ความล่มสลายของระบบทุนนิยมโลก ? ตอนที่ 1 (ตีพิมพ์ใน “มติชน” สุดสัปดาห์)
December 11, 2008
จารึกโดย
เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
ภาพจาก http://www.bloggang.com
การทำนายถึงความล่มสลายในอารยธรรมมนุษย์ มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่จนบัดนี้ มนุษยชาติยังดำรงอยู่อย่างปลอดภัยแม้จะเผชิญวิกฤตและความทุกข์ยากในบางครั้ง คราว
หากมีการเปิดบ่อนพนันเพื่อรับแทงความล่มสลายของโลก เจ้ามือคงร่ำรวยมหาศาล จากคำทำนายที่ผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วนการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน จักรวรรดิยิ่งใหญ่แรกสุดของโลก ได้ส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเกือบครึ่งค่อนโลก แม้กระนั้น ชาวจีนในอีกซีกโลกหนึ่ง ยังคงดำรงอารยธรรมไปได้อย่างปกติสุข ถึงแม้จะมีปัญหาและความสับสนวุ่นวายแทรกเข้ามาเป็นระยะ แต่สุดท้าย ระบบสังคมการเมืองจีนกลับสามารถยืดหยุ่นปรับตัวเข้าสู่ระเบียบใหม่ในราชวงศ์ ใหม่ ฟื้นคืนความสงบสุขรุ่งเรืองได้ ครั้งแล้วครั้งเล่า
ยิ่งกว่านั้น ยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ Renaissance ที่เป็นรากฐานการพัฒนาวิทยาศาสตร์และอารยธรรมใหม่ให้กับชาวยุโรป และนำพาไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เปลี่ยนชีวิตมวลมนุษยชาติไปอย่างไม่มีวันหวนกลับนั้น ยังอาจกล่าวได้ว่า คือ ผลสืบเนื่องจากความล่มสลายของอาณาจักรโรมัน ที่ได้พัฒนาจนถึงจุดสูงสุด จนยากจะก้าวเดินต่อไปได้อีก
การพังทลายของระบบเก่า จึงกลายเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการเกิดใหม่ ในยุคสมัย Renaissance อันยิ่งใหญ่
เช่น เดียวกัน ตลอดเวลาร้อยปีที่ผ่านมา ได้มีการทำนายถึงวิกฤตและความล่มสลายของระบบทุนนิยม ซึ่งหลายครั้งดูเหมือนคำทำนายเหล่านั้นจะกลายเป็นความจริงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ภายหลังการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการปฏิวัติคลื่นลูกที่ 3 อารยธรรมโลกได้ค้นพบแหล่งสร้างความมั่งคั่งใหม่ที่มีขนาดมหาศาลกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต จนกระทั่งถึง iPhone Hi5 FaceBook ซึ่งได้เปลี่ยนวิถีชีวิตวิถีบริโภคไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แต่ท่ามกลางความดีใจมโหฬาร ได้มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งรู้สึกหวาดกลัวต่อความมั่งคั่งใหม่นี้ โดยมองว่าเป็นเพียง “ฟองสบู่” ซึ่งนายทุนได้ปั่นราคาขึ้นมาจนสูงเกินจริงเท่านั้น
แต่ในที่สุดระบบทุนนิยมที่กำลังจะล่มสลาย ได้กลับฟื้นตัวขึ้นมา และยังแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม วิกฤตซับไพร์มในปี 2008 ครั้งนี้ ได้ส่งผลสะเทือนพร้อมกันทั่วโลก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่สำคัญ ปริมาณเงินและความเสียหายยังมากมายกว่าครั้งใดๆที่ผ่านมา
ฤาระบบทุนนิยมโลกจะล่มสลายลง ?
