฟูขึ้นเป็นอันมาก
 
       อย่างไรก็ตาม แม้สภาพเศรษฐกิจจะกำลังเฟื่องฟูแต่ สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาในประเทศแอบแฝงอยู่ นั่นคือการที่สหรัฐลดจำนวนกำลังพลในกองทัพของตนที่มีอยู่สี่ล้านคนลง ทำให้มีอดีตทหารหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศเป็นจำนวนมาก การมีแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันส่งผลให้ค่าแรงลดฮวบและคนจำนวนมากได้กลาย เป็นผู้ว่างงาน ทว่าการเติบโตในอัตราสูงของเศรษฐกิจจากการส่งออกที่นำเงินสดไหลเข้าประเทศ เป็นจำนวนมหาศาลส่งผลให้ตลาดหุ้นเฟื่องเป็นประวัติการณ์ บรรดานักธุรกิจทั้งหลายต่างมั่งคั่งไปตามๆ กัน ซึ่งภาพลวงตาของความมั่งคั่งเหล่านี้ บดบังปัญหาที่แท้จริงซึ่งแฝงตัวอยู่เอาไว้
        ในช่วงทศวรรษที่ 1920  ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยมีการกำหนดกฏหมายข้อห้ามต่างๆ ออกมามากมาย จนแม้กระทั่งการขายหรือมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ในครอบครองก็ยังถือเป็น เรื่องผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่สตรีได้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอีกด้วย
 
       ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความรุ่งเรืองและมั่งคั่งนี้ บรรดาชนชั้นสูงต่างเอาแต่รื่นรมย์กับงานเลี้ยงสังสรรค์ ความหรูหราและเสียงดนตรี ในขณะที่รายได้ของประชาชนทั่วไปในสาขาอาชีพต่างๆ ส่วนใหญ่ได้เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนบรรดาผู้มั่งคั่งซึ่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละหนึ่งของประชากรทั้งหมดนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 ต่อปี
        ซึ่งบรรดาเศรษฐีเหล่านี้คือพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองดังกล่าว เหล่าผู้มีฐานะปานกลางต่างจับจ่ายใช้สอยด้วยวิธีการผ่อนจ่าย ขณะที่ผู้มั่งคั่งใช้เงินสด
        จนมาถึงเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1929 ราคาหุ้นก็เริ่มอ่อนตัวลง แต่ดูเหมือนบรรดานักลงทุนจะยังไม่ใส่ใจจนมาถึง วันที่ 21 ตุลาคม ราคาหุ้นก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็วทำให้นักเก็งกำไรพากันเสียขวัญและเทขายจนราคา หุ้นร่วงกราวรูด
        วันที่ 28 ตุลาคม ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงถึงร้อยละ 13 และวันต่อมา ก็ตกลงอีกร้อยละ 12 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีใครซื้อหุ้นเลย ส่วนผู้ที่กู้เงินมาซื้อหุ้นก่อนหน้านั้นก็พากันเป็นหนี้สินล้นพ้น คนจำนวนมากหมดตัวและล้มละลาย ในชั่วข้ามคืน นักเก็งกำไรหลายตอหลายคนเลือกที่จะปลิดชีพตัวเองเพื่อหนีหนี้จำนวนมหาศาล
 
       ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของสหรัฐเฟื่องฟูก็เนื่องจากความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น ทว่าเมื่อราคาดิ่งลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็หมดไป อัตราการบริโภคลดลงอย่างรวดเร็ว ความพินาศของตลาดหุ้นยังส่งผลให้คนขาดความเชื่อมั่นในธนาคาร มีคนจำนวนมากแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคารในเวลาเพียงไม่กี่วัน และเมื่อธนาคารบางแห่งอย่าง ธนาคารสหภาพอเมริกา (American Union Bank)  มีเงินสำรองไม่พอจ่ายให้แก่ผู้ที่ไปถอนเงิน ก็เกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่า ธนาคารกำลังจะล้ม ยิ่งส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นเป็นเท่าทวี ความตื่นตระหนกในการแห่ไปถอนเงินของคนจำนวนมหาศาล ได้ทำให้ธนาคารจำนวนมากต้องปิดตัวลง ในขณะเดียวกัน กำลังซื้อที่ลดลง ทำให้โรงงานขนาดใหญ่ลดกำลังการผลิต ตำแหน่งงานลดน้อยลง ประชากรจำนวนมากกลายเป็นคนว่างงาน  ยิ่งส่งผลต่อกำลังซื้อให้ลดลงไปอีก จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง จนเมื่อถึง ปี ค.ศ.1930 อัตราคนว่างานก็พุ่งขึ้นเป็น 5 ล้านคน ก่อนจะขยายเป็น 13 ล้านคนในปีต่อมา
        เมื่อถึงปี ค.ศ. 1932 เศรษฐกิจของสหรัฐก็ถอยลงถึงร้อยละ 31 พร้อมๆ กับที่เงินสดกว่า 2,000 ล้านเหรียญในธนาคารสูญไป หลังจากธนาคาร 10,000 แห่งปิดตัวลง ราคาที่ดินตกลงร้อยละ 53
 
        ชาวนาเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ทั้งนี้ แต่เดิมคนกลุ่มนี้ก็มีรายได้น้อยกว่าชาวอเมริกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย รายได้ของพวกเขาก็ยิ่งลดน้อยลงไปอีก ประกอบกับได้เกิดภาวะภัยแล้งขึ้นในหลายพื้นที่ จนในที่สุด พื้นที่กสิกรรมส่วนใหญ่ของประเทศก็กลายสภาพเป็นทะเลฝุ่นที่ว่างเปล่า ขณะที่เกษตรกรจำนวนมากพากันสิ้นเนื้อประดาตัว
        ในระยะเวลาดังกล่าว ประธานาธิบดี แฟลงคลิน ดี. โรสเวลต์ ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ได้กำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งนี้ โรสเวลต์ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาที่ส่งผลชัดเจนต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศก่อน นั่นคือ ปัญหาการว่างงาน โดยหลังดำรงตำแหน่งได้ 100 วัน โรสเวลต์ได้ตั้งหน่วยงานใหม่ 10 องค์กรเพื่อบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พร้อมกับรับคนว่างงานเข้าทำงานในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆเพื่อแก้ปัญหา ผู้ว่างงาน
 