นิสัยที่แก้ไม่หายของมนุษย์ คือ การพิจารณาสรรพสิ่งอย่างสูงหรือต่ำเกินจริง ใน ภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง คนจำนวนมากย่อมเชื่อมั่นแรงกล้าว่า ทรัพย์สินทั้งหลายต้องพุ่งทะยานสูงขึ้นไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด โดยไม่เคยสะกิดสงสัยเลยว่า มันอาจเป็นเพียง “ฟองสบู่” ซึ่งทุกคนต่างช่วยกันปั่นสร้างสถานการณ์ขึ้นมา ขณะเดียวกัน ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนส่วนใหญ่ได้พลิกกลับมุมมอง 180 องศา ก่นประณามด่าทอ ความมั่งคั่งทั้งหลายว่าเป็นเพียงเรื่องหลอกหลวงจอมปลอม โดยไม่เคยกลับมาคิดทบทวนดูว่า ในภาคเศรษฐกิจจริงนั้น เรามีการเติบโตของความมั่งคั่งใหม่มากน้อยเพียงใด สำหรับ ส่วนที่เป็นฟองสบู่ ย่อมต้องเลือนหายไปในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ส่วนที่เป็นความมั่งคั่งแท้จริง ทั้งเทคโนโลยีการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีต ทั้งการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต ต้นทุนการขนส่ง และช่วยเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ยังคงเป็นมูลค่าส่วนเพิ่มที่ดำรงอยู่ ท่ามกลางฟองสบู่ที่แตกสลายไป
วิกฤตฟองสบู่ดอทคอมในราวปี 2000 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนยิ่ง แน่นอนว่า นักลงทุนได้สูญเสียทรัพย์สินไปมโหฬาร แต่ เราจะเห็นบริษัทชั้นดีมากมายเกิดขึ้นในช่วงวงจรฟองสบู่นี้ เพราะมีแต่โอกาสเช่นนี้เท่านั้น ที่บริษัทเล็กๆแต่มีคุณภาพและนวัตกรรม จะสามารถระดมเงินทุนและเครดิตมาใช้พัฒนาธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าอย่างเต็ม ศักยภาพ ฉกฉวยประโยชน์จากโอกาสที่เปิดกว้างขึ้น โดยภาวะเอื้ออำนวยเช่นนี้ บริษัทชั้นเลิศจึงเติบโตก้าวกระโดดสร้างความมั่งคั่งแท้จริงมหาศาล แม้นเมื่อฟองสบู่ได้แตกทำลายลง บริษัทชั้นดีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Yahoo, Amazon, eBay ฯลฯ ยังคงมีความมั่งคั่งที่สูงยิ่ง แน่นอนว่าอาจจะ น้อยลงกว่าในภาวะเฟื่องฟูของฟองสบู่ แต่ย่อมมากกว่าในภาวะก่อนฟองสบู่ ที่สำคัญ ธุรกิจซึ่งรอดพ้นจากภาวะนี้ ย่อมได้รับโอกาสยิ่งใหญ่ภายหลังความล่มสลายของคู่แข่งที่ได้จมหายไปในช่วง ฟองสบู่นั้น
สินทรัพย์ที่ถูกเทขายเลหลังในช่วงวิกฤต ย่อมมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในภาวะปกติ แต่สินทรัพย์นั้นยังมีมูลค่าในตัวเอง ไม่ได้ล่มสลายตามเจ้าของไปด้วย ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนมือจากเจ้าของเก่าผู้พ่ายแพ้ไปสู่เจ้าของใหม่ผู้ชนะ อาจทำให้การบริหารสินทรัพย์เหล่านั้นเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้ทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจได้รับการจัดสรรดีขึ้น เช่นเดียวกัน ภาคธุรกิจที่ล่มสลายไป ย่อมเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ได้รับโอกาสแสดงฝีมือ สำหรับผู้เล่นเก่าที่มีความสามารถในการแข่งขันและเอาตัวรอดได้มากกว่าในภาวะ วิกฤต ย่อมได้รับประโยชน์จากการล่มสลายของคู่แข่งที่ด้อยกว่า ซึ่งในภาวะปกติ ยังสามารถอยู่รอดได้ แต่ในภาวะวิกฤตที่เรียกร้องความสามารถในการบริหารจัดการ การวางยุทธศาสตร์ การสร้างคุณค่ามูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ย่อมสามารถคัดเลือกคุณภาพของผู้เล่นที่ดีออกจากผู้เล่นที่ไม่ดี ดังนั้น สังคมจะได้ประโยชน์จากการจัดสรรนี้ แม้ในระยะสั้นอาจต้องเผชิญความเจ็บปวดบ้างก็ตาม
แนวคิดนี้อาจคล้าย “เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค” แต่ความต่างคือ ในอดีตนั้น เศรษฐกิจมีความสามารถในการปรับตัวช้า ดังนั้น หากปล่อยให้กลไกตลาดปรับสมดุลระหว่างผู้แพ้ที่มีประสิทธิภาพต่ำไปสู่ผู้ชนะ ที่มีประสิทธิภาพสูงผลกระทบต่อประชาชนย่อมขยายไปในวงกว้าง แต่ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยข่าวสารที่รวดเร็วฉับไว ทำให้การถ่ายโอนสินทรัพย์ การสร้างระบบบริหารจัดการใหม่ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ผลกระทบต่อสังคมจึงลดลง ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังดำเนินการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจเพื่อผ่อนคล้ายวิกฤตได้อย่างชาญฉลาด ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์กว่าเดิม อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่าน มา ที่สำคัญ การแทรกแซงนั้นมีความรวดเร็วกว่าในอดีตมากมาย ดังจะเห็นได้จากบทบาทของFedหรือ ธนาคารกลางสหรัฐ (เทียบได้กับ แบงค์ชาติของไทย) ที่มีต่อวิกฤตซับไพร์ม ซึ่งหากเดินเกมส์ผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายมหาศาล แต่ การที่ Fed จะทำเช่นนี้ได้ จะต้องมีระบบข้อมูลที่ดี มีความเข้าใจในกลไกอันซับซ้อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ทำให้ Fed สามารถสร้างผลงานยิ่งใหญ่นี้ได้