        ตัวอย่างขององค์กรเหล่านี้คือ องค์การที่ราบลุ่มแม่น้ำเทนเนสซี่ (Tennessee Valley Authority) หรือTVA ที่ว่าเกษตรกรที่สิ้นเนื้อประดาตัวมาสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนพื้นที่ เขตเทือกเขาแอปพาลิเชียน ส่วนองค์หารบริหารความก้าวหน้า (Works Progress Administration) ก็สามารถสร้างงานได้ถึง 8 ล้านตำแหน่ง ซึ่งมีทั้งงานซ่อมแซมอาคารเรียน โรงพยาบาล สนามบิน และงานสาธารณูปโภคอื่นๆ
        นอกจากนี้ โรสเวลต์ยังออกกฏหมายฟื้นฟูอุตสาหกรรมของชาติ ซึ่งกำหนดให้มีการขึ้นค่าจ้างเพื่อให้ประชากรมีรายได้มากพอในการจับจ่ายซื้อ หาสินค้า ซึ่งจะช่วยประคองระดับราคาของสินค้าและผลผลิตที่กำลังตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ส่วนในด้านของตลาดหลักทรัพย์ โรสเวลต์ได้ตั้งคณะกรรมการหลักทรัพย์และซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อปฏิรูปและกำ หนดกฏเกณฑ์ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งดูแลการซื้อขายเก็งกำไรหลักทรัพย์ ต่างๆ ซึ่งการแก้ปัญหาของโรสเวลต์นี้ ทำให้บรรดานักธุรกิจชั้นนำหลายคนของสหรัฐมองว่า แนวทางดังกล่าวดูคล้ายกับหลักการของลัทธิสังคมนิยมหรือแม้แต่คอมมิวนิสต์ ด้วยซ้ำไป
        แม้ว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐจะกำลังดำเนินไปได้ดี ทว่าภายนอกประเทศนั้น ผลกระทบที่ลุกลามมาก่อนหน้านี้ ได้แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว การที่กำลังซื้อของสหรัฐตกลง ส่งผลให้ยุโรปขายสินค้าได้น้อยลง ขณะที่การลงทุนของสหรัฐในยุโรปก็น้อยลงเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ยุโรปที่เพิ่งฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งต้อง ทรุดลงไปอีก นอกจากนี้ การที่สหรัฐได้ออกกฏหมายขึ้นภาษีควบคุมการนำเข้า ส่งออก เมื่อ ปี ค.ศ. 1930 ขณะที่หลายประเทศก็ดำเนินนโยบายจำกัดการค้าระดับโลกในรูปแบบเดียวกันก็ยิ่ง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของโลกยิ่งทรุดหนักลง จนถึงจุดวิกฤตต่ำสุดในปี ค.ศ. 1932 ที่อัตราการผลิตของโลกลดลงเหลือเพียงร้อยละ 62 และมีคนตกงานมากกว่า 30 ล้านคน
        แม้ว่าหลังปี ค.ศ. 1932 ภาวะวิกฤตจะทุเลาลง จนเริ่มกลับคืนสู่สภาพเดิมในปี ค.ศ. 1937 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังส่งผลเสียทางสังคมเป็นอันมาก ที่สำคัยเหตุการณ์ดังกล่าวได้บ่มเพาะความไม่พอใจและความวุ่นวายที่ต่อมาได้ ปะทุขึ้นและลุกลามไปทั่วโลก จนในที่สุด ความขัดแย้งเหล่านี้ก็นำไปสู่การเผชิญหน้าที่ป่าเถื่อนและรุนแรง ที่ชาวโลกรู้จักในชื่อ มหาสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผ่านพ้นไปไม่ถึง 20 ปีเท่านั้น
 
        หากเราย้อนมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะพบว่า สาเหตุหลักที่นำมาสู่ความหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1929  คือการหลงติดอยู่ในภาพลวงตาของความมั่งคั่งอันมาจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น การที่มูลค่าของกิจการถูกเพิ่มขึ้นจากการเก็งกำไร แทนที่จะเพิ่มจากความสามารถในการผลิตที่แท้จริง ทำให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งความต้องการใช้วัตถุดิบที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นและแรงงานที่ไม่ถูกว่าจ้าง ขณะที่รายได้ซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงตลาดหุ้นเฟื่องฟูนั้น ส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียวและเมื่อวงจรของตลาดหุ้นเกิด สะดุดลง ความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจก็หมดไป จนเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่และทำให้ล้มครืนไปทั้งระบบในที่สุด
        มีคำกล่าวว่า กงล้อของประวัติศาสตร์มักจะหมุนเวียนมายังจุดเดิมอยู่เสมอ เหมือนกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา อีกหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีสาเหตุคล้ายๆกัน นั่นคือ ภาวะฟองสบู่ที่ทำให้หลงติดกับภาพลวงตาของความมั่งคั่ง จนไม่มีใครสนใจปัญหาที่แฝงอยู่ และเมื่อภาพลวงตาสลายไป สิ่งที่ตามมาก็คือ วิกฤตการณ์
        ตราบใด ที่คนเรายังหลงติดกับความโลภ จนละเลยการใช้สติปัญญาอย่างแท้จริง ตราบนั้น ความหายนะก็จะยังคงหมุนวนกลับมา ไม่จบสิ้น

------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง: www.komkid.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น