สำหรับประเทศไทย ภายหลังวิกฤต 2540 แม้จะมีการโจมตีถึงระบบทุนนิยมพวกพ้อง จนถึงความผิดพลาดของ IMF แต่กระนั้น เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด จนบางคนรู้สึกว่าประเทศไทยเสียหายไม่มากนัก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสินทรัพย์ได้รับการถ่ายโอนไปสู่ผู้เล่นรายใหม่อย่างรวดเร็ว มีการเติบโตของธุรกิจ SMEs มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคาร ซึ่งบางคนอาจมองโลกในแง่ร้ายว่า โดนต่างชาติซื้อกิจการไปหมดสิ้นแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า ชาวต่างชาติย่อมฉลาดพอที่จะไม่เข้าแทรกแซงการดำเนินงาน จนได้รับการต่อต้านขนานใหญ่จากประชาชน และตราบใดที่ธุรกิจไทยยังคงดำเนินไปด้วยดี ต่างชาติกลับต้องนำความรู้และเทคโนโลยีมาสนับสนุนธุรกิจที่ตนซื้อเข้ามา เพื่อให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการชั้นเลิศ อันจะนำไปสู่ผลกำไรให้กับตนเองที่ได้เข้ามาถือหุ้นในกิจการนั้น และแน่นอนว่า คนไทยจำนวนมากย่อมได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะธุรกิจธนาคารและธุรกิจอื่นที่ต่างชาติได้เข้ามาช่วยปรับปรุงนั้น สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหลายได้ดีกว่าเดิม ยังไม่นับผลตอบแทนที่คนไทยได้รับผ่านการจ้างงานและการเข้าร่วมลงทุนในบริษัท เหล่านั้น
ในโลกอันสลับซับซ้อน กฏการคัดเลือกทางธรรมชาตินั้น ย่อมไม่ใช่เพียงความสามารถในเชิงการต่อสู้ และพัฒนาคุณภาพในตัวเองเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นปรับตัว หรือแม้กระทั่งโชคชะตาซึ่งอาจช่วยเหลือได้บ้างในระยะสั้น สำหรับ วิกฤตซับไพร์มครั้งนี้ ประเทศไทยกลับได้รับผลกระทบทางตรงไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะความเจ็บปวดจากวิกฤตในปี 2540 ยังคงติดตรึงในความทรงจำ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายมีความระมัดระวังตรวจสอบในเรื่องการลงทุนเป็น พิเศษ หรือบางที เราอาจไม่เก่งกาจเพียงพอที่จะเข้าใจสมการอันซับซ้อนของซับไพร์ม จึงไม่ได้เข้าไปร่วมลงทุนในตราสารชนิดนี้ ที่สำคัญ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเราประสบปัญหาทางการเมือง ทำให้นักธุรกิจยังไม่กล้าขยับขยายการลงทุนมากนัก สิ่งที่น่าจะเป็นข้อเสียจึงกลับกลายเป็นข้อดีได้อย่างเหลือเชื่อ ประเทศไทยจึงรอดตัวจากวิกฤตนี้มาได้อย่างหวุดหวิด
แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ การแสวงหาโอกาสท่ามกลางวิกฤต ที่เหล่าประเทศมหาอำนาจกำลังประสบภาวะล่มสลาย ถ้าหากไทยฉกฉวยประโยชน์ในช่วงนี้ไม่ได้ ย่อมจะนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ในอนาคต เมื่อมหาอำนาจทั้งหลายฟื้นตัวและกลับมาครอบครองสนามแข่งขันทางธุรกิจในอีก วาระหนึ่ง ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ คือ ประเทศจีน ซึ่งเผชิญวิกฤตมากมายรุมเร้าอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความยืดหยุ่นในการปรับตัว จึงสามารถรักษาความสงบสุขในสังคมได้อย่างยาวนาน ไม่แตกสลายล่มจมเหมือนชาวโรมัน ซึ่งแม้จะสร้างอารยธรรมยิ่งใหญ่ไว้มากมาย แต่กลับต้องประสบภาวะบ้านเมืองแตกสลายนานนับพันปี อย่างไรก็ตาม ชาวจีนกลับไม่สามารถฉกฉวยประโยชน์จากการเป็นอารยธรรมที่อยู่รอดปลอดภัยมาใช้ ในการพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวกระโดดจนชาติเพื่อนบ้านที่ล่มสลายไม่มีวันตาม ทันได้ ในที่สุด เมื่อชาวยุโรปได้ฟื้นฟูตนเองขึ้นมา หยิบยืมความรู้จากชาวกรีก-โรมัน พัฒนาปฏิวัติอุตสาหกรรมได้สำเร็จ ชาวจีนที่เคยภูมิใจในอารยธรรมที่ต่อเนื่องยาวนานนับพันปีของตน ก็กลับต้องยอมสยบภายใต้แสนยานุภาพทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจของชาติตะวันตก นานนับร้อยปี ก่อนที่จะยืนหยัดพัฒนาตนเองจนทัดเทียมผู้อื่นได้ในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาต้นทุนความเจ็บปวดที่ไม่รู้จักฉกฉวยประโยชน์ พัฒนาตนเองให้เติบโตแข็งแกร่ง ย่อมมีราคาที่สูงยิ่งนัก
ความล่มสลายของระบบทุนนิยมโลก ? ตอนที่ 1 (ตีพิมพ์ใน “มติชน” สุดสัปดาห์) | Siam Intelligence Unit
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